จาก ‘พี่ตูน’ ถึง ‘ชาญวิทย์’ โซเชียลพ่นพิษ สะท้อนสังคมไทยเชื่อง่าย ปรองดองยาก ?

กลับมาร้อนระอุในโลกโซเชียลอีกครั้ง สำหรับปรากฏการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับกรณี ‘พี่ตูน’ บอดี้สแลม สวมรองเท้าออกวิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาลซึ่งนอกจากกระแสความชื่นชมล้นหลาม ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฟากฝั่งนักวิชาการเรื่อยมา ว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง นำไปสู่การอ้างอิงคำกล่าวหรือ ‘โควต’ ตามเพจเฟซบุ๊กต่างๆ สร้างแรงปะทะของ 2 ขั้วความคิดซึ่งก็คงไม่ผิดอะไรหากไม่ใช่โควตที่เจ้าตัวไม่เคยกล่าว
เหยื่อล่าสุดของโควตปลอมๆ ในสังคมออนไลน์ไม่ใช่ธรรมดา เพราะเป็นถึงอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ถูกมือดีนำภาพไปทำกราฟฟิกประกอบข้อความเร้าอารมณ์ว่า

“ใครอยากจ่ายให้พี่ตูน ตามสบายนะครับ ผมไม่ขัดศรัทธา แต่ในสภาพนี้ อย่าว่าแต่สิบบาทเลย พี่ตูนจะไม่ได้เงินจากผมแม้แต่บาทเดียว”

ด้วยยอดติดตามเฉียด 3 แสนรายของเพจ ‘Army World News’ ที่ก๊อปภาพมาจากเฟซบุ๊ก ‘อธิภัทร News Thailand’ หรือ อธิภัทร แก้วกระจ่างอีกทอดหนึ่ง พร้อมด้วยความคิดเห็นแบบเผ็ดร้อนที่แอดมินระบุว่า ‘เก็บเงินสิบบาทนั้นไว้ใส่ปากตอนตายเถอะครับ’ ส่งผลให้โควตดังกล่าวถูกแชร์อย่างแพร่หลายพร้อมคอมเม้นต์ก่นด่าอดีตอธิการฯจากทุกสารทิศ

ร้อนถึงคนใกล้ชิดและลูกศิษย์ลูกหาต้องลุกขึ้นมาแก้ต่างให้กลางดึก นำทัพโดย ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ ม.รังสิตที่ออกมาโพสต์รัวในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่านั่นคือโควตที่ถูกจับใส่ปาก พร้อมเปิดประเด็นว่าจะมีการดำเนินคดี

Advertisement

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 9 พ.ย. ปรากฏภาพของ อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่สน.ชนะสงคราม โดยแจ้งความฐานการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนประเด็นหมิ่นประมาทนั้น ผู้เสียหายต้องเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง

นี่คือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์อีกมากมายตลอดทั้งวันที่ไม่ใช่การซัดกันนัวอย่างเมามันส์ผ่านช่องทางต่างๆ หากแต่สะท้อนหลายสิ่งอย่างในสังคมปัจจุบัน

อัครพงษ์ ค่ำคูณ เข้าแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 60

อาชญากรรมสังคม เพาะบ่มความมุ่งร้าย อันตรายต่อประเทศชาติ

“การทำร้ายมุ่งร้ายกันเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้ เพราะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ ละเมิดศักดิ์ศรีผู้คน เป็นอาชญากรรมต่อสังคม ผิดบาปทั้งศีลธรรมและกฎหมาย ขอเรียกร้องให้หยุดทำและต้องขอโทษท่านอาจารย์ทันที โดยทางผมกำลังดำเนินการในทางกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อให้สังคมประเทศชาติของเราปลอดจากความต่ำช้านี้”

เป็นคำกล่าวของ อัครพงษ์ หลังแจ้งความ โดยมีบุคคลทั้งในและนอกวงวิชาการร่วมให้กำลังใจและชื่นชมอย่างล้นหลามว่ามีความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างยิ่ง

ด้าน ศ.ดร.ชาญวิทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางทัศนาจรอย่างเพลินใจในต่างประเทศ เมื่อทราบข่าวได้ระบุว่าจากการที่มีผู้เสนอให้ฟ้องหมิ่นประมาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนเคยถูกกล่าวหาร้ายแรงกว่านี้ จากกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารว่าเป็นพวก ‘ขายชาติ’ ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่ได้แจ้งความฟ้องร้องใคร

ชงทุกสิ่งอิง ‘การเมือง’ หวั่นใจสังคมไทยยากปรองดอง

จากกรณีดังกล่าวซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่โซเชียลลุกเป็นไฟเมื่อใคร ‘เห็นต่าง’ ในประเด็นวิ่งช่วยชาติของพี่ตูน สังคมส่วนหนึ่งมองว่าต่อให้ข้อความดังกล่าว เป็นความเห็นของ ศ.ดร.ชาญวิทย์จริงๆ ก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหน เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลว่าจะบริจาคหรือไม่

คำถามที่ตามมาคือเพราะเหตุใดความไม่เห็นพ้องต่อแนวทางของพี่ตูนจึงกลายเป็นเรื่องที่ดูร้ายแรงราวกับจะบ่อนทำลายประเทศชาติ ซึ่ง ศ.ดร.ชาญวิทย์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยตั้งคำถามในประเด็นนี้ ก่อนจะเกิดกรณีโควตปลอมเข้ากับตัว ซึ่งนอกจากจะยืนยันว่าไม่เคยทั้งพูดและเขียนข้อความดังกล่าวที่ใดเลย เหตุการณ์นี้ยังทำให้หวั่นวิตกว่า สังคมไทยดูจะเลยไปจากการปฏิรูปปรองดอง สมานฉันท์ เกียะเซียะไปเสียแล้ว

สอดคล้องกับที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สื่อออนไลน์บางสำนักและคอมเม้นต์ไม่น้อยที่พยายามโยงการเมืองเรื่องสีเสื้อและฝักฝ่าย โหมไฟด้วยการจับชาญวิทย์สวม ‘เสื้อแดง’

“ขอเรียนว่า เรื่องไม่บริจาค 10 บาท ให้ตูนวิ่งนั้น ใครจะพูดก็ตาม ผมไม่ได้พูด ไม่ได้เขียนครับ การทำบุญทำทาน ทำกุศล เป็นสากล มีทุกศาสนา ความเชื่อ และเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล การนำเรื่องบุญทาน ไปเป็นการเมืองจนเกินเลย เป็นเรื่องหยาบช้าสามานย์ ผมออกจะชื่นชมตูน ที่สร้างกระแสบวก ได้ และไม่เกาะ กระแสลบ ไม่ออกมาโต้ตอบ กวนน้ำให้ขุ่น อย่างไร้สติ

การทำบุญทำทาน ทำกุศลแม้จะเป็นโลกสวย โลกงามก็เป็นเรื่องความฝัน อุดมคติ ของแต่ละบุคคล เรามีสิทธิฝัน มีสิทธิที่จะมีอุดมคติ และที่จะ dream the impossible dream ครับ ผมเองก็มี แต่ว่าการนำเรื่อง บริจาค 10 บาท มาเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต เป็นเรื่องการเมือง กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย นั้นทำให้ผมหวั่นวิตก ไม่ได้ ว่าสังคมไทยเรา ดูจะเลย การปฏิรูป ปรองดอง สมานฉันท์ เกี้ยเซี๊ยะ ไปเสียแล้ว
น่าเสียดาย น่าเสียใจ สำหรับคนรุ่นเก่าๆ ที่เคยมีความฝัน แต่สำหรับ คนรุ่นใหม่ๆ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป”

อาจารย์ระบุ ตามมาด้วยการปล่อยมุขว่า หากตนพูดจริง คงไม่เรียก ‘พี่ตูน’ แต่คงเป็นหลานหรือเหลนเสียมากกว่า

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์

ปิดเพจ เปลี่ยนชื่อ ขอโทษ เปลี่ยนประเด็นใหม่

หลังข่าวการแจ้งความและคำยืนยันจากเจ้าตัวแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง 2 เพจต้นเรื่อง ก็ปิดตัวเองลง แล้วเปิดใหม่โดยเปลี่ยนชื่อเพจ จากนั้นเผยแพร่คำชี้แจงในช่วงเย็นวันเดียวกัน เริ่มจาก เพจ Army Worldwide News ซึ่งในตอนนี้ใช้ชื่อว่า “Thai News Onlin” โพสต์ ‘ขอประทานโทษอย่างสูง’ พร้อมคำชี้แจง 2 ฉบับ ยอมรับถึงความผิดพลาด ถือเป็นบทเรียนราคาแพง

จากถ้อยแถลงที่ยืดยาวที่วกวนไปมามีเนื้อหาโดยสรุปว่า ขออภัยที่ไม่ถี่ถ้วน อย่างไรก็ตามเพจตัวเองไม่ใช้คนทำโควต แค่ก๊อปจากเฟซบุ๊ก อธิภัทร News Thailand เมื่อพบว่าผิดผลาด ตัวเองในฐานะแอดมินก็ตามไปสืบว่าคำพูดนี้ที่แท้เป็นคนอื่น ไม่ใช่ของ ศ.ดร.ชาญวิทย์แต่อย่างใด พร้อมตบท้ายว่าคนพูดตัวจริงปล่อยให้อดีตอธิการธรรมศาสตร์รับชะตากรรมคนเดียวอย่างนี้ไม่แฟร์

เนื้อหาส่วนหนึ่งของคำชี้แจง มีดังนี้

‘ผมในนามแอดมินเพจ Army Worldwide News ต้องขอประทานโทษอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นอย่างสูงที่ได้นำภาพข้อความ “เงินสิบบาท” มาโพสต์บนเพจ โดยไม่ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน และขอชี้แจงเรื่องที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้

ขอชี้แจงว่า เพจ Army Worldwide News ไม่ได้เป็นคนทำภาพข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว หลังจากเกิดประเด็นขึ้นทางเพจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้พยายามสืบต้นเหตุจนพบว่าข้อความดังกล่าวถูกเขียนโดยเฟซบุ๊กชื่อ ……(เซ็นเซอร์)…..ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของคุณ…(เซ็นเซอร์)….. ซึ่งอาจารย์ชาญวิทย์ ก็เป็นหนึ่งในผู้แชร์ข้อความดังกล่าวมาเช่นกัน โดยระบุบนหัวข้อเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“โลกสวยๆ What a beautiful world !”

ล่าสุดคุณ….(เซ็นเซอร์)….. ซึ่งเป็นต้นเหตุของเรื่องดังกล่าวได้ปิดเฟซบุ๊กเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมันก็เป็นสิทธิส่วนตัวของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกันที่จะแชร์ต่อหรือไม่ มันห้ามกันไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่ที่จิตสํานึกของแต่ละบุคคล

ปรากฏว่าผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กชื่อ News Thailand ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของคุณอธิภัทร แก้วกระจ่าง ได้นำข้อความบางส่วนจากคุณ…(เซ็นเซอร์)… มาตัดต่อเติมแต่งลงบนภาพพร้อมระบุชื่ออาจารย์ชาญวิทย์ ว่าเป็นผู้พูด หลังจากนั้นประเด็นเงินสิบบาทพ่นพิษให้กับใครหลายๆ คน และมีการแชร์เฟซของ….(เซ็นเซอร์)….จุดต้นตอที่ได้ก่อประเด็นนี้ขึ้นมา ล่าสุดได้ปิดเฟซหนีหายไปแล้ว

ปล่อยให้ ศ.ดร ชาญวิทย์ ตกชะตากรรมที่นั่งลําบากอยู่คนเดียว แบบนี้มันไม่แฟร์นะครับ กล้าวิจารณ์ก็กล้าออกมารับในสิ่งที่ได้เขียนลงไปสิ ออกมาแก้ต่างแทนเพื่อนที่แชร์ไปด้วยสิครับ

ทั้งนั้นทั้งนี้ ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามที่ ศ.ดร.ชาญวิทย์ ได้แชร์ข้อมูลของ…(เซ็นเซอร์)..มาที่เฟซของตัวท่านเอง แต่ปัญหามันเกิดขึ้นที่ว่า มีมือดีรายหนึ่งนําข้อความของ ศ.ดร.ชาญวิทย์กับ…(เซ็นเซอร์)….มามิกซ์รวมเข้าด้วยกัน เพื่อโพสต์สร้างกระแส เรื่องนี้แอดมินยอมรับความผิดพลาดที่ขาดการสืบเสาะจากต้นข่าวอย่างชัดเจน

กระผมขอน้อมรับผิดในการกระทำครั้งนี้ ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับผม และขอประทานโทษต่ออาจารย์ชาญวิทย์เป็นอย่างสูง หวังว่าอาจารย์จะให้อภัย’

หากพิจารณาถ้อยแถลงดังกล่าว จะพบว่า ยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะเจ้าของคำกล่าวที่แท้จริงปิดเฟซบุ๊กไปตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่เหตุจากกรณี ‘ล่าสุด’ นอกจากนี้ โควตดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการ ‘มิกซ์’ ข้อความของบุคคลดังกล่าว และ ศ.ดร. ชาญวิทย์ ทว่า ไม่มีประโยคใดมาจากปากหรือแป้นพิมพ์ของอดีตอธิการธรรมศาสตร์ท่านนี้เลย

ด้านนายอธิภัทร แก้วกระจ่าง เจ้าของเพจ ‘อธิภัทร News Thailand’ มือทำโควตต้นเหตุ ซึ่งปิดเพจโดยไร้คำชี้แจงใดๆ หลังมีการพาดพิงจาก Army Worldwide News สุดท้ายก็โพสต์แจงว่ารับรู้ความผิดพลาดแล้ว และรีบแก้ไขโดยลบทิ้ง แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะถูกก๊อปถูกแชร์ไปอย่างมหาศาลเกินควบคุม
เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้

‘สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก #อธิภัทร_นิวส์ไทยแลนด์ ได้ทำการโพสต์ภาพ ….(เซ็นเซอร์)….ชื่อ…(เซ็นเซอร์)….ลงบนเฟซบุ๊กนี้เมื่อวันที่ 8 พ.ย 60 แต่เกิดจากข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่รอบคอบ ได้นำภาพของ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มาใส่พร้อมชื่อ ซึ่งในความเป็นจริงมิใช่ผู้พูดประโยคดังกล่าวนี้แต่อย่างใด..แต่หลังจากโพสต์ลงไป และในวันเดียวกัน ได้รับรู้ถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น จึงรีบทำการแก้ไขภาพดังกล่าวอย่างเร่งด่วน…ซึ่งก่อนหน้านั้น ภาพแรกที่ลงไปได้เกิดมีการแชร์และแคปไปโพส์ตต่อดังเพจ/กลุ่ม/เฟซบุ๊กต่างๆ…

ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่..ศ.ดร.ชาญวิทย์ ผมในนาม อธิภัทร นิวส์ไทยแลนด์ กราบขออภัยอย่างสูง ที่ได้ทำภาพหลุดออกไปโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบในเบื้องต้น…และได้ทำการแก้ไขตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว แต่หลังจากทราบข่าวในวันนี้ เพื่อความไม่สบายใจแก่ทุกท่าน จึงได้กระทำการลบโพสต์ดังกล่าวออกแล้ว
ด้วยความเคารพอย่างสูง ผิดพลาดประการใด กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยในเบื้องต้น’

อย่างไรก็ตาม ได้มี ‘ชาวเน็ต’ บางรายระบุว่า เคยเข้าไปทักท้วงข้อผิดพลาดนี้ในเพจดังกล่าวมาก่อนแล้ว แต่กลับถูกลบคอมเม้นต์และ ‘บล็อค’ ไม่ให้แสดงความเห็นได้อีก

เชื่อง่าย ไม่ไตร่ตรอง ขาดการมองปัญหาเชิงโครงสร้าง ?

สถานการณ์หลังการเข้าแจ้งความและการออกมาขอโทษของ 2 เพจเจ้าปัญหา ชาวโซเชียลส่วนหนึ่งที่เคยออกตัววิพากษ์อย่างหนักหน่วงก็ทะยอยโพสต์สคอมเม้นต์และสเตตัสขออภัย แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโควตปลอมดังกล่าวสร้างความเสียหายที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้ทั้งหมด

ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดการวิเคราะห์พื้นฐานว่าสังคมไทยเรานั้น ยังหลงเชื่อข้อมูลต่างๆอย่างง่ายๆโดยไม่ตรึกตรองหรือตรวจสอบข้อมูล ไม่ให้พื้นที่ความเห็นที่แตกต่าง ทั้งยัง ‘หลงประเด็น’ ซึ่งนักวิชาการหลายรายออกมาวิพากษ์ในระบบและวิธีการที่อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาว ซ้ำจะเป็นการกลบเกลื่อน ซ่อนเร้นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การตำหนิตัวบุคคลคือ ‘พี่ตูน’ แต่อย่างใด

ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยข้อคิดเห็นที่น่าสนใจผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า การบากบั่นของตูน ‘เป็นความพยายามที่น่าชื่นชม’ ทว่า การแก้ปัญหาการรักษาพยาบาลในสังคมไทย ไม่ใช่สิ่งที่เกิดได้ด้วยการ ‘ให้ทาน’ จากประชาชน

“สำหรับดิฉันแล้ววีรบุรุษที่ต้องการหาทางออกให้กับสาธารณสุขไทยคือ หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และปรากฏการณ์ที่ควรเป็นต้นแบบให้กับคนรุ่นใหม่ได้ดำเนินรอยตาม คือการร่วมกันผลักดันให้รัฐรักษานโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ให้สามารถมีสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างเสมอหน้าและเท่าเทียม

การบากบั่นของคุณตูน ในการวิ่งเพื่อขอรับบริจาคเงินเพื่อช่วยซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล เป็นความพยายามที่น่าชื่นชม และดิฉันเคารพในจิตใจเรื่องนี้ของคุณตูน แต่การแก้ปัญหาการรักษาพยาบาลในสังคมไทย ไม่ใช่สิ่งที่เกิดได้ด้วยการให้ทานจากประชาชน แต่ด้วยการสร้างหลักประกันด้านสิทธิ ที่มีแต่รัฐ และ commitment จากรัฐเท่านั้น ที่จะสร้างฐานของหลักประกันนี้ได้

คุณตูนทำและคิดได้ เท่าที่เขาทำและคิดได้ แต่การผลักและแซ่ซร้องให้เขากลายเป็น “วีรบุรุษ” โดยกลบเกลื่อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่แท้จริงของสาธารณสุขไทย แถมยังเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ หดแคบวิธีคิดและการมองปัญหาเชิงโครงสร้างลงเหลือเพียงการบริจาคและให้ทานถือเป็นการทำลายฐานคิดสำคัญที่หมอสงวนได้เคยกรุยทางเอาไว้อย่างน่าละอายยิ่ง”

ตูน บอดี้สแลม

กลับมาที่ประเด็นโควตปลอม ล่าสุด หลังการขอโทษจากเพจต่างๆ อัครพงษ์ ผู้เข้าแจ้งความระบุว่าการดำเนินการต่อไปจะรอการตัดสินใจของ ศ.ดร.ชาญวิทย์ ที่มีกำหนดกลับถึงเมืองไทยในวันที่ 14 พ.ย. นี้ ฝั่งกองเชียร์ก็ถือป้ายไฟหนุนให้เดินหน้าฟ้องหมิ่นฯ โดยมองว่าไม่เช่นนั้น จะเกิดปัญหาเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะแค่ขอโทษคำเดียวก็เป็นอันจบ ควรเป็นคดีตัวอย่างที่สร้างบรรทัดฐานของเพจเฟซบุ๊กในการเผยแพร่ข้อมูลที่กระจายอย่างรวดเร็วในยุคนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าท้ายที่สุดบทสรุปจะเป็นอย่างไร กรณีดังกล่าวอาจกระตุ้นเตือนชาวโซเชียลไทยให้รอบคอบมากขึ้น มิเช่นนั้น อาจไม่ใช่แค่ ‘เงิบ’ แต่เกี่ยวพันถึงคดีความที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image