ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตอบวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มุ่งสู่เศรษฐกิจเน้นสร้างมูลค่า-ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วาง 4 เป้าหมาย ตอบวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มุ่งสู่เศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตบนพื้นฐานของการพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และอัตลักษณ์ความเป็นไทย

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เปิดเผยในงานแถลงข่าว ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ รวม 6 คณะด้วยกัน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2560

สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ด้านความ “มั่งคั่ง” ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” องค์ประกอบของกรรมการจึงมาจากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายสาขา ประกอบด้วย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ นายปพนธ์ มังคละธนะกูล นายธฤต จรุงวัฒน์ นายวิบูลย์ คูสกุล นายสุภัค ศิวรักษ์ นางวันทนีย์ จิราธิวัฒน์ นางสาวอรกัญญา พิบูลธรรม นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล และศาสตราจารย์ศักดา ธนิตกุล ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องทำงานแข่งกับเวลาภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายที่ต้องเสนอร่างยุทธศาสตร์ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาภายใน 120 วัน โดยครบกำหนดวันที่ 24 มกราคม 2561

อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาล มาตรา 8(4) ให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำขึ้น และมีการปรับมาเป็นระยะมาใช้เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ได้นำมาใช้เป็นข้อมูลตั้งต้น และภายหลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมหารือกันมาระยะหนึ่ง ทำให้สามารถวางเป้าหมายด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันออกมาได้ 4 เป้าหมาย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาบนหลักการว่าจะต้องสามารถบรรลุเป้าหมายได้จริง ขณะเดียวกันต้องมีความท้าทายด้วย เพราะหน่วยงานต่างๆ ต้องนำยุทธศาสตร์ชาติไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการและสำนักงบประมาณต้องพิจารณางบประมาณให้กับแผนงานโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้วย จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่พร้อมจะนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมซึ่งจะเป็นการขยับก้าวเดินไปพร้อมกันทุกองคาพยพ

Advertisement

เริ่มจากเป้าหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ภายใน 20 ปี ซึ่งในปี 2559 ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี โดยปัจจุบันธนาคารโลกได้กำหนดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วคือประเทศที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 12,235 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เป็นตัวเลขที่ธนาคารโลกเพิ่งปรับเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารโลกมีการปรับตัวเลขเป็นระยะมาโดยตลอด และเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวในช่วง 10 ปีย้อนหลัง พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 175 ถึง 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี เนื่องจากการปรับตัวของปัจจัยทางเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น การพิจารณาเกณฑ์ที่เหมาะสมในอีก 20 ปี หากพิจารณาการปรับหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยขั้นต่ำที่ 175 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ไทยจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 15 ปี ในขณะที่หากการปรับหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ไทยจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเมื่อสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า โดยคำนวณจากอัตราการเติบโตของ GDP ที่ร้อยละ 5 คณะกรรมการฯ จึงตั้งเป้าที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ภายใน 20 ปี คือ ปี 2580

โดยการจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว ต้องใช้แรงผลักจากเป้าหมายที่ 2 คือ อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในช่วง 20 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวของ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.8 – 4.0 แม้ในสภาวะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาจะถดถอยอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งการผลักดันการขยายตัวของ GDP ที่ร้อยละ 5 ประกอบด้วย การขยายตัวของปัจจัยทุน ร้อยละ 2.6 และผลิตภาพการผลิต ร้อยละ 2.5 ในขณะที่กำลังแรงงานยังคงส่งผลเชิงลบ ร้อยละ 0.10 และปัจจัยที่ดินไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของ GDP เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์และไม่สามารถขยายได้อีก จึงต้องอาศัยการขยายตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐต้องสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคเอกชน และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายเล็ก ไปพร้อมกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น

แรงผลักอีกตัวคือเป้าหมายที่ 3 ผลิตภาพการผลิตรวมหรือ TFP ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เพื่อให้สามารถเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้เร็วขึ้น โดยในปี 2558 ไทยมีผลิตภาพการผลิตรวมอยู่ที่ร้อยละ 1.7 โดยผลิตภาพการผลิตรวมมาจากปัจจัยแรงงาน ที่ดิน ทุน และผลิตภาพการผลิต ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ปี 2550 – 2554 ผลิตภาพการผลิตรวมอยู่ที่ร้อยละ 0.23 ขณะที่ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ปี 2545 – 2549 ไทยเคยมีผลิตภาพการผลิตรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ซึ่งสาเหตุที่ผลิตภาพการผลิตปรับลดลงเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและวิกฤติน้ำท่วมในประเทศที่ทำให้การผลิตลดลงในขณะที่กำลังแรงงานในระบบคงที่ และแม้ว่าผลิตภาพการผลิตรวมจะมีปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลต่อกำลังการผลิตและอุปสงค์ในประเทศ จึงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของแรงงาน และต้องเร่งการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและใช้เทคโนโลยีขั้นก้าวหน้าหรือนวัตกรรมใหม่ในการผลิต อย่างไรก็ตาม ภาครัฐสามารถส่งเสริมการเติบโตของการลงทุนได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นควรเป็นการขับเคลื่อนจากผลิตภาพการผลิตและเทคโนโลยี อันเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

Advertisement

เป้าหมายที่ 4 คือ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ International Institute for Management Development หรือ IMD ซึ่งสถาบัน IMD เป็นสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่เน้นปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค ทั้งนี้อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก แต่ละประเทศต่างเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อรักษาอันดับของตนไว้ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงอันดับที่ 25 – 30 โดยมีจุดอ่อนในด้านประสิทธิภาพการผลิต โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา เมื่อพิจารณาประเทศใน 15 อันดับแรก พบว่า ด้านประสิทธิภาพการผลิต โครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา เป็นจุดแข็งของประเทศเหล่านี้แต่กลับเป็นจุดอ่อนของไทย ดังนั้นการที่ไทยจะพัฒนาอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ได้ จึงเป็นความท้าทายอย่างมากที่จะต้องเร่งพัฒนาประเทศให้เร็วกว่าการพัฒนาของประเทศอื่น ซึ่งปี 2560 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 63 ประเทศ ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว 1 อันดับ และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554

ขณะนี้กรรมการฯ อยู่ระหว่างพิจารณาในส่วนของแนวทางการพัฒนาด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ โดยมุ่งสู่เศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตบนพื้นฐานของการพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนแล้วจะแจ้งให้ทราบในลำดับต่อไป และเมื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์แล้วเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะนำไปรับฟังความเห็นเพิ่มเติมต่อไป
นายสถิตย์ กล่าวในตอนท้ายว่า ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ได้แก่ (1) ​เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) www.nesdb.go.th (2) โทรสาร หมายเลข 0 2282 9149 (3) เฟซบุ๊ค “ยุทธศาสตร์ชาติ 20” และ (4) จดหมาย โดยส่งมาที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ 10100 วงเล็บมุมซองว่า “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้าน……….”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image