แก้เกษตรกรขอนแก่น-สารคาม-กาฬสินธุ์เป็นหนี้นอกระบบถูกฟ้องขับไล่จากสัญญาขายฝาก 1,200 คดี กว่า 278 ล้าน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย นายอำนวย ปะติเส ประธานคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน ภาคประชาสังคม เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี กรมสรรพากร สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ร่วมจัดการประชุมหารือมาตรการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้นอกระบบถูกฟ้องร้องขับไล่ สูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจากการทำสัญญาขายฝาก จำนอง เช่าซื้อ และกู้ยืมเงิน ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า กลุ่มลูกหนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรได้ร้องขอความเป็นธรรมมายังศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ เนื่องจากได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน ขายฝากและจำนอง กับกลุ่มนายทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว พบว่ามีเจ้าหนี้ด้วยกันทั้งหมด 8 กลุ่ม ซึ่งมีพฤติการณ์ทำสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบ และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กลุ่มนายทุนได้ฟ้องร้องขับไล่ หากลูกหนี้ไม่ยอมย้ายออกจากที่ดิน จะมีการข่มขู่ คุกคาม โดยให้ลูกน้องซึ่งเป็นชายฉกรรจ์กระทำการอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย มีลูกหนี้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกว่า 1,200 คดี ทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องคดีกว่า 278 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าตั้งแต่ปี 2556-2560 คดีความที่ฟ้องร้องมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะเดือนมกราคม 2560 เพียงเดือนเดียว มีคดีที่ฟ้องร้องต่อศาลถึง 75 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีฟ้องขับไล่ ซึ่งมีมูลหนี้จากสัญญาขายฝาก ลูกหนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอในการซื้อทรัพย์คืนจากเจ้าหนี้ ทำให้ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย

ด้าน นายอำนวยเปิดเผยว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบสาเหตุหนึ่งที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ประสบปัญหาดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและการทำสัญญา ขาดการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีจึงไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทันท่วงที จนเป็นเหตุให้ถูกบังคับคดีและยึดที่ดินทำกิน สร้างความเสียหายในวงกว้าง ทำให้ต้องหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยการนำหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามกรอบเวลาภายใน 3 เดือน

“สำหรับการประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรมทางแพ่งอันเนื่องมาจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ใช้มาตรการทางอาญาในการดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุนเจ้าหนี้นอกระบบและการจัดการด้านภาษีอากร สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้านแหล่งทุนพร้อมสร้างอาชีพ การเยียวยาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิต เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” นายอำนวยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image