สถาบันคุรุพัฒนายันเก็บ2.5พันไม่กระทบผู้จัดหลักสูตร เผยให้หน่วยจัดดูแล’สถานที่-ของว่าง’เหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นายมนตรี แย้มกสิกร ตัวแทนสถาบันคุรุพัฒนา เปิดเผยถึงกรณีที่นายรัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา หนึ่งในหน่วยงานผู้เสนอหลักสูตรอบรม ระบุว่าที่สถาบันคุรุพัฒนาเรียกเก็บค่ารับรองหลักสูตรละ 2,000 บาท และค่าจัดอบรมรุ่นละ 500 บาท อาจกระทบกับโรงเรียนผู้จัดหลักสูตรหรือหน่วยงานเล็กๆ ซึ่งไม่มีรายได้มากมาย และสุดท้ายอาจนำไปบวกเป็นค่าใช้จ่ายในค่าลงทะเบียนของครูนั้นว่า ระบบการรับรองหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนาดำเนินการ เป็นระบบที่จะสร้างความมั่นใจว่าหลักสูตรที่จะส่งมอบให้ครูได้พิจารณาเลือกเข้ารับการอบรมนั้น จะเชื่อมั่นได้ว่ามีคุณภาพ การดำเนินการในทุกขั้นตอนเป็นระบบตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เป็นเกณฑ์ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)

“การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรับรองหลักสูตร เป็นไปตามหลักการสร้างความรับผิดชอบของหน่วยงาน ที่จะเสนอหลักสูตรว่าจะต้องพิถีพิถันก่อนการนำเสนอเพราะมีค่าใช้จ่าย แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นก็เป็นไปเพื่อการดำเนินการทำให้ระบบการรับรองหลักสูตรเกิดประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับระบบการพิจารณาคุณภาพ บทความวิจัยและบทความวิชาการของวารสารชั้นนำที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลสากลปฏิบัติกันทั่วโลก และหากพิจารณาอัตราที่เรียกเก็บ หลักสูตรละ 2,000 บาท/หลักสูตร เทียบเคียงกับรายรับที่หน่วยพัฒนาครูจะได้รับจากการเรียกเก็บค่าลงทะเบียน จะเทียบได้ว่าค่าธรรมเนียม 2,000 บาทจะเท่ากับร้อยละ 1.33 ของรายรับทั้งหมด โดยตั้งสมมุติฐานค่าลงทะเบียนของครู คนละ 1,000 บาท และมีครูลงทะเบียน 150 คน ส่วนการเก็บค่าการจัดหลักสูตรรายรุ่น รุ่นละ 500 บาท ก็จะยิ่งไม่เป็นภาระด้านงบประมาณกับหน่วยจัดเพราะคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.33 เท่านั้น” นายมนตรีกล่าว

นายมนตรีกล่าวต่อว่า หากพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว การเก็บค่าธรรมเนียมการรับรองหลักสูตรและการจัดหลักสูตร จะไม่มีผลต่อต้นทุนการดำเนินการหลักสูตรพัฒนาครู หากเปรียบเทียบกับค่าธรรมเนียมบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ และค่าธรรมเนียมการรับรองหลักสูตรจะถูกนำไปใช้เป็นค่าดำเนินการรับรองหลักสูตร การติดตามประเมินหลักสูตรรายรุ่น การรับรายงานผลการดำเนินการของหลักสูตรทุกรุ่นทุกหลักสูตร เพื่อรวบรวมหลักฐานการเข้ารับการอบรมของครูทุกคนไว้เพื่อการอ้างอิงและใช้ประโยชน์ที่เชื่อมต่อไปถึงการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต่อไปในอนาคตด้วย การจัดให้มีคณะทำงานไปติดตามการดำเนินงานของหน่วยพัฒนาครูในพื้นที่การปฏิบัติงานจริง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ของคุรุสภาไปเก็บข้อมูลภาคสนาม เป็นต้น

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า กรณีที่นายรัฐกรณ์ตั้งข้อสังเกตว่าการให้เขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ ค่าอาหารกลางวันและของว่าง น่าจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการประสานงานกับหน่วยจัดและการเบิกจ่ายงบที่เป็นสองทางซึ่งจะทำให้ยิ่งล่าช้านั้นว่า ได้นำข้อมูลของหน่วยจัดที่ได้ประชุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา มาพิจารณา พร้อมนำเรียนนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แล้ว จึงมีแนวทางให้หน่วยจัดดำเนินการเหมือนเดิม เพียงแต่เขตพื้นที่แจ้งยอดผู้เข้าร่วมประชุม สำหรับความคืบหน้าการประเมินหน่วยจัดอบรมโดยผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปรากฏว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนประเมินแล้ว 3,473 คน คิดเป็นร้อยละ 15.57 โดยประเมินให้ผ่าน 98% ไม่ผ่าน 2%

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image