อย่าลืมเป้าหมายการศึกษา : โดย ดร.กมล รอดคล้าย

ในทางทฤษฎีการศึกษามีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือการผลิตกำลังคน (Manpower) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกับความคาดหวังของสังคม ที่จะให้การศึกษาสร้างคนที่มีคุณภาพเพื่อออกไปพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า

หลายๆ ประเทศก็มีหลักคิดคล้ายๆ กันนี้ และบางประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างคน ถึงขั้นกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์หรือทิศทางพัฒนาประเทศกันเลยทีเดียว เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนี เป็นต้น

วันนี้ประเทศไทยเราก็ตระหนักถึงการสร้างคนเช่นเดียวกัน และอย่าว่าแต่ภาครัฐเลย ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงครอบครัวและปัจเจกบุคคลต่างๆ ก็เรียกร้องการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพกว่าคนรุ่นเก่า ทุกครั้งที่มีประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา จึงมีผู้เข้ามาร่วมให้ความเห็น ร่วมวิจารณ์ เสนอแนะ เสนอตัวเข้ามาผลักดันให้การศึกษาสร้างคนที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งต้องนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

แต่ปัญหาสำคัญที่พบก็คือ ในความประสงค์ดีเหล่านี้ อาจยังขาดเป้าหมาย ทิศทางและวิธีการที่ชัดเจน หรือถ้ามีก็เป็นทิศทางที่แต่ละคนคิด ทฤษฎีที่แต่ละคนชอบ ฝ่ายการเมืองมีนโยบายเฉพาะบุคคลมานำเสนอ และเมื่อเปลี่ยนแปลงผู้บริหารก็จะปรับนโยบายไปตามที่ตนสนใจ ฝ่ายราชการประจำแม้จะสนองตอบก็มักจะไม่เต็มกำลัง อาจเพราะไม่เห็นด้วย หรือแม้เห็นด้วย ก็คิดว่าเปลี่ยนผู้บริหารนโยบายก็คงจะเปลี่ยนอีก ในขณะที่โรงเรียนและครูที่สัมผัสกับผู้เรียนโดยตรง ก็ต้องรอนโยบายจากส่วนกลาง ขาดอิสระทางวิชาการ หรือการสนับสนุนที่สอดคล้องกับความต้องการของครู หรือถึงตัวผู้เรียนโดยตรง

Advertisement

ผู้เขียนได้มีโอกาสในการร่วมจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กระบวนการทำงานที่ออกจะชัดเจนมากผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่จะเป็นผู้ปฏิบัติก็มีฉันทามติร่วมกันในการร่วมดำเนินการ จึงอยากเสนอว่า เราใช้แผนการศึกษาแห่งชาติเป็นตัวตั้งในการจัดการศึกษาจะดีไหม

แน่นอนว่าขณะนี้เราอยู่ในห้วงเวลาของการเตรียมการปฏิรูปการศึกษา องค์กรหลักและหน่วยงานต่างๆ ก็กำลังร่วมกันทำงานยกระดับคุณภาพการศึกษากันอยู่อย่างเข้มแข็ง แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อเรายังไม่ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน หรือมีกระบวนการทำงานที่สอดประสานกัน เราย่อมขาดพลังที่จะส่งผลให้เกิดอิมแพคต่อระบบการศึกษาและสังคม

ถ้าเป็นไปได้ผู้เขียนจึงอยากเสนอให้เราเริ่มด้วยการทำความเข้าใจกับวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายของการศึกษาให้ชัดเจน มีกระบวนการจัดการที่แม่นตรง ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน และมีการสร้างพลังร่วม ให้เกิดขึ้น

1.มีวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายของการศึกษาที่ชัดเจน (Clear Vision) คือเราต้องเข้าใจตรงกันว่าเราจะให้การศึกษาสร้างผลผลิตและผลลัพธ์อะไรให้เกิดขึ้นใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งหากพิจารณาจากแผนภาพ ก็จะพบว่า เราอยากเห็นเด็กไทยมีลักษณะเฉพาะตัวหรือสมรรถนะ 3Rs 8Cs กล่าวคือ

3Rs ประกอบด้วย อ่านออก (Reading) เขียนได้ (WRiting) คิดเลขเป็น (ARithmetics)

8Cs ประกอบด้วย ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ (Cross – cultural Understanding) ทักษะด้านความร่วมมือการทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration Teamwork and Leadership) ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ (Communication, Information and Media Literacy) ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing and ICT Literacy) ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ (Career and Learning Skills) ความมีเมตตา กรุณา วินัย คุณธรรม จริยธรรม (Compassion)

ซึ่งจะเห็นได้ว่านี่คือสมรรถนะสำหรับคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างพื้นฐานของชีวิตและแสวงหาความรู้ในอนาคต ในขณะเดียวกัน 7C คือการเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21 โดยในสังคมไทยได้เพิ่ม C – Compassion ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นจุดเด่นของไทยแท้ๆ คือความมีเมตตา กรุณา วินัย คุณธรรมจริยธรรม และยังจะหมายรวมไปถึงความมีวัฒนธรรมแบบไทย การเคารพเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อีกด้วย

นอกจากการให้คนไทยรุ่นใหม่มีสมรรถนะ 3Rs 8Cs ประการต่อไปคือต้องสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และสร้างสังคมอุดมปัญญา ที่ทุกคนรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี คิดวิเคราะห์ อย่างมีเหตุมีผล รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย ใช้สื่ออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ประการสุดท้าย ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศ คือ การนำประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยคนไทยต้องอยู่ดีกินดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำเช่นในปัจจุบัน ซึ่งการศึกษาต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างนวัตกรรม เป็นสินค้าที่นำรายได้เข้าประเทศ พัฒนากระบวนการคิดของเด็กด้วยระบบ STEM ศึกษา แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนหลักคิดพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสำคัญ

2.มีกระบวนการจัดการที่แม่นตรง ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน (Accurate Direction) กำหนดยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และจัดการให้ประสบความสำเร็จโดยมีการกำหนดเป็นห้วงเวลาระยะละ 5 ปี ให้บรรลุผลการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ความเท่าเทียมทางการศึกษา คุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพ และตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องไม่ทำแค่เป็นอีเวนต์ หรือเป็นแค่โครงการนำร่อง หรือเลือกทำเพียงรายโครงการตามความถนัดหรือสนใจของผู้บริหารแต่ละคน แต่ต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าควรจะทำอะไร อย่างไร เลือกทำเฉพาะโครงการหลักที่มีผลกระทบหรืออิมแพคอย่างแท้จริง เช่นวันนี้ เราต้องปรับหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่ ปรับระบบบริหารจัดการสถานศึกษา รวมทั้งปรับระบบงบประมาณแบบใหม่ ที่เอื้อให้ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา เป็นต้น

3.การสร้างพลังร่วม (Empower) ซึ่งต้องนับว่าโชคดีที่ในกระบวนการจัดทำแผนการศึกษา ได้ริเริ่มสิ่งเหล่านี้ไว้แล้ว โดยได้มีการวิเคราะห์พันธกิจและแบ่งสรรอำนาจในการจัดการ และภาระความรับผิดชอบสำหรับหน่วยงานต่างๆ ทั้งแบบแยกส่วนและบูรณาการ

แต่หลักการที่สำคัญที่สุดคือ ต้องให้การมีส่วนร่วมนั้นลงลึกไปถึงผู้เรียน ผู้สอนในสถานศึกษาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่ เพราะทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความล้มเหลวของการจัดการศึกษาส่วนใหญ่เกิดจากการสั่งการจากส่วนกลาง โดยขาดพลังร่วมจากผู้ปฏิบัตินั่นเอง

จนถึงขณะนี้เชื่อว่าคนไทยทุกคนน่าจะมีความปรารถนาเดียวกันคือ อยากให้บ้านเมืองของเราเจริญก้าวหน้า ยืนอยู่ได้อย่างภาคภูมิในสังคมโลก แต่หากกระบวนการสร้างคน คือการศึกษา ยังไม่มีการสร้างพลังร่วม และก้าวไปในทิศทางหรือวิธีการที่ตรงกันหรือสอดประสานกัน การจะถึงเป้าหมายที่เรามุ่งหวังก็จะเป็นไปได้อยาก

ถ้าจะก้าวไปสู่ความสำเร็จ จะต้องมุ่งมั่น และเชื่อมั่นในเป้าหมายที่เราจะก้าวไปให้ถึง วันนี้เป้าหมายสุดท้าย หรือผลลัพธ์ของการศึกษาถูกกำหนดไว้แล้ว สถานการณ์ข้างหน้าอาจจะนำมาสู่การปรับเปลี่ยนเป้าหมายได้บ้างในบางประเด็น แต่เป้าหมายและผลลัพธ์หลักน่าจะเป็นไปตามนี้

“ฝันให้ไกล ต้องไปให้ถึงให้ได้ จะจัดการศึกษาต้องมุ่งมั่น และอย่าลืมเป้าหมายการศึกษา”

ดร.กมล รอดคล้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image