คณะกรรมการอิสระฯ เห็นชอบปฏิรูปอุดมฯ ส่งร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯเข้า ครม. คาดประกาศใช้ มี.ค.61

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. … ตามที่คณะอนุกรรมการกองทุนเสนอ จากนี้จะเสนอให้รัฐบาลเพื่อดำเนินการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนฯ ได้ภายในเดือนมีนาคม 2561 หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 6 เมษายน 2561 ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้เร่งจัดทำกฎหมายที่กองทุนฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบตั้งคณะทำงานยกร่างระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับกฎหมายฉบับนี้

นพ.จรัสกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือ ข้อเสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ในการยกระดับเป็นการปฏิรูปการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา โดยคณะกรรมการได้นำเสนอความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปอุดมศึกษา ในหลายแง่มุมแต่ยังไม่ได้พูดถึงการมี พ.ร.บ.การอุดมศึกษา หรือต้องแยกเป็นกระทรวงการอุดมศึกษาหรือไม่ ส่วนกรณีที่คณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา เสนอให้ตั้งกระทรวงการอุดมฯนั้นก็ให้ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ อุดมศึกษาของไทยเกิดขึ้นมานานกว่า 100 ปี มีพัฒนาการเป็นระยะ ผลที่เกิดขึ้นคือเรามีสถาบันอุดมศึกษาเพียงพอ มีระบบการบริหารที่มีความอิสระ มีระบบธรรมาภิบาล งานวิจัยเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย แต่การพัฒนาทั้งหมดก็ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากมหาวิทยาลัยแข่งขันกันเปิดหลักสูตรเน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ ทำให้บัณฑิตที่จบมาไม่มีความสามารถเพียงพอ ว่างงาน ขณะที่ระบบธรรมาภิบาลยังไม่ดีพอ ขาดความรับผิดชอบ งานวิจัยไม่สามารถตอบโจทย์ของประเทศ เน้นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเท่านั้น

“ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมจึงเห็นด้วยที่จะมีการปฏิรูปอุดมศึกษา เป็นอุดมศึกษา 4.0 คือจะต้องมีการผลิตคนที่มีความสามารถระดับสูง แข่งขันได้ มีความรู้เท่าทันโลก และมหาวิทยาลัยต้องเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมและประเทศ ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยไม่ต้องรับผิดชอบเลย บัณฑิตตกงาน กลายเป็นความรับผิดชอบของบัณฑิตเอง ดร.ปริญญาเอก 600-700 คนยังเป็นคนยากจนอยู่ จบ ป.เอกยังพาตัวเองพ้นความยากจนไม่ได้แล้วจะไปช่วยใครได้ จากนี้คณะอนุกรรมการฯจะต้องไปคิดวางแนวทางโดยหารือกับผู้เกี่ยวข้อง โดยอาจจะต้องไปดูในเรื่องของการลดการกำกับ และเพิ่มการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย ที่มีความหลากหลาย เช่น บางแห่งทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็อาจต้องเพิ่มการดูแล บางแห่งที่ไม่มีคุณภาพก็อาจต้องปิดตัวไป หรือไปดูในเรื่องการยุบรวม ควบรวมมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น” นพ.จรัสกล่าว

 

Advertisement

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image