ธ ทรงเป็นผู้นำที่ยึดค่านิยมมาเป็นหลัก ในการปกครองอาณาประชาราษฎร์ (Values-Based Leadership)

เกริ่นนำ
ภาวะผู้นำที่ใช้ค่านิยมเป็นหลักในการทำงานหรือบริหารนั้นมีพื้นฐาน (หลัก) มาจากความเชื่อที่ว่า ค่านิยมขององค์กรและค่านิยมของส่วนบุคคลของผู้นำจะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน การกำหนดพันธกิจ วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การสร้างแรงสิ่งจูงใจ ขบวนการทำงานและค่านิยม

สิ่งดังกล่าวทั้งหมด จะต้องเป็นตัวแทนด้านจริยธรรมของผู้นำอย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจตั้งสมมุติฐานได้ว่า

ทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้นำต้องมีค่านิยมหลักแบบเดียวกัน ตลอดจนผู้นำควรมีเวลาในการบริหารความขัดแย้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าภาวะผู้นำแบบใช้ค่านิยมนำการบริหารนั้น ผู้ปฏิบัติงานและผู้นำมีส่วนทำให้ผลผลิต กำไร ความยั่งยืนและคุณธรรมขององค์กรเพิ่มขึ้น

ค่านิยมของผู้นำคืออะไร?

Advertisement

คือหลักการนำทางและกำหนดพฤติกรรมหรือการกระทำของผู้นำที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น

คุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำที่ยึดค่านิยมนำการบริหาร

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้นำทศพิธราชธรรม (Duties of The king) มาเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำที่ยึดค่านิยมนำการบริหารว่ามี 10 ประการ ดังนี้ คือ

Duties of The King = ทศพิธราชธรรม
(Royal Virtues, Virtues of a ruler)

1.Charity (ทาน) = การให้ หมายถึง สละทรัพย์ สิ่งของ ช่วยเหลือประชาชน และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

2.High Moral Character (ศีล) = ความประพฤติดีงาม เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาราษฎร์

3.Self-sacrifice (ปริจจาคะ) = การบริจาค คือเสียสละความสุขสำราญ เสียสละชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

4.Honesty ; Integrity (อาชชวะ) = ความซื่อตรง คือปฏิบัติการโดยสุจริต มีความจริงใจ
ไม่หลอกลวงประชาชน

5.Kindness and Gentleness (มัททวะ) = ความอ่อนโยน คือมีอัธยาศัย ไม่หยิ่งหยาบคายกระด้างถือพระองค์ ละมุนละไม

6.Self-control (ตบะ) = ความทรงเดช คือ ระงับยับยั้งข่มใจ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสำราญและปรนเปรอ

7.Non-Anger (อักโกธะ) = ความไม่โกรธ คือความไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความ และกระทำการต่างๆ ผิดพลาด มีความเมตตาประจำใจไว้ระงับความขุ่นเคือง

8.Non-Violence (อวิหิงสา) = ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษี ขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาดไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ เพราะความอาฆาตเกลียดชัง

9.Patience หรือ Tolerance (ขันติ) = ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย

10.Conformity to the Law หรือ Non-Opposition (อวิโรธนะ) คือ วางองค์เป็นหลัก หนักแน่นในธรรมคงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรมที่ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป

ตัวอย่างผู้มีชื่อเสียงของโลก (ผู้นำ) ที่ยึดค่านิยมมาเป็นหลักในการปกครองประเทศ

ข้าพระพุทธเจ้า ดร.ดำรงค์ ชลสุข ผู้เขียนบทความนี้ขออัญเชิญพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นตัวอย่างในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์

หากถ้อยคำข้อความที่เขียนผิดพลาดจากข้อเท็จจริงหรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม ขอพระองค์โปรดพระราชทานอภัยในความผิดดังกล่าว แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร : พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ได้ประกาศพระปฐมบรมราชโองการในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” We shall reign with righteousness for the benefits and happiness of Siamese people.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงปกครองบริหารจัดการประเทศชาติบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ โดยมิได้คำนึงถึงความร่ำรวยและความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุเท่านั้น แต่พระองค์ทรงยึดธรรมเป็นหลักในการปกครองอาณาประชาราษฎร์ ที่สำคัญยังเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำที่ยึดค่านิยมเป็นหลักในการนำพาให้พสกนิกรของพระองค์อยู่ดีกินดีมีสุขถ้วนทั่วทุกตัวคน

พระองค์บริหารจัดการบ้านเมืองให้เป็นไปตามทศพิธราชธรรม ดังจะขอนำกล่าวให้เห็นเป็นตัวอย่างบางข้อ ดังต่อไปนี้

ทาน : 1) ธรรมทาน ได้แก่ พระราชทานพระบรมราโชวาทแฝงด้วยคติธรรมเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจแก่พสกนิกร ตามสถานะและโอกาส ถ้าหากพสกนิกรในท้องถิ่นต่างๆ ต้องการความรู้ พระองค์ก็จะพระราชทานความรู้ต่างๆ ให้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตที่ดีของอาณาประชาราษฎร์ในท้องถิ่นนั้นๆ 2) วัตถุทาน ทรงมีพระเมตตากรุณาต่อพสกนิกรของพระองค์โดยพระราชทานทรัพย์สินและวัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น ในกรณีที่ราษฎรประสบภัยต่างๆ ทั้งนี้เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทั่วทุกถิ่นไทย

ศีล : ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงผนวชระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2499 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 เป็นเวลา 15 วัน ทรงได้รับสมญานามว่า

“ภูมิพโลภิกขุ” ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับพระภิกษุอื่นๆ เช่น เสด็จลงพระอุโบสถ ทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนั้นยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น เสด็จฯไปร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวง และได้เสด็จฯไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถานและวังสระปทุม

ปริจจาคะและขันติ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อความผาสุกของปวงประชา ทรงอุทิศพระวรกายปฏิบัติพระราชกิจในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปภาคเหนือ ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ณ ที่แห่งนั้นมีชาวไทยภูเขาที่ไม่รู้หนังสือ ประกอบอาชีพปลูกฝิ่น พระองค์ทรงบุกป่าขึ้นภูเขาสูง ทรงพระดำเนินด้วยพระบาท เป็นระยะทางไกลก็มิได้เหน็ดเหนื่อยพระวรกายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่ชาวไทยภูเขาเหล่านั้นให้มีอาชีพเพาะปลูกพืชอย่างอื่นทดแทนการปลูกฝิ่น

สําหรับบุคคลที่มีชื่อเสียงของโลก ที่เป็นผู้นำโดยยึดค่านิยมมาปกครอง หรือบริหารจัดการประเทศ

ให้ประชาชนมีประชาธิปไตย มีความสุข และเกิดสันติภาพในสังคมนั้น จะนำเสนอผู้มีรายชื่อ ปรากฏดังต่อไปนี้

มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) : เป็นผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงของอินเดีย มีภาวะผู้นำที่ยึดค่านิยมที่ถูกต้องมาบริหารประเทศ ค่านิยมหลักสรุปว่า

……ดื้อเงียบโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้การไม่ให้ความร่วมมือ…..

หลักค่านิยมที่ยึดถือหลักอหิงสา หรือวิธีสัตยาเคราะห์ (Satyagraha) คือถือมั่นในสัตย์ หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า สัตยาเคราะห์แบบอหิงสา (Non-violence Resistance)

แม่ชีเทเรซา (Mother Teresa) : เป็นนักพรตหญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ยึดค่านิยมที่ระบุว่า

……ช่วยเหลือ และต่อสู้เพื่อคนยากไร้ในประเทศที่ยากจน…..

เธอให้คำมั่นสัญญาอย่างแน่วแน่ที่จะต่อสู้เพื่อคนยากจน คนเจ็บป่วย เด็กกำพร้า และคนที่กำลังจะตาย

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King) : เขาเป็นหมอสอนศาสนา เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวอเมริกัน ยึดหลักความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว

เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) : เป็นประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกา รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ นักต่อสู้ผู้ต่อต้านการเหยียดผิว เนลสันได้ประกาศค่านิยมของตนดังนี้

…ผมเชิดชูอุดมคติ เรื่องสังคมที่เป็นประชาธิปไตย และมีเสรีภาพที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือสังคมอุดมคติที่ผมปรารถนาจะให้ไปถึง เป็นอุดมคติที่ผมพร้อมจะอุทิศชีวิตให้…

หวังว่าผู้บริหารทุกชั้นทุกระดับ ควรที่จะปฏิบัติตนเป็นผู้นำที่ยึดค่านิยมหลักตามทศพิธราชธรรม ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงนำมาเป็นแนวทางปกครองอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ ทั้งนี้ ขอให้ผู้นำหรือผู้บริหารจงนำแบบอย่างของพระองค์มาใช้เพื่อประโยชน์ต่อองค์กรและหน่วยงานตลอดจนประเทศชาติสืบไป

ดร.ดำรงค์ ชลสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image