เชื้อเพลิงขยะ RDF

กว่า 20 ปี ของการทำงานในแวดวงขยะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว พบกับการมีส่วนร่วมและการต่อต้านคัดค้านแม้กระทั่งการข่มขู่นานารูปแบบ ปัญหาขยะจึงไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิชาการหรือปัญหาทางเทคนิค มันรวมเอาปัญหาเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาการเมือง

ครั้งที่ได้โอกาสไปศึกษาดูงานโรงงานผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF ในประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นการผลิตที่เอาขยะที่ถูกคัดแยกจากต้นทางมาผ่านเครื่องจักร เพื่อแยกขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ที่ปะปนมาก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต RDF ขยะพวกนี้ถูกเก็บจากบ้านเรือน สถานประกอบการ สำนักงานส่วนใหญ่ ประกอบด้วย เศษกระดาษ พลาสติก เศษไม้ ตะเกียบและบรรจุภัณฑ์หลากประเภท ในขั้นตอนหนึ่งจะมีการคัดแยกโดยคนตามสายพาน เพื่อคัดเอาพลาสติกประเภท PVC (Poly Vinyl Chloride) ออก พลาสติกพวกนี้ได้แก่ผ้าร่ม ท่อ PVC สลากใสของขวดน้ำ และหนังเทียม

ทำไมต้องคัดเอาพลาสติก PVC ออก? คำตอบคือ การเผาพลาสติก PVC ที่มีองค์ประกอบของคลอรีนทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่เรียกว่าไดออกซิน และยังทำให้เกิดกรดเกลือหรือ HCl หากนำเอา RDF ที่มีพลาสติก PVC ปะปนไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากจะมีปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศแล้ว ยังทำให้เครื่องจักรสึกหรออย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกประเภท PVC

หน่วยงาน WBCSD-World Business Council for Sustainable Development ให้คำอธิบายเรื่องเชื้อเพลิงขยะ RDF ว่า “เป็นขยะที่ได้รับการคัดแยกเพื่อให้มีค่าความร้อนสูงขึ้นแล้วนำมาใช้เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล มักใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เชื้อเพลิงขยะประกอบด้วยขยะที่เผาไหม้ได้เป็นหลัก ได้แก่ พลาสติกและกระดาษที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลไม่ได้แล้ว และต้องไม่มีพลาสติกประเภท PVC เจือปน”

Advertisement

แล้วสังคมไทยเข้าใจเรื่อง RDF กันอย่างไร ข้อมูลเรื่องพลาสติก PVC ที่ไม่ควรปะปนในขยะที่จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ถูกเผยแพร่ให้ชาวบ้านรับรู้อย่างไร กระบวนการผลิต RDF ที่ทั้งรัฐและเอกชนส่งเสริมให้ชาวบ้านและท้องถิ่นผลิตถึงขั้นส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ประเภท 1 ตำบล 1 โรง มีความเข้าใจและได้ออกแบบกระบวนการผลิตที่ถูกต้องแล้วหรือยัง

อาจมีข้อโต้แย้งว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์พร้อมที่จะรับเชื้อเพลิงขยะเพราะเตาเผาปูนสามารถควบคุมอุณหภูมิในการเผาได้ ไม่น่าจะกังวลเรื่องการเกิดไดออกซิน การส่งเสริมแบบนี้หมายความว่า ท้องถิ่นและชาวบ้านช่วยกันผลิต RDF เพื่อส่งให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่มีอยู่
ไม่กี่ราย แบบนี้เองอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จึงเป็นฝ่ายกำหนดราคาและมาตรฐานของ RDF ถ้าชาวบ้านตั้งราคาขายสูง พวกเขาก็ไม่ซื้อ แต่จะหันไปซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลพวกเศษไม้ แกลบ ที่มีคุณภาพดีกว่าแทน

แล้วถ้าไม่ขายอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ แล้วจะเอา RDF ไปไหน มีอีกโมเดลหนึ่งที่มีการผลักดันเพื่อให้เป็นการจัดการขยะของกลุ่มท้องถิ่นหรือ Cluster คือการให้ท้องถิ่นขนาดใหญ่ในกลุ่มรับผิดชอบการกำจัดขยะโดยส่งเสริมให้มีเตาเผาขยะที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ แล้วให้ท้องถิ่นขนาดเล็กในกลุ่มผลิต RDF จัดส่งให้เตาเผาที่เรียกว่า โรงไฟฟ้าขยะ โมเดลนี้ถูกเผยแพร่ ส่งเสริมตามนโยบายของ Roadmap สนับสนุนให้ท้องถิ่นขนาดเล็กทำโครงการผลิตเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเวลานี้มีท้องถิ่นขนาดเล็กหลายแห่งได้รับงบประมาณติดตั้งเครื่องจักรสำหรับโรงงานผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF แต่เรายังไม่เห็นวี่แววของโรงไฟฟ้าที่จะรองรับเชื้อเพลิงขยะ RDF ของพวก Cluster เลย

ในประเทศญี่ปุ่น โรงงานผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF สามารถดำเนินการอยู่ได้เพราะมีรายได้ 2 ทาง คือรายได้จากการขายเชื้อเพลิงขยะตามมาตรฐานของผู้ใช้ และรายได้จากค่าบริการกำจัดขยะจากท้องถิ่น เพราะถือว่าการนำขยะไปผลิตเชื้อเพลิงขยะ ก็คือการให้บริการกำจัดขยะเช่นกัน แล้วท้องถิ่นเล็กๆ ของเราที่ถูกกำหนดให้ผลิตเชื้อเพลิงขยะส่งให้โรงไฟฟ้าจะมีรายได้เพียงพอที่จะเดินระบบและบำรุงรักษาเครื่องจักรหรือไม่ ปัญหาที่จะต้องมีคำตอบอย่างชัดเจนก่อนเดินหน้าส่งเสริมโมเดลนี้ คือ 1) ต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงขยะเท่าไร 2) ผลิตแล้วนำไปขายอย่างไร 3) ถ้าราคาขายไม่คุ้มกับต้นทุนท้องถิ่นขนาดเล็กจะทำอย่างไร

ถ้าจะเดินหน้าใช้โมเดล Cluster ท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญในการจัดเก็บค่ากำจัดขยะ เวลานี้มีข่าวว่า มีความพยายามร้องขอให้รัฐสนับสนุนราคาขายเชื้อเพลิงขยะในรูปแบบคล้ายการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะ เพื่อให้ท้องถิ่นหรือชาวบ้านที่ผลิตเชื้อเพลิงขยะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะเดินระบบการผลิต ถ้ารัฐตัดสินใจให้การสนับสนุนราคาขาย RDF ก็แสดงว่าโมเดลการจัดการขยะแบบนี้ล้มเหลวสิ้นเชิง เพราะรัฐต้องเสียงบประมาณหรือภาษีของคนไทยทุกคนทั่วประเทศไปกับการผลิตเชื้อเพลิงขยะ แล้วยังต้องรับซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงอย่างอื่นอีก ก็ภาวนาขออย่าให้รัฐบาลเห็นดีเห็นงามกับข้อเสนอแบบนี้เลย

การผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF ของท้องถิ่น ไม่ได้ทำให้ขยะหมดไป เพราะขยะที่ใช้สำหรับการผลิต RDF ได้มีเพียง 20% โดยน้ำหนักของขยะทั้งหมด ยังคงมีขยะที่ก่อปัญหาอีกเยอะ เช่น เศษอาหาร ขยะอินทรีย์ กว่าครึ่ง แล้วยังมีขยะอันตรายในครัวเรือนอีก

เหล่านี้จะจัดการกันอย่างไร เอางบประมาณที่ไหนมาจัดการ

โมเดล Cluster ที่มีโรงไฟฟ้าขยะเป็นศูนย์กลางแล้วให้ท้องถิ่นขนาดเล็กช่วยกันผลิต RDF มีเอกชนหลายรายเดินสายขายฝันให้ท้องถิ่น ยกเอาเรื่องรายได้จากการขายเชื้อเพลิงขยะ RDF มากมายพอที่จะให้ท้องถิ่นนำไปใช้ในการจัดการขยะทั้งระบบ บางรายบอกกับท้องถิ่นถึงขั้น “มีกำไร” ไม่ว่าจะพอหรือมีกำไร ก่อนจะตัดสินใจ ท้องถิ่นควรหาคำตอบสำหรับ 3 ปัญหาข้างต้นให้ชัดเจนก่อน ถ้ากระบวนการผลิตต้องไปใช้ขยะเก่าที่ต้องรื้อร่อนจากกองขยะ ก็ต้องรวมต้นทุนในการรื้อร่อนเข้าไปด้วย ผลผลิตที่ได้หากมีการปนเปื้อนของเศษดินหรือขยะอื่นๆ คุณภาพของ RDF ก็จะด้อยลง

การผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF ที่มีคุณภาพดี ทำได้เมื่อขยะถูกคัดแยกจากต้นทาง และไม่ควรมีพลาสติก PVC ปะปนอยู่เพราะระบบเผาหรือระบบบำบัดมลพิษทางอากาศของอุตสาหกรรมทั่วไปไม่ได้ออกแบบเพื่อป้องกันการเกิดไดออกซินหรือกรดเกลือ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องสำคัญในลำดับแรกของการจัดการขยะ

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image