คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : นครหลวงพระบาง เขตปกครองพิเศษใหม่รับปีท่องเที่ยวลาว

หลวงพระบางหรือ เมืองเชียงทอง เมืองหลวงเก่าของราชอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เป็นเมืองโบราณที่ดำรงความงดงามทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตผู้คนในท้องถิ่นจนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีผู้คนมาเที่ยวชมมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี นักท่องเที่ยวที่มาต่างต้องการมาสัมผัสความเรียบง่ายสงบงามริมแม่น้ำโขง และอารยวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของลาวท่ามกลางอากาศเย็นสดชื่นกลางป่าเขาลำเนาไพร

แต่การพัฒนาเมืองเพื่อรับการท่องเที่ยว ทำให้โครงสร้างพื้นฐานทั้งสาธารณูปโภคและการจัดการเมือง รวมถึงระบบการเมืองมีข้อขัดข้องและล่าช้า สภาแห่งชาติลาวจึงมีญัตติเสนอให้หลวงพระบาง เมืองเอกของแขวงหลวงพระบาง เปลี่ยนสถานะจากเมืองหลวงพระบางเป็น “นะคอนหลวงพะบาง” (นครหลวงพระบาง) อันถือว่าเป็นเขตปกครองแบบพิเศษเช่นเดียวกับนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปโดยสะดวกมากขึ้น

ทั้งยังจะจัดงบประมาณสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูบูรณะโบราณสถานและดูแลรักษาเขตเมืองเก่าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มอีกกว่า 283 โครงการ รวมมูลค่า 81,345 หมื่นล้านกีบ หรือประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการลงทุนของภาคเอกชน 46.97% และรัฐบาล 53.03%

นอกจากนี้ ยังยกให้เมืองหลวงพระบางเป็นเมืองส่งเสริมการท่องเที่ยวหลักของปีท่องเที่ยวลาว 2018 โดยจะจัดงานปีใหญ่หลวงพระบางอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนเมษายน 2018 พร้อมทั้ง 5 กิจกรรมใหญ่ และ 10 กิจกรรมย่อย เพื่อรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแขวงหลวงพระบางให้เติบโตต่อเนื่อง จากเดิมที่เติบโตเฉลี่ย 8.4% ต่อปี ทำให้นครหลวงพระบางที่กำลังจะประกาศยกระดับจัดตั้งขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการในต้นปี 2018 เปลี่ยนโฉมหน้าการพัฒนาไปในอีกด้านหนึ่งอย่างรวดเร็ว

Advertisement

หลวงพระบางยังจะเป็นจุดจอดสำคัญของเส้นทางรถไฟลาว-จีน โดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวจะผ่าน 28 บ้าน 3 เมืองของแขวงหลวงพระบาง ได้แก่ เมืองจอดเพ็ด เมืองหลวงพระบาง และเมืองเชียงเงิน ในระยะทาง 80 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางเพื่อเที่ยวนครหลวงพระบางในอนาคตมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ซึ่งหากเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์จะย่นระยะเวลาได้จากการขับรถยนต์ลัดเลาะตามภูเขา 10 ชั่วโมง เหลือเพียงประมาณ 3 ชั่วโมง และสามารถลงมาจากคุนหมิงของจีนได้ในระยะเวลา 4 ชั่วโมงเท่านั้น จากเดิมที่ใช้เวลามากกว่า 12 ชั่วโมง

การพัฒนาระบบไฟฟ้าและสายส่งเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนครหลวงพระบาง อาศัยโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำอู 1 ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี 2016 และคาดว่าจะส่งกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2020 ซึ่งจะทำให้ปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอและไม่คงที่ในแขวงหลวงพระบางลดน้อยลงตามลำดับ

Advertisement

นครหลวงพระบาง ยังเป็นฐานที่มั่นสำคัญในทางการเมืองของการนำพรรคประชาชนปฏิวัติลาวหลายคน เช่น นางปานี ยาท่อตู้ ประธานสภาแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้แทนจากแขวงหลวงพระบางอย่างต่อเนื่อง การยกระดับการปกครองเมืองหลวงพระบางจึงเป็นหนึ่งในการผลักดันสำคัญจากฝ่ายสภาประชาชนแห่งชาติ โดยอาศัยเงินจากการพัฒนาทั้งภาครัฐและการลงทุนเอกชนสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวหลวงพระบางให้หลุดพ้นจากความยากจนในที่สุด

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหลวงพระบางครั้งนี้ ยังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายด้านในส่วนท้องถิ่น เช่น วัดเชียงทอง ที่เดิมมีชื่อพระราชทานจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชว่า วัดเชียงทองไชยโลหรามาธิบดีมหาวิหาร แต่ถูกตัดทอนชื่อลงไปหลังยุคปฏิวัติ ก็ได้กลับมาใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง และได้มีการสมโภชวัดวาอารามต่างๆ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ทั่วไป ปี 2018

เราจะได้เห็นนครหลวงพระบางทั้งในทางกายภาพ สาธารณูปโภค กิจกรรม และการท่องเที่ยวโฉมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image