ชาวนากาฬสินธุ์ โอดเจอกดราคา ขายข้าวขาดทุนซ้ำซาก ผู้รับซื้อแนะต้องตากแห้งก่อน

ชาวนากาฬสินธุ์อ่วมซ้ำอีกปี! นายทุนรับซื้อข้าวยังกดราคา รับซื้อข้าวเปลือกเพียงตันละ 6 พัน ขณะที่ผู้จัดการตลาดกลางข้าวและพืชไร่ ระบุผลกระทบน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำความเสียหายให้กับพื้นที่นาข้าวในกลุ่มลูกค้าเพียงส่วนน้อย พร้อมแนะชาวนาหากอยากขายข้าวได้ราคาดี ควรตากให้แห้งก่อนนำมาขาย และเข้าโครงการชะลอการขายกับรัฐบาล

วันที่ 15 พ.ย.60 จากการติดตามบรรยากาศการรับซื้อข้าวเปลือกนาปี ตามลานรับซื้อทั่วไปในจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่าชาวนาเริ่มทยอยนำข้าวเปลือกที่เกี่ยวสดมาจำหน่ายอย่างคึกคัก จากการสอบถามพบว่ายังถูกนายทุนรับซื้อกดราคา โดยข้าวเปลือกเหนียวราคาตันละ 6 พันบาท ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิราคาตันละ 1 หมื่นบาทเท่านั้น นอกจากนี้ ยังถูกหักค่าสิ่งเจือปนและส่วนผสมอีกด้วย

ทั้งนี้ ชาวนาที่นำข้าวมาขายระบุว่า จากที่ประเมินว่าราคารับซื้อข้าวเปลือกปีนี้จะสูงขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวหลายอำเภอถูกน้ำท่วมเสียหาย แต่ถึงวันนำข้าวมาขาย ราคาก็ไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อนำรายได้หักลบกลบหนี้กับรายจ่ายด้านต้นทุนการทำนา โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานเกี่ยวข้าววันละ 300 บาท และรถเกี่ยวไร่ละ 1 พันบาท รวมทั้งค่ารถไถ ค่าปักดำและปุ๋ยเคมีแล้ว จึงพบว่าขาดทุนซ้ำซาก

ด้านนายธนาพล ธรรมโนขจิต ผู้จัดการตลาดกลางข้าวและพืชไร่ ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกต้นฤดูกาลปีนี้ราคาข้าวเปลือกเหนียว จากเดิมปีที่แล้วราคาสูง 9 บาทต่อ กก. แต่ปีนี้ราคารับซื้ออยู่ที่ 6 บาท ต่อ กก. ส่วนนี้เองชาวนาต้องเร่งศึกษาให้ดีเพราะถ้าเร่งรีบขายข้าวตอนนี้เสี่ยงขาดทุนอย่างมาก โดยเฉพาะการเกี่ยวสด ที่จะต้องถูกนำมาหักค่าความชื้น การปลอมปนอีก นอกเหนือจากการตากข้าวแล้ว การเข้าโครงการชะลอเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 60/61 ตามมาตรการของรัฐบาล ที่จะช่วยลดปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าเก็บยุ้งฉางตันละ 1,500 บาทต่อตัน ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวไร่ละ 1,200 บาทต่อตัน ซึ่งหากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งระบบจะทำให้ข้าวมีราคาสูงขึ้นถึง 11,000 บาทต่อตัน

Advertisement

“แต่ทั้งนี้อยากให้เร่งรีบดำเนินโครงการและประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงเกษตรกรให้มากที่สุด ที่เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยเกษตรกรได้มากที่สุด ส่วนข้าวหอมมะลิปีนี้มีราคาสูงขึ้น จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าห่วงมากนัก ขณะที่เกษตรกรแปลงใหญ่ที่ทางตลาดกลางฯ ได้ลงนาม MOU ด้วยนั้น ถือว่ามีอนาคตที่สดใส คุณภาพข้าวดี ผลผลิตดี ที่ถือว่ารัฐได้ส่งเสริมมาถูกทางแล้วสำหรับโครงการนาแปลงใหญ่” นายธนาพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่นาข้าวในจังหวัดกาฬสินธุ์จะถูกน้ำท่วมกว่า 3 แสนไร่ แต่เนื่องจากลูกค้าของตลาดกลางข้าวและพืชไร่ส่วนใหญ่อยู่ในโซนที่สูงหรือนาดอน ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย จึงทยอยนำข้าวเปลือกมาขายอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image