ทิศทางสื่อไทย ‘ควบคุม’ และ ‘ประชารัฐ’

ฟังดูย้อนแย้งแน่นอนสำหรับความพยายาม “ควบคุมสื่อ” ในขณะที่ทิศทางของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีทำให้การสื่อสารขยายตัวกว้างขึ้น ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และเข้าถึงผู้คนอย่างไม่จำกัดด้วยเครื่องมือที่ถูกลง

แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย

เมื่อคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คิดเครื่องมือควบคุมการสื่อสารของประชาชน ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …

เปิดตัวด้วยการถูกขนานนามว่า เป็นกฎหมายควบคุมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน โดยกำหนดให้ “ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อ” ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ที่ออกโดยคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

Advertisement

โดยนิยาม “สื่อ” ครอบคลุมทั้งสื่อเดิม โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อใหม่ คือ สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียทั้งหมด

โดยระบุว่า ผู้ใดประกอบวิชาชีพสื่อโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท องค์กรสื่อที่รับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน มีโทษทั้งจำทั้งปรับเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อที่ต้องขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตในร่างกฎหมายนี้ หมายถึงผู้ที่มีรายได้ค่าตอบแทนจากการเผยแพร่เนื้อหา ข้อมูลผ่านสื่อไปยังสาธารณะ

คล้ายจะกระทบแค่บรรดาสื่อมวลชน แต่อีกมุมหนึ่ง นี่คือการจำกัดเสรีภาพของประชาชน ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เรื่องที่ตัวเองมีความรู้และทักษะ เช่น ถ้าจะถ่ายคลิปเทคนิคทำอาหารเผยแพร่ลงยูทูบนั้นสามารถทำได้ แต่ถ้าจะมีโฆษณาต้องไปตีทะเบียนก่อน

Advertisement

การคัดค้านการขึ้นทะเบียนขององค์กรสื่อ ถูกมองได้ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตัวเอง เมื่อไม่ต้องการให้ใครเข้ามาควบคุม

แต่ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ กฎหมายฉบับนี้กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปแน่นอน แม้จะมีการรับรองสิทธิเสรีภาพนี้ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 34 ก็ตาม

กำกับดูแลกันเองยังไม่พอ
ต้องทำให้เป็นประชารัฐ

จิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ความเห็นไว้ในงานเสวนาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “เสรีภาพสื่อและกฎหมาย : ความท้าทายในยุค 4.0” ว่า ปัญหาที่ได้สรุปจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ทั้งจาก สปช. และ สปท. คือ

1.รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ ยังไม่เข้าใจการทำงานของสื่อมวลชน และสื่อมวลชนก็ไม่ยอมรับความต้องการของรัฐบาล

2.รัฐบาลพยายามให้สื่อมวลชน และการสื่อสารของประชาชนเป็นไปตามหลักอำนาจนิยม ในขณะที่สื่อมวลชนและประชาชนบางส่วนต้องการให้การสื่อสารเป็นไปตามหลักเสรีนิยม ซึ่งทำให้ทั้ง 2 ภาคส่วนไม่อาจทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมองข้ามหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม

3.สื่อมวลชนต้องการทำงานภายใต้การกดดันของนายทุน ทำให้บางองค์กรทำงานในลักษณะรับใช้นายทุน มากกว่ารับใช้สังคม

จิรชัย มูลทองโร่ย

4.สื่อมวลชนต้องการคะแนนนิยม ทำให้มีการนำเสนอข่าว โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง มุ่งสร้างคะแนนนิยม จนทำให้มีสาระที่ไม่เหมาะสม ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ เน้นความรวดเร็วมากกว่าความถูกต้องของข้อมูล ทำให้การสื่อสารเกิดความผิดพลาด และสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน

 

“ปัจจุบันสื่อมวลชนมีมาตรการในการกำกับดูแลกันเองในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่ามีผลตอบสนองต่อสังคมอย่างไร เพียงแต่บอกว่าได้มีการกำกับกันเอง แนะนำกันเอง และตักเตือนกันเอง ทั้งนี้ การที่สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเอง รัฐบาลให้ความคิดเห็นว่ายังไม่เพียงพอ ควรจะต้องนำคำว่า “ประชารัฐ” ตามที่ได้กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญมาใช้ คือให้รัฐบาล สื่อมวลชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความสมดุลในการกำกับดูแลสื่อมวลชน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนในปัจจุบันมีหลายประเภท การที่สื่อมวลชนจัดตั้งสมาคมหรือชมรมขึ้นมา ก็มักจะไม่สอดคล้องกัน เหมือนการที่สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นไปไม่ได้ จึงจำเป็นจะต้องมีการดูแลกันเองส่วนหนึ่ง โดยมีรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ” นายจิรชัยกล่าว

ไม่มีใครอยากเป็นจำเลย

ด้าน นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์ เวิร์คพอยท์ เห็นว่า คนทำงานด้านสื่อสารมวลชนส่วนใหญ่ต้องทำงานอยู่ใต้การควบคุมของบริษัทหรือองค์กร แต่ละวันจะต้องต่อสู้กันเรื่องเรตติ้ง ทั้งความนิยม และยอดของผู้ชม ซึ่งมีโลกออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลทีวีที่ทำให้สื่อหลายช่องจำเป็นต้องปรับแผนการทำงานให้เข้ากับปัญหาด้านการเงิน เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายรายปีจำนวนมหาศาล

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์

“ไม่มีใครอยากอยากตกเป็นจำเลยของสังคม ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทำให้สื่อมวลชนต้องทำงานเพื่อความอยู่รอดขององค์กร มีบ้างที่สื่อมวลชนนำเสนอในสิ่งที่อาจจะไม่เหมาะสมในสายตาของรัฐบาล นักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ในภาพรวมสื่อมวลชนยังคงนำเสนอในสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจและจำเป็นต้องรับรู้ แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ นักวิชาการ นักร่างกฎหมาย รัฐบาล หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชนด้วยกันเอง พยายามสร้างบรรยากาศในการลิดรอนสิทธิกันเอง” นภพัฒน์จักษ์กล่าว

นภพัฒน์จักษ์กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดของประชาชนคือเรื่องของปากท้องและการใช้ชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายและการทำงานของรัฐบาล ซึ่งทุกวันนี้สื่อมวลชนก็เข้าถึงข้อมูลได้ยาก สิทธิเสรีภาพก็มีน้อย ยังไม่นับปัญหาของการจัดเก็บข้อมูลซึ่งแทบจะไม่มี รวมไปถึงเรื่องความโปร่งใส

ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าสื่อมวลชนน้ำดีพอเข้ามาทำงานแล้วก็จะเจอกับปัญหาต่างๆ ทั้งกรอบจำกัด ความอยู่รอดในองค์กร และเรื่องสิทธิเสรีภาพ และบางครั้งข่าวใดที่สื่อมวลชนคิดว่าสำคัญ พอนำเสนอแล้วกลับไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร แต่พอเสนอข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจก็ได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี

ไม่ได้แปลว่าเรื่องที่มีผลตอบรับจากผู้ชมค่อนข้างดีนั้น เป็นเรื่องไม่ดีหรือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เรื่องนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญที่สุด

แต่อาจจะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตของประชาชน

‘การแทรกแซง’ เป็นเรื่องจำเป็น?

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีจุฬาฯ กำกับดูแลด้านสื่อสาร บริการสังคมและพันธกิจสากล ให้ความเห็นว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพกับกฎหมาย อาจตีความได้ในลักษณะของการปะทะกัน หมายถึงการต่อสู้กระทั่งนำไปสู่ผลแพ้ชนะ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชนะนั้นมักจะได้รับรางวัลต่างๆ ไปทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงความสมดุลกันของทั้งสองฝ่าย

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต

“ผู้ที่สามารถวางกฎเกณฑ์ในด้านสิทธิเสรีภาพให้สื่อมวลชนได้คือ ผู้ออกกฎหมาย โดยต้องคำนึงถึงด้วยว่ากฎหมายเหล่านั้นมีความจำเป็นในการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนมากน้อยอย่างไร อีกทั้งมีการจัดการกับกลไกตลาดที่เข้ามาครอบงำสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อที่ใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะ เช่น วิทยุและโทรทัศน์ ก็มักจะถูกคาดหวังและถูกกำกับดูแล จึงมีการจัดตั้ง กสทช. ขึ้นมาตรวจสอบดูแลการใช้ทรัพยากรให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

“กสทช.เข้ามากำกับดูแลเรื่องเนื้อหาที่มักมีการนำเสนอซ้ำๆ คือ เรื่องของเพศและความรุนแรง ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สามารถขายได้เสมอ กฎหมายก็มีความจำเป็นในการเข้ามากำกับดูแลในเรื่องนี้ โดยการปฏิรูปสื่อจะต้องขึ้นอยู่กับช่วงยุคสมัย ทั้งนี้ที่ผ่านมาการปฏิรูปสื่อของประเทศไทยมีมาแล้ว 3 ครั้ง และนี่คือครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยสื่อถูกระบุให้เป็น 1 ใน 11 ด้าน ของการปฏิรูปตั้งแต่ คสช.เข้ามาปกครองประเทศ ทั้งนี้ การปฏิรูปสื่อ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลด้านจริยธรรมของสื่อ โดยที่ผ่านมามองว่าสื่อไม่สามารถกำกับดูแลด้านจริยธรรมกันเองได้ จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้ามาช่วย ส่งผลให้สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อย เปลี่ยนภาพโปรไฟล์โดยมีคำว่า ‘หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน’ เพื่อคัดค้านการควบคุมสื่อ” ผศ.ดร.พิรงรองกล่าว

ถ้ามีปัญหาก็ต้องกำกับดูแล

ด้าน ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีนี้ตนตั้งประเด็นไว้ 4 เรื่องคือ 1.สื่อมวลชนมีหน้าที่อะไรบ้าง 2.ความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุม 3.วิธีการควบคุม 4.ผลที่เกิดจากการควบคุม

โดยหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้น ศ.ดร.นันทวัฒน์บอกว่า ทางนิเทศศาสตร์ระบุว่าสื่อมีหน้าที่นำเสนอข่าวเป็นหลัก คือ การนำเสนอข้อเท็จจริง มีความถูกต้อง และครบถ้วน โดยก่อนที่ประชาชนจะรับทราบข่าวสารได้ต้องผ่านข้อเท็จจริง ต่อมาคือการเสนอข้อคิดเห็นและการวิเคราะห์ตามหลักการที่ผู้เขียนถนัด นอกจากนี้ยังมีเรื่องความบันเทิง และสุดท้ายคือการทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ การโฆษณาต่างๆ

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

“เรื่องที่สื่อมักจะมีปัญหามากที่สุด ก็คือการนำเสนอข่าวและการเสนอข้อคิดเห็น หากย้อนไปดูข้อมูลในอดีต เท่าที่ค้นหาข้อมูลได้นั้นจะพบว่ายังไม่มีกฎหมายที่ใช้ในงานควบคุมสื่อโดยตรง มีเพียงกฎหมายข้างเคียงเท่านั้น เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพิมพ์ กฎหมายเรื่องภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และกฎหมายคอมพิวเตอร์ คำถามคือ แล้วจำเป็นอย่างไรที่ต้องมีกฎหมายในการควบคุมสื่อ หากดูว่าปัจจุบันนี้สื่อทำหน้าที่อะไร และสื่อที่บริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ นำเสนอข่าวที่มีผลกระทบมากเพียงใด และถ้ามีผลกระทบ มักจะกระทบเป็นวงกว้างขนาดไหน ทั้งนี้ หากพบว่าสิ่งที่มีปัญหาหรือสิ่งที่มีข้อผิดพลาดในเรื่องการนำเสนอข้อมูลนั้น มีผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ ประเทศชาติ และสังคม ก็ควรจะมีมาตรการในการกำกับดูแล” ศ.ดร.นันทวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ศ.ดร.นันทวัฒน์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันในประเทศไทย มีวิชาชีพอยู่ทั้งหมด 13 วิชาชีพ โดยทั้ง 13 วิชาชีพ มีองค์กรวิชาชีพที่คอยทำหน้าที่ควบคุม ดูแลกันเอง ซึ่งมีกลไกในการควบคุมการประกอบวิชาชีพต่างๆ เหล่านั้น ทุกวิชาชีพมีความเกี่ยวข้องกับประชาชน จำเป็นต้องซื่อสัตย์สุจริต และต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นปรปักษ์กับประชาชน

ฉะนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายมาเพื่อใช้กับผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ ทั้งนี้สื่อมวลชนเองก็เห็นด้วยว่า เป็นสิ่งที่ควรจะมี เพียงแต่ว่าจะกำหนดให้มีการกำกับดูแลในระดับใด

เป็นหลากหลายความเห็นที่ยังรอข้อสรุปที่เหมาะสม

 

 

บรรยากาศงานเสวนา “เสรีภาพสื่อและกฎหมาย : ความท้าทายในยุค 4.0”
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image