เผยทดลอง “ถ่ายเลือด” วัยรุ่นให้คนชราได้ผลดี

(ภาพ-Pixabay)

“แอมโบรเซีย แอลแอลซี” บริษัทสตาร์ตอัพในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการทดลองในงานประชุมวิชาการด้านวิทยาการและสื่อ “รีโค้ด คอนเฟอเรนซ์” ในนครลอสแองเจลิส เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าผลการทดลองถ่าย “น้ำเลือด” หรือ “บลัดพลาสมา” ของคนหนุ่มสาวให้กับผู้สูงอายุ มีผลต่อการปรับปรุง “สัญญาณเชิงชีวะ” หรือ “ไบโอมาร์กเกอร์” ที่เกี่ยวเนื่องกับหลายโรค อาทิ โรคอัลไซเมอร์, มะเร็ง และโรคหัวใจ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่นักวิชาการอิสระและนายแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทดลองของบริษัท เตือนให้ระวังการทดลองของบริษัทยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และอาจสร้างความคาดหวังผิดๆ เกิดขึ้น

นายเจสซี คาร์มาซิน ผู้ก่อตั้งแอมโบรเซีย กล่าวว่า ผลที่ได้จากการทดลองถ่ายน้ำเลือดที่ได้จากเลือดของคนหนุ่มสาวให้กับบรรดา “ลูกค้า” วัย “เกือบ 80 ปี” ที่เต็มใจจ่ายเงินให้กับบริษัทครั้งละ 8,000 ดอลลาร์ (ราว 265,000 บาท) ต่อการถ่ายเลือด 1 ครั้ง ให้ผลดีต่อร่างกายของผู้ได้รับ โดยมีหลักฐานจากการทดลองซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวในทางที่ดีขึ้นของสัญญาณหลายๆ ด้าน เช่น ระดับของ “คาร์ซิโนเอ็มบริโอนิค แอนติเจนส์” หรือ “ซีอีเอ” ซึ่งเป็นชนิดของโปรตีนที่พบว่ามีปริมาณสูงขึ้นในตัวผู้ป่วยเป็นมะเร็งบางชนิด กลับลดลงโดยเฉลี่ย 21 เปอร์เซ็นต์ หรือระดับของแอมีลอยด์ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำให้เกิดการก่อตัวของแผ่นคราบในสมองซึ่งเชื่อกันว่าเชื่อมโยงกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ก็ลดลงโดยเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคอเลสเตอรอลในเลือดก็ลดลงโดยเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลดังกล่าวได้จากการทดลองกับอาสาสมัครอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปให้ได้รับน้ำเลือดซึ่งได้จากผู้ร่วมทดลองอายุระหว่าง 16-25 ปี ในปริมาณ 2 ลิตร ภายใต้การควบคุมปริมาณให้เหมาะสมเพื่อให้หมดภายใน 4 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม คาร์มาซินยอมรับว่า การทดลองดังกล่าวยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการทดลองที่เป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้รู้ร่วมสาขาอาชีพหรือเพียร์เพอร์วิว และยังถือเป็นการทดลองอำพราง 2 ด้าน หรือ “ดับเบิล-บลายด์ สตัดดี้” ที่มีการอำพรางข้อเท็จจริงต่อผู้ร่วมอยู่ในการทดลองจนไม่สามารถแยกแยะความเอนเอียงที่เกิดขึ้นระหว่างการทดลองได้อีกด้วย

Advertisement

เนื่องจากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยว ชาญภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทดลอง ระบุว่า ข้อมูลของแอมโบรเซียต้องถือเป็นข้อมูลเคลือบแคลงเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์โดยสมบูรณ์ยืนยัน

นายแพทย์โทนี่ ไวส์-คอเรย์ ศาสตรา จารย์ด้านประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเตือนเช่นเดียวกันว่า ผลลัพธ์ที่ได้ของแอมโบรเซียแม้จะน่าสนใจแต่ยังไม่มีคุณค่าในเชิงวิทยาศาสตร์

และน่าวิตกว่าอาจก่อให้เกิดความคาดหวังผิดๆ ในตัวผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากๆ ได้อีกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image