ปัญหาโรฮีนจาพิสูจน์ให้เห็น ความไร้น้ำยาของอาเซียน : โดย ลลิตา หาญวงษ์

หลังการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 31 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ สิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน โดยเฉพาะที่มีการเผยแพร่ร่างแถลงการณ์ของ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์และประธานอาเซียนในปีนี้ ที่กล่าวต่อที่ประชุมอาเซียน ทั่วโลก
จับตามองแถลงการณ์นี้เพราะมองว่าการประชุมอาเซียนจะร่วมกันหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาชาว
โรฮีนจาในรัฐยะไข่ของพม่าได้ แต่แถลงการณ์ที่ออกมามีแต่ความว่างเปล่า และกล่าวถึงปัญหาโรฮีนจาแบบขอไปที เห็นได้ชัดเจนว่าอาเซียน “เกรงใจ” พม่า และพยายามประคับประคองพม่าในเวทีอาเซียนแบบ
บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น แนวทางของอาเซียนสวนทางกับถ้อยแถลงของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เพิ่งประณามเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่อย่างรุนแรง และเรียกร้องให้พม่ายุติปฏิบัติการทางการทหารในรัฐยะไข่ และให้เริ่มการเจรจาส่งตัวชาวโรฮีนจากลับสู่พม่า

อาเซียนมีนโยบายไม่ก้าวก่ายการเมืองภายในของประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นแนวคิดตรงกันข้ามกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ อย่างสหประชาชาติ ฯลฯ ที่มองว่าการส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักการสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และพยายามกระตุ้นให้อาเซียนหันมาใส่ใจหลักปฏิบัติสากลว่าด้วยความเท่าเทียม แต่จากถ้อยแถลงในอาเซียนซัมมิท
ครั้งนี้ อาเซียนกลับอ้างว่าตนยืนอยู่เคียงข้าง อองซาน ซูจี และรัฐบาลพม่าในการให้ความช่วยเหลือ
เท่าที่จะทำได้เพื่อแก้ปัญหาภายในของพม่า และเชื่อมั่นว่าการคอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ นั้นย่อมดีกว่าการสร้างความตึงเครียดระหว่างผู้นำพม่าและอาเซียน

รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นอ้างว่า อาเซียนจะหันไปให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือวิกฤตการณ์ในรัฐยะไข่ผ่านศูนย์ประสานงานสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Humanitarian Assistance Centre) ที่เปิดตัวไปในปลายปี 2011 (พ.ศ.2554) อาเซียนเองไม่มีวาระที่แน่ชัดว่าจะแตะประเด็นเรื่องโรฮีนจาอย่างไร และที่สำคัญคืออาเซียนไม่มีคำตอบว่าต้องการเจรจากับพม่าในประเด็นนี้ไปเพื่ออะไร เพราะนอกจากนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันที่เป็นชนักติดหลังอาเซียนอยู่แล้ว ชาติสมาชิกเองคงไม่ได้มองว่าปัญหาโรฮีนจาเป็นอุปสรรคต่อการค้าและความร่วมมือกันในระดับอาเซียน นอกจากนี้ ทัศนคติต่อต้านสหรัฐอเมริกา ความพยายามดิสเครดิตหลักการประชาธิปไตยสากล และหลักสิทธิมนุษยชน ที่พบมากขึ้นทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นในฟิลิปปินส์ที่เพิ่งมีการนัดชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน หรือการเมินเฉยของรัฐบาลพม่าต่อกรณีความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงต่อชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้นำในภูมิภาคของเรานี้เริ่มถอยห่างจากหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

Advertisement

อาจมีเพียง โจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซียเท่านั้นที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาโรฮีนจาไม่ใช่ปัญหาภายในของพม่า แต่ยังมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อความมั่นคงในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามามีบทบาทของชาวมุสลิมสุดโต่งและขบวนการก่อการร้ายและการค้ามนุษย์ที่เคยมีให้เห็นกันมาแล้ว นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเสนอตัวเป็นคนกลางร่วมหารือกับพม่าและบังกลาเทศเกี่ยวกับการส่งชาวโรฮีนจากลับพม่าในอนาคต ด้านไทย เพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับพม่ายาวที่สุดกลับเลือกสงวนท่าที ไม่มีคอมเมนต์ใดๆ ที่จะสร้างความขุ่นข้องใจให้กับรัฐบาลพม่า รัฐบาลไทยแสดงออกมาชัดเจนว่าเลือกอยู่ข้างรัฐบาลและกองทัพพม่า เห็นได้จากการยอมรับตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลพม่าให้เรียกชาวโรฮีนจาว่า “เบงกาลี”

ท่าทีกลางๆ ที่ชาติสมาชิกในอาเซียนมีต่อรัฐบาลพม่า และเลือกที่จะอยู่ห่างๆ ประเด็นเรื่องโรฮีนจานี้อาจมีที่มาจากเหตุผลที่ว่าอาเซียนให้ความสำคัญกับหลักการว่าด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) และการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรกๆ ที่ผ่านมา รัฐบาลและกองทัพพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่มาโดยตลอด กองทัพพม่าก็เพิ่งออกรายงานฉบับหนึ่งออกมาและยืนยันว่าในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมาหลายเดือน “ไม่มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต” และยังปฏิเสธข้อกล่าวหาอื่นๆ ทั้งการปล้น ฆ่า ข่มขืน และเผามัสยิด

ในรายงานฉบับเดียวกันกล่าวว่า ความรุนแรงตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมามีชาว “เบงกาลี” เสียชีวิตไปเพียง 376 คน ซึ่งในจำนวนนี้ทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้ายจากกลุ่ม ARSA จริงอยู่ว่าชาติสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่คงจะไม่เชื่อรายงานของกองทัพพม่าฉบับนี้ และคงยากที่จะเชื่อถ้อยแถลงของออง ซาน ซูจี ที่ว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ไม่มีอยู่จริงในพม่า แต่อาเซียนก็จำเป็นต้องไว้ใจพม่า และปล่อยให้พม่าแก้ปัญหาภายในประเทศของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก จึงไม่น่าแปลกใจว่าประเด็นเรื่องโรฮีนจาจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ของประธานาธิบดีดูแตร์เต แถลงการณ์กล่าวถึงประเด็นโรฮีนจาสั้นๆ และมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ภัยพิบัติ” ในอาเซียน ที่ชาติสมาชิกต้องให้การช่วยเหลือ แต่มิได้กล่าวถึงว่าปัญหาโรฮีนจาคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ที่โหมกระพือขึ้นด้วยอคติด้านชาติพันธุ์-ศาสนา และปัญหาทางการเมืองในพม่า

Advertisement

การจัดอาเซียนซัมมิทในฟิลิปปินส์ในปีนี้ ภายใต้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในฟิลิปปินส์และในประเทศอื่นๆ ที่ตกต่ำอย่างรุนแรง ทำให้ผู้นำอาเซียนไม่ต้องการนำประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาหารือ ประธานาธิบดีดูแตร์เตยังสามารถดำเนินนโยบายสงครามยาเสพติดของตนได้ต่อไปโดยไม่มีชาติสมาชิกใดในอาเซียนทักท้วง รัฐบาลพม่ายังสามารถปล้นฆ่าชาวโรฮีนจาได้โดยไม่มีใครในอาเซียนตั้งคำถาม โดยให้เหตุผลว่า “เป็นเรื่องภายในของพม่าที่พม่าต้องจัดการ” จริงอยู่ว่าจุดเน้นของอาเซียนอยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกัน แต่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงเพียงนี้ สถานการณ์ในรัฐยะไข่ชี้ให้เห็นความไร้น้ำยาของอาเซียน ในการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในภูมิภาค เท่ากับว่าในบรรดาเสาหลักของอาเซียนที่ประกอบด้วยด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม-วัฒนธรรม อาเซียนพอจะมีน้ำยาอยู่บ้างเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียนจึงไม่ต่างกับ “ผักชีโรยหน้า” ซึ่งกลายเป็นเวทีให้ผู้นำของแต่ละประเทศสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศของตนในเวทีระดับนานาชาติ ชาติสมาชิกพยายามประคับประคองความสัมพันธ์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนภายในภูมิภาคในลักษณะประคองตัว ชี้ให้เห็นวัฒนธรรมร่วมในภูมิภาคว่าแต่ละชาติล้วนมีความเกรงใจให้แก่กัน และโอบอุ้มกันอยู่ด้วยระบบอุปถัมภ์แบบเตี้ยอุ้มค่อม ทำให้ผู้เขียนรำลึกถึงคำกล่าวของเพื่อนนักการทูตคน
หนึ่งที่ว่าอาเซียนไม่สามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในภูมิภาคได้จริง เพราะแต่ละประเทศย่อมรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

การประชุมในระดับอาเซียนจึงเป็นการประชุมแบบขอไปที ซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงประเด็นละเอียดอ่อนของแต่ละประเทศ อาเซียนซัมมิทก็ไม่ต่างอะไรกับการประชุมตามวาระให้เสร็จๆ ไป และไม่ลืมที่จะเป็นเวทีสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอำนาจนิยมที่พบได้ทั่วไปในภูมิภาคนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image