รายได้ประชาชาติ น่าเชื่อถือ และน่าใช้มากกว่าGDP โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

๑.
ใกล้สิ้นปีแล้วและเตรียมต้อนรับปีใหม่ ถึงฤดูกาลพยากรณ์ GDP ว่าในปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตมากน้อยเพียงใด สื่อมวลชน-หน่วยธุรกิจและประชาชนให้ความสนใจมาก นำไปอ้างอิงกันต่อ การพยากรณ์ทำนองนี้จัดทำโดยหลายหน่วยงาน ซึ่งน่าสนใจและมีประโยชน์ อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอเสนอว่า แทนที่จะรายงานเฉพาะตัวเลข GDP เราควรสนใจ “รายได้ประชาชาติ” (National Income) พร้อมกับขยายความเหตุผลว่าทำไมจึงเสนอข้อคิดเช่นนี้

๒.
GDP มาจากคำว่า Gross Domestic Products
วัดมูลค่าเพิ่มของการผลิตในประเทศไทยจากภาคเกษตร-อุตสาหกรรม-บริการ แต่มีข้อควรระวังคือ
หนึ่ง มูลค่าผลผลิตรวมกิจการของคนไทยและต่างชาติ ที่มาทำมาหากินในประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่ง (มูลค่าหลายแสนล้านบาท) ถูกโอนกลับไปยังประเทศแม่ ในรูปของกำไร-เงินปันผล-ค่าลิขสิทธิ์ สอง กระบวนการผลิตใดๆ ย่อมมีค่าเสื่อม ตามหลักบัญชีประชาชาติเราจำเป็นต้องหักค่าเสื่อมออก จึงจะสะท้อนผลผลิตสุทธิหรือรายได้ จึงใช้คำคุณศัพท์ Gross ใน GDP ความจริงมีตัวชี้วัดที่ดีกว่านั่นคือ NNP = Net National Products ซึ่งสะท้อนผลผลิตสุทธิ รายได้ประชาชาติ จะนำไปคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้คนไทยก็ดี น่าเสียดายที่ตัวเลข NI ไม่ถูกอ้างอิงแพร่หลายเท่ากับ GDP

ผู้เขียนสืบค้นข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2558 เพื่อแสดงว่า GPP และ รายได้ประชาชาติ (NI) นั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

-GDP = 13 ล้านล้านบาท ปี 2558
-รายได้ประชาชาติ NI = 9.3 ล้านล้านบาทในปีเดียวกัน
-ความแตกต่างของตัวเลขเท่ากับ 3.7 ล้านล้านบาท มาจากรายการใด? หนึ่ง การหักค่าเสื่อมราคา มูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท สอง การโอนรายได้สุทธิออกไปต่างประเทศ หมายถึง ดอกเบี้ย ค่าลิขสิทธิ์ กำไร มูลค่ารวมกันมากกว่า 7 แสนล้านบาท
-GDP เมื่อหารด้วยจำนวนประชากร กลายเป็น GPP per capita = 203,356 บาท/คน
-รายได้ประชาชาติ/หัว NI per capita = 137,899 บาท/คน

Advertisement

๓.
ในโอกาสนี้ขอขยายความว่า NI น่าเชื่อถือกว่า GDP ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก รายได้ประชาชาติสะท้อนความสามารถการผลิตของประเทศที่สมบูรณ์กว่า GDP ประการที่สอง รายได้ประชาชาติ สะท้อน “การกระจายรายได้” ระหว่างคนสองกลุ่ม คือ แรงงานหรือมนุษย์เงินเดือน กับ ฝ่ายเจ้าของทุน

ขออ้างอิงนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก โทมัส พิเก็ตตี้ ชาวฝรั่งเศสที่ทำงานวิจัยอย่างลึกซึ้งและยาวนานเกี่ยวกับการเจริญเติบโตและการกระจายรายได้จากหลายสิบประเทศ เขาเขียนบทความสั้นชื่อว่า Enough of GDP, let’s go back to National Income บทความนี้รวมตีพิมพ์ในหนังสือชื่อว่า Chronicles on Our Troubled Times เผยแพร่ในปี 2016 พิเก็ตตี้ได้สะท้อนทรรศนะของท่าน
เกี่ยวกับการจัดการระบบเศรษฐกิจ เป็นบทความสั้น 3-4 หน้า อ่านสนุก พูดตรงประเด็น ไม่วกวน ไม่ใช้ภาษาวิชาการ บทความทั้งหมดสะท้อนปัญหาการจัดการระบบเศรษฐกิจยุคสมัยความยุ่งยาก (ท่านหมายถึงภาวะเศรษฐกิจซบเซาปี 2008 เป็นต้นมา)

รายได้เงินโอนระหว่างประเทศสุทธิ คำว่าสุทธิ หมายความว่ามีตัวเลข 2 ด้าน บวกและลบ รายการที่หนึ่ง คือ รายได้ที่คนไทยไปทำงานหรือประกอบกิจการในต่างประเทศ โอนกลับเข้าประเทศไทย เป็นค่าบวก รายการที่สอง คือ กำไร-ดอกเบี้ย-ค่าลิขสิทธิ์-เงินปันผลที่คนต่างชาติโอนกลับไปยังประเทศแม่ เป็นค่าลบ ประเด็นสำคัญที่จะสื่อสารคือ แนวโน้มของรายได้เงินโอนสุทธิ ติดลบเพิ่มขึ้น ช่วงปี 2551-2554 ตัวเลขแกว่งในช่วง 3-4 แสนล้านบาท เปรียบเทียบกับในช่วงหลังคือ 2555-2558 เพิ่มขึ้นเป็น 6-8 แสนล้านบาท

Advertisement

ตัวเลขข้างต้นสะท้อนความเป็นโลกาภิวัตน์ต่อเศรษฐกิจไทย คือ การไหลเข้า-ออกของเงินทุนข้ามพรมแดนประเทศอย่างเสรี ถามว่าลักษณะเช่นนี้ดีหรือไม่? ฝ่ายเสรีนิยมสุดสุด มองว่า เป็นธรรมดา เมื่อกำหนดกติกาของโลกอย่างนี้–ก็เป็นเช่นนี้เอง และ ฝ่ายที่เห็นแย้ง มองว่าเสรีของเงินทุนก่อให้เกิดผลเสีย-หรือผลกระทบภายนอกที่ไม่พึงปรารถนา ควรจะระบบกีดกันหรือให้มีอุปสรรค ผู้เสนอแนวคิดคนหนึ่งคือ James Tobin เป็นปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล เสนอว่า ควรจะเก็บภาษีการไหลเข้า-ออกของ
เงินทุน จึงเรียกว่า Tobin tax และมีหลายคนยอมรับแนวความคิดเช่นนี้ได้เสนอว่าควรจะเก็บภาษีในอัตราเท่าใด เพื่อเป็นกองทุนเยียวยาปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระบบการเงินโลก

โทมัส พิเก็ตตี้ คงเห็นพ้องกับแนวคิดของ เจมส์ โทบิน เขาเลือกใช้คำว่า globalized capitalism gone mad และเขียนเสนอสูตร r > g r=อัตราผลตอบแทน ให้นายทุน g=อัตราการเจริญเติบโตของระบบ
เศรษฐกิจ อสมการนี้สื่อความว่า ผลตอบแทนของนายทุน สูงกว่าอัตราการเติบโต อีกนัยหนึ่ง ยิ่งนานไปรายได้เข้ากลุ่มทุนเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม รายได้ที่จะตกกับกลุ่มแรงงานลดน้อยถอยลง ซึ่งเป็นแนวโน้มน่าเป็นห่วง ความก้าวหน้าของวิทยาการใหม่ อาทิคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต การบิน ฯลฯ แม้ว่าเป็นผลดีต่อส่วนรวม แต่ทำให้ “การจ้างงาน” และ “โอกาสการมีงานทำ” ลดลง มีผลงานวิจัยจากหลายประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณว่า รายได้ของมนุษย์เงินเดือนมีสัดส่วนลดน้อยถอยลงในบัญชีประชาชาติ “นี่มิใช่สัญญาณที่ดีนักสำหรับมนุษย์เงินเดือนซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ธนาคารโลกได้เตือนให้ผู้บริหารประเทศใช้ยุทธศาสตร์ ‘การเติบโตโดยที่ไม่ทอดทิ้งกัน’ (inclusive growth)” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ลึกซึ้งไพเราะและเชิง
ปลอบใจ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงอาจจะเป็นตรงกันข้าม เข้าทำนองรวยกระจุก-จนกระจาย

ในยุคนี้คนไทยเราพูดถึงยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 กันมาก ตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเจริญเติบโต หลุดพ้นจาก “กับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง” จนเคลิ้ม 4.0 ไปทั้งประเทศ แต่เราอย่าลืมวลีว่า “ไม่ทอดทิ้งกัน” ในปี 2561 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้กำหนดชุดโครงการวิจัยว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ พร้อมประกาศเชิญชวนให้นักวิจัย ค้นคว้าความเหลื่อมล้ำในประเด็นต่างๆ คนจน-เด็กยากจน-ผู้สูงอายุที่แร้นแค้นขาดแคลน-ผู้ไม่มีหลักประกันทางสังคมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่-ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ ใน 1-2 ปีข้างหน้าคงจะมีรายงานวิจัยดีๆ ให้อ่านกัน

๔.
จั่วหัวของบทความสื่อสารว่า เราน่าจะอ้างอิงรายได้ประชาชาติ (NI) อย่าสนใจแต่เพียง GDP เท่านั้น ขอย้ำว่า นี่เป็นข้อเสนออย่างจริงจัง เพื่อนๆ นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงาน “บัญชีประชาชาติ” รวมทั้งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองช่วยกันอ้างอิง “รายได้ประชาชาติ” ให้มาก

เราจะได้แง่คิดดีๆ จากการวิเคราะห์ตัวเลขรายได้ประชาชาติอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image