สภา มนพ.อุทธรณ์ศาลสูงสุดแจงขั้นตอนออกข้อบังคับรอบคอบ ‘ภาวิช’ ชี้ สตง.ให้สอบวินัย-อาญา-แพ่ง ‘สุวิทย์’

 

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายสุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) ระบุว่า ศาลปกครองอุดรธานีได้อ่านคำพิพากษาให้ยกเลิกข้อบังคับ มนพ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยต่อผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร พ.ศ.2558 เนื่องจากเป็นข้อบังคับที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนมติ และคำสั่งที่ 035/2558 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2558 เรื่องให้พนักงาน หรือนายสุวิทย์ออกจากงานไว้ก่อน ทั้งนี้ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ข้อบังคับมีผลบังคับใช้เพื่อมีมติ และคำสั่งดังกล่าว นั้น ศาลปกครองอุดรธานีมีคำสั่งดังกล่าวจริงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน โดยตนให้ฝ่ายกฎหมายของ มนพ.วิเคราะห์ และนำเข้าหารือต่อสภา มนพ.ในการประชุมวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าประเด็นที่ศาลปกครองอุดรธานีใช้เป็นเหตุผลประกอบการวินิจฉัยนั้น มีข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ยกขึ้นโต้แย้งได้หลายประการ ที่ประชุมจึงมีมติให้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองอุดรธานี ไปยังศาลปกครองสูงสุดต่อไป

“ศาลปกครองอุดรธานี วินิจฉัยว่าสืบเนื่องจากการประชุม ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558 สภา มนพ.ได้ประชุมในวาระเพื่อพิจารณาออกข้อบังคับว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยต่อผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร พ.ศ. … ซึ่งศาลเห็นว่าที่ประชุมไม่ได้ลงมติรับวาระนี้เพื่อบรรจุเข้าในวาระการประชุมไว้ก่อน แต่สภากลับพิจารณา และลงมติรับข้อบังคับดังกล่าวเลย ศาลจึงเห็นว่าการพิจารณาเพื่อออกข้อบังคับตามวาระดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ข้อบังคับที่สภาประกาศใช้โดยเป็นผลมาจากการประชุมนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นผลให้การใช้ข้อบังคับดังกล่าวเพื่อออกคำสั่งให้นายสุวิทย์ออกจากงานไว้ก่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ศาลจึงมีคำสั่งเพิกถอนทั้งข้อบังคับดังกล่าว และมติของสภา มนพ.ที่อาศัยข้อบังคับนั้น และคำสั่งที่ให้นายสุวิทย์ออกจากงานไว้ก่อน ซึ่งการพิจารณาของศาลปกครองอยู่บนพื้นฐานของการที่ศาลเห็นว่ากระบวนการออกข้อบังคับของสภา มนพ.ไม่ถูกต้อง จึงทำให้ข้อบังคับดังกล่าวต้องตกไป โดยที่ศาลไม่ได้พิจารณาในรายละเอียดต่างๆ ที่ทั้งฝ่ายผู้ฟ้อง และผู้ถูกฟ้อง ยกมาโต้แย้งกัน” นายภาวิช กล่าว

นายภาวิชกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สภา มนพ.พิจารณาแล้วเห็นว่าสภาได้ดำเนินการถูกต้องแล้ว เนื่องจากในการพิจารณาของสภา ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ และได้แก้ไขข้อบังคับหลายข้อเพื่อให้ข้อบังคับสมบูรณ์ที่สุด โดยมีประเด็นที่ควรขอให้ศาลทบทวนการพิจารณาได้ เช่น การประชุมเพื่อพิจารณาการออกข้อบังคับดังกล่าว เป็นเรื่องที่นำเสนอเพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมได้ แม้ที่ประชุมจะไม่ได้ยกมือเพื่อลงมติรับเป็นวาระเสียก่อน แต่ในทางปฏิบัติที่ได้เกิดขึ้นจริง ที่ประชุมได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบครอบโดยใช้เวลานาน ทั้งยังลงมติแก้ไขข้อความจากต้นร่างเดิมบางส่วน ในที่สุดมีการลงมติขั้นสุดท้ายให้ตราเป็นข้อบังคับเพื่อประกาศใช้ต่อไป จึงจะเห็นว่าโดยพฤตินัย ที่ประชุมได้รับวาระดังกล่าวเพื่อการพิจารณาแล้ว ดังนั้น สภา มนพ.จึงมีมติให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองอุดรธานี ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

Advertisement

นายภาวิชกล่าวต่อว่า ส่วนที่นายสุวิทย์ระบุว่าตนมีปัญหากับนายสุวิทย์ขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ในทางตรงกันข้าม ตนเป็นผู้ชักชวนให้นายสุวิทย์เข้ามารับตำแหน่งอธิการบดี มนพ.และสนับสนุนมาโดยตลอด ทั้งในการได้รับคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่ง และการปฏิบัติงาน แต่ต่อมานายสุวิทย์ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่โดยคณะกรรมการประเมิน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการประเมินในช่วงปีที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งอธิการบดี มนพ.ในวาระที่ 2 ตนจึงจำเป็นที่ต้องเสนอเรื่องเพื่อให้สภา มนพ.พิจารณา ประกอบกับในขณะนั้นได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นหลายอย่าง ซึ่งบางเรื่องสร้างความเดือดร้อนให้นักศึกษาจำนวนมาก เช่น กรณีที่มีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาครุศาสตร์กว่า 300 คนร้องเรียน เนื่องจากครุสภาปฏิเสธการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้ เนื่องจากหลักสูตรไม่ผ่านการอนุมัติของสภา ถือเป็นหลักสูตรเถื่อน แต่เปิดดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยซึ่งนายสุวิทย์เป็นอธิการบดี แต่ไม่เคยขออนุมัติต่อสภา และเป็นการจัดหลักสูตรนอกสถานที่ที่ จ.บึงกาฬ โดยผิดหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดจริงตามที่คุรุสภากล่าวหา ทำให้สภาต้องลงไปช่วยแก้ไขโดยพยายามเจรจากับครุสภา สุดท้ายนักศึกษาเหล่านี้ต้องฝึกสอนต่ออีก 1 ปี โดยสภาเห็นว่าไม่ใช่ความผิดของนักศึกษา จึงให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบโดยออกค่าใช้จ่ายให้คนละ 7,000 บาท และต้องเรียกเงินในส่วนนี้คืนจากนายสุวิทย์ เพราะถือว่า มนพ.ได้รับความเสียหายจากการบริหารงานของนายสุวิทย์ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการจัดการเรียนนอกสถานที่กรณีอื่นๆ อีก ที่ดำเนินการผิดทั้งด้านกฎระเบียบ และด้านการเงิน ที่ศูนย์การเรียนนอกสถานที่ที่ จ.กาฬสินธุ์

“ที่นายสุวิทย์อ้างว่าการดำเนินการทางวินัยต่ออธิการบดีเป็นอำนาจของเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นั้น กฎหมายระบุให้เลขาธิการ กกอ.มีอำนาจในการบังคับบัญชา และดำเนินการทางวินัยได้เฉพาะอธิการบดีที่เป็นข้าราชการเท่านั้น กรณีของอธิการบดีที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้เป็นอำนาจสภามหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งได้ตราข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งกรณีนายสุวิทย์ ในขณะนั้นไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่มีสถานภาพเป็นพนักงานของ มนพ.” นายภาวิช กล่าว

นายภาวิชกล่าวอีกว่า ที่นายสุวิทย์อ้างว่าถูกกล่าวหาว่าทุจริต และประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่นั้น เรื่องนี้อยู่ในขั้นที่เป็นคดีความ จึงให้รายละเอียดไม่ได้ แต่ชี้แจงเบื้องต้นได้ว่ารายละเอียดของกรณีดังกล่าว ปรากฏอยู่ในผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายสุวิทย์ ที่สภาได้แต่งตั้งขึ้น ซึ่งให้ความเป็นธรรมต่อนายสุวิทย์โดยใช้กรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกทั้งหมด และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานบริหารบุคคลระดับอดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นประธาน รวมทั้ง ในหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุวิทย์ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มนพ.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แจ้งผลการตรวจสอบมายัง สภา มนพ.โดยให้ดำเนินการทางวินัย คดีอาญา และคดีแพ่งกับนายสุวิทย์ และผู้เกี่ยวข้อง อีกทั้ง ขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้ดำเนินไปสู่ชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image