เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้โล่ง หลังผู้ต้องหาบึ้มภูทับเบิกถูกรวบ ชี้ยังเฝ้าระวังใกล้ชิด

วันที่ 16 พฤศจิกายน นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงกรณีทีมสืบสวนจับกุมนายมา วงศ์ทับเบิก ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดหล่มสัก คดีวางระเบิดบริเวณสามแยกทางเข้าภูทับเบิกเป็นผลสำเร็จว่า กรณีนายมา แม้จะปฏิเสธไม่ได้กระผิดตามข้อกล่าวหาก็ตาม แต่เมื่อขบวนการสืบสวนสอบสวนโยงใยไปถึงจนสามารถออกหมายจับได้ ก็ถือว่าเป็นดุลพินิจของศาลที่พอจะชี้ชัดได้ ซึ่งขบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ทางเจ้าหน้าที่รู้สึกมีความปลอดภัยขึ้นและคงจะทำงานต่อไปด้วยความปลอดโปร่งคลายความกังวลมากขึ้น นอกจากนี้ ก็เชื่อว่ายังจะทำให้ผู้ที่คิดจะต่อต้านได้รับผลหรือถูกการบังคับใช้กฎหมาย จากขบวนการยุติธรรมที่จะตามมาหากใช้ความรุนแรง

“ได้หารือกับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ท่านก็ให้ข้อแนะนำว่าอันไหนที่เป็นไปตามคำสั่งที่ 35/59 ที่ต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่อย่างไรก็ตามทางเราก็คงไม่ประมาทและคงต้องจัดเจ้าหน้าที่ลงหาข่าวพร้อมเช็คกระแสและข้อมูลว่า หลังการจับกุมผู้ต้องหารายนี้แล้วคนในพื้นที่มีปฎิกริยาอย่างไรบ้างจะมีการต่อต้านหรือไม่ โดยสรุปเราต้องเฝ้าระวังเหมือนเดิม เพียงแต่ทางเจ้าหน้าที่และคนทำงานมีความรู้สึกดีขึ้น เพราะเห็นว่ามีขบวนการยุติธรรมมีหลายหน่วยงานเข้ามาคุ้มครอง ทำให้เราทำงานได้ดีขึ้นรู้สึกสบายใจอบอุ่นใจมากขึ้น” นายอรรถพลกล่าว

นายอรรถพล ยังกล่าวถึงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกรื้อถอนไปแล้วนั้นตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาภูทับเบิกปี 2560-2565 ซึ่งผ่านความเห็นชอบ ครม.ไปเรียบร้อยแล้วว่า ตอนนี้จะพยายามเคลียร์วัสดุสิ่งก่อสร้างที่ยังเหลือตกค้างออกจากพื้นที่ให้หมดก่อน แต่ทั้งนี้หากบางพื้นที่หากมีศักยภาพให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน มาทำเป็นสินค้าโอท็อปหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนก็จะมีการจัดพื้นที่ตรงนี้ให้ โดยประเด็นนี้ได้พูดคุยกับทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการไว้แล้ว

นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนการบังคับใช้กฎหมายเนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวก็จะใช้วิธีการเจรจาก่อน โดยจะพยายามคุยให้จบในส่วนของรีสอร์ต 50+5 ราย ที่เป็นพื้นที่ผ่อนปรนและเป็นม้งเดิมให้ไปดำเนินการไปตามแผนแม่บทและไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.โรงแรม โดยเป็นลักษณะโฮมสเตย์มีห้องพักไม่เกิน 4 ห้อง และสิ่งปลูกสร้างก็ต้องอยู่ภายในมาตรฐานวิศวกรรมโยธาซึ่งทางกรมโยธาธิการฯและทางจังหวัดกำลังดำเนินการอยู่

Advertisement

“สำหรับรีสอร์ตม้งเดิม 50+5 รายเราต้องการให้มีการปรับโครงสร้างให้ถูกกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ฉะนั้นผู้ประกอบการเจ้าของเหล้านี้ต้องเข้าใจและต้องยอมอยู่ในเงื่อนไขกติกา ส่วนรายไหนที่ก่อสร้างมากเกินไปและเกินมาตรฐานก็ต้องยอมรับความจริง เพราะจะอยู่กันแบบไม่มีกติกาไม่ได้”

นายอรรถพล กล่าวถึงกรณีที่มีชาวม้งในพื้นที่อ้างเรื่องความไม่เท่าเทียม หลังสร้างรีสอร์ตไม่ได้เหมือนรีสอร์ต 50 รายว่า เรื่องของการคัดกรองเป็นความรับผิดชอบของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) เพราะกรมป่าไม้ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นม้งเดิมซึ่งตอนแรกที่คัดกรองมา 50 รายก็คิดว่าตัวเลขนี้นิ่งแล้ว แต่ภายหลังมีเพิ่มก็ไม่เป็นเพราะทาง พส.เป็นผู้รับรอง แต่การจะอ้างเป็นเด็กดื้อหรือเด็กดีนั้นกรรมเป็นตัวชี้เจตนาในสิ่งที่ตนเองทำ เราไม่แบ่งแยกจะเป็น 50+5 รายหรือนอกเหลือกว่านั้น แต่จะต้องดูว่าปฏิบัติไปตามระเบียบมาตรฐานโยธาหรือไม่ หรือเป็นชาวม้งเดิม และสืบสวนแล้วไม่เป็นนอมินีทำธุรกิจแทนนายทุนหรือเปล่าตรงนี้จะสำคัญกว่า

“นอกจากนี้ ยังต้องไปดูการจัดโซนนิ่งตามแผนแม่บทอีก หากเป็นพื้นที่ในโซนที่ทำธุรกิจได้ก็คงดำเนินการได้แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขกติกาข้อกำหนดตามแผนแม่บทเช่นเดียวกัน เพราะหากทุกคนสร้างกันหมดจนเต็มพื้นที่ก็ไม่เป็นการจัดระเบียบให้เป็นไปตามแผนแม่บท เพราะตามแผนฯจะระมัดระวังพื้นที่ไหนมีความลาดชันสูง บริวณไหนต้องฟื้นฟูให้เป็นป่าและเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ฉะนั้นจึงต้องไปดูว่าที่ดินของตนเองอยู่ในโซนนิ่งไหนและต้องปฎิบัติไปตามโซนนิ่งนั้น” นายอรรถพล กล่าว

Advertisement

รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า หากไปอยู่ในโซนเกษตรก็ทำการเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวได้โดยไม่จำเป็นต้องไปสร้างรีสอร์ต ไม่เช่นนั้นหากทุกคนสร้างรรีสอร์ต สร้างเกสต์เฮาส์กันทั้งภูทับเบิกถามว่า คนมาเที่ยวจะดูอะไรเพราะมีแต่อาคารที่พักผุดเป็นดอกเห็ดจนเต็มพื้นที่ ก็จะทำให้เสียหายเหมือนเดิมไม่มีประโยชน์ ประเด็นนี้ที่ผ่านมาก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ภาคราชการต้องจัดระเบียบการใช้พื้นที่ภูทับเบิก สำหรับในส่วนรีสอร์ตม้งเดิม 50+5 รายก็เช่นกัน หากมีการตรวจสอบพบในภายหลังว่า ทำผิดเงื่อนไขหรือไม่มีคุณสมบัติเป็นนอมินี ก็ต้องถูกรื้อถอนและถูกดำเนินคดีเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image