เฉย = ช่วยทำร้าย หยุดเพิกเฉยต่อความรุนแรง

เรื่องสามีภรรยา

เดี๋ยวก็กลับไปดีกัน

ไม่อยากเป็นพยานในชั้นศาล

กลัวโดนลูกหลง

Advertisement

ทั้งหมด คือหลากเหตุผลที่ทำให้คนไทยทั่วไป เลือกที่จะไม่ยื่นมือไปช่วยผู้หญิงที่กำลังถูกกระทำความรุนแรง ส่งผลให้ผู้หญิงและเด็กหลายคน ยังคงถูกกระทำความรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ไม่ว่าจะด้วยจากคนในครอบครัว หรือคนร้ายก็ตาม

จากสถิติที่ผ่านมา มีผู้หญิงถูกทำร้าย ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557- 31 กันยายน 2558 มีภรรยาถูกสามีทำร้าย 10,710 ราย ถูกกระทำโดยแฟน 13,265 ราย และจากสถิติของมูลนิธิเพื่อนหญิง ที่ได้รวบรวมสถิติเคสที่เข้ามารับบริการขอคำปรึกษา ตั้งแต่ปี 2555-2558 มีถึง 2,447 ราย

ซึ่งจากข้อมูลที่ บัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิงให้ไว้นี้ มีถึง 80% ของเคสต่างๆ ที่มีผู้พบเห็นแต่เลือกที่จะเฉย ในช่วงเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล มูลนิธิเพื่อนหญิง และเครือข่ายสตรี 4 ภาค จึงร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี เพราะเฉย = ช่วยทำร้าย และยังช่วยให้คนผิดลอยนวล ณ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ หน้าสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

Advertisement

บัณฑิตเล่าว่า ปัญหาทัศนคติเก่าๆ ที่มองว่าไม่ใช่เรื่องของเราและไม่เข้าไปช่วยเหลือนั้น เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่คนใกล้ชิด คนในหมู่บ้านจะไม่สนใจแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐเอง ทั้งตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็มีทัศนคติแบบนี้เช่นกัน หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วไปแจ้งตำรวจ เจ้าหน้าที่จะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้สุดท้ายได้แค่ลงบันทึกประจำวัน ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดี ผู้หญิงที่กลับมาบ้านก็โดนทำร้ายต่อไปเรื่อยๆ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็มองเช่นนี้และไม่แก้ปัญหา บางกรณียังเป็นลูกผู้มีอิทธิพลในหมู่บ้านทำให้ไม่มีใครกล้าดำเนินการ ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

แล้วทำไมคนจึงไม่กล้าช่วย….

บัณฑิตเล่าว่า เหตุที่คนเราไม่ค่อยกล้าเข้าไปช่วยนั้นส่วนใหญ่เป็นเพราะทัศนคติเดิมที่ว่าเป็นเรื่องของผัวเมีย หากเป็นเพื่อนบ้านจะเข้าไปช่วยก็กลัวว่าหากเขาดีกันแล้วเราจะเป็นหมาหัวเน่า และภัยจะมาถึงตัว ถูกข่มขู่ได้ บางกรณีก็กลัวว่าหากเข้าไปช่วยแล้ว อาจจะโดนทำร้ายเช่นกัน มิหนำซ้ำเหยื่อเสียเองที่เป็นคนห้ามไม่ให้ช่วยเหลือ

ซึ่งการเพิกเฉยนี้ ส่งผลร้ายกว่าที่คิด

“ที่ผู้ชายทำร้ายผู้หญิง ก็เพราะมองว่าผู้หญิงเป็นสมบัติ และจะทำอะไรก็ได้ เมาบ้าง หึงบ้าง อารมณ์ร้ายบ้าง และเลือกจะทำร้ายผู้หญิงเพื่อข่มขู่ ว่าหากขัดใจอีกก็จะลงโทษ เมื่อผู้หญิงไม่สู้ คนทำก็ยิ่งได้ใจว่าไม่มีใครเอาผิดเขาได้ ผู้หญิงและครอบครัวที่ถูกทำร้ายก็จะมีสภาพจิตที่แย่ลง เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่เสมอ ไม่รู้ว่าจะโดนกระทำอีกเท่าไหร่ กลายเป็นคนหวาดระแวง สุดท้ายเมื่อทุกอย่างทวีความรุนแรงขึ้น ก็อาจทำให้เกิดการกระทำซ้ำ ทำให้บาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้หลายครอบครัวก็ไม่อาจอยู่ในชุมชนได้อีกต่อไป เนื่องจากถูกชุมชนกระทำซ้ำ” บัณฑิตเผย

เพราะอย่างนั้น “เราไม่ควรเพิกเฉยต่อความรุนแรง”

บัณฑิตเผยว่า ก่อนอื่นเราต้องปรับทัศนคติก่อนว่า เรื่องปัญหาครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หากพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที โดยยุคนี้เราอาจใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์ให้เป็นประโยชน์ โทรแจ้ง 1300 ว่ามีเหตุเกิดที่บ้านนี้อย่างไม่แสดงตัว หรืออาจจะแชตส่งข้อความไปทางไลน์ หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจขององค์กรสตรีต่างๆ ขอความช่วยเหลือหรืออาจจะถ่ายภาพและคลิปวิดีโอเอาไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ เพราะทุกวันนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าเจ้าหน้าที่ต้องตามเอาผิดกับคลิปต่างๆ อยู่เสมอ

“หากเจอเหตุซึ่งหน้า และไม่อาจโทรแจ้งได้ทัน เราอาจต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่แถวนั้นให้รีบมาช่วยเพราะเขามีหน้าที่พิทักษ์สิทธิโดยตรง หรือตะโกนดังๆ ระดมคนแถวนั้นมาช่วยตะโกนไล่ กดกริ่งหรือออดดังๆ ให้คนสนใจ แต่อย่าเข้าไปแทรกระหว่างมีการทำร้ายร่างกาย เพราะเราอาจจะโดนทำร้ายไปด้วย เพราะตอนนั้นผู้กระทำกำลังขาดสติยับยั้งชั่งใจ” บัณฑิตทิ้งท้าย

ก้าวใหม่ เพื่อผู้หญิงและเด็ก

บัณฑิต
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image