เลือกตั้ง ท้องถิ่น เกิด ขัดแย้ง ยุติ ขัดแย้ง

เมื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า คสช.มีความเห็นควรปลดล็อกให้ท้องถิ่นก่อน

ทั่วทั้งหมดก็เข้าใจได้ว่า คสช.ตัดสินใจจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งทั่วไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2561

ดังนั้น การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงต้องมีขึ้นระหว่างบัดนี้จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561

Advertisement

รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี

หลังจากนายวิษณุเปิดเผย บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ทยอยให้ข้อมูล

กกต.ระบุว่า นายกและสมาชิกท้องถิ่นที่หมดวาระและรอการเลือกตั้งมี 7 ประเภท

Advertisement

องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

นายกและสมาชิกท้องถิ่นที่รอการเลือกตั้งมี 8,410 อัตรา

ขณะที่ กรธ.ระบุว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นได้ สนช.ต้องแก้ไขกฎหมาย 5 ฉบับ

แก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560

นายวิษณุได้นัดหน่วยงานจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น อาทิ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ประชุมวันที่ 16 พฤศจิกายน

ประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการปลดล็อกและการเลือกตั้งท้องถิ่นตามที่ประกาศไว้

หากแต่ก่อนการประชุม ได้บังเกิดคำถามและคำตอบอันขัดกันระหว่าง กกต. กับ กรธ.

คำถามที่ กกต. นำโดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ปุจฉาว่า ใครเป็นผู้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น

ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสงค์จะให้ กกต.เป็นผู้กำกับ ไม่ใช่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง

คำตอบที่ กรธ. นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ วิสัชนาว่า กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้

แต่คำถามและคำตอบยังคงไม่เป็นข้อยุติ เพราะ กกต.ขอส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

อำนาจการจัดการเลือกตั้งอยู่ที่ใคร

ความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้นแล้ว

ความขัดแย้งเช่นนี้จะต้องเกิดขึ้น เพราะมนุษย์หรือหน่วยงานที่มีมากกว่าหนึ่งย่อมมีโอกาสเห็นต่าง

เมื่อเห็นต่างก็อนุมานได้ว่าขัดแย้ง

กรณี กกต. กับ กรธ.ถือเป็นตัวอย่างความเห็นต่างในเรื่องตัวบทกฎหมาย

หน่วยงานราชการที่ทำงานก็มีความเห็นต่างกันอยู่เนืองๆ

ความเห็นต่างในข้อกฎหมาย ถ้าหาข้อสรุปลงตัวไม่ได้ก็ต้องหาผู้ตัดสิน

กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญคือผู้ตัดสิน

เมื่อยอมรับคำตัดสิน ข้อขัดแย้งก็ยุติ

กรณีการหาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หรือเลือกตั้งทั่วไป

สิ่งที่ต้องเผชิญหน้าก็หนีไม่พ้นความเห็นต่าง

เป็นความเห็นต่างในนโยบายการบริหาร

เห็นต่าง เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เลือก

ความเห็นต่างเช่นนี้อาจจะมองเป็นความขัดแย้ง

แต่เป็นความขัดแย้งที่สามารถหาข้อยุติได้ด้วยการยอมรับ

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ทุกฝ่ายยอมรับ

ความขัดแย้งก็ยุติ

ความเห็นต่าง ความขัดแย้ง จึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น

ข้อสำคัญคือ เมื่อขัดแย้งแล้วจะบริหารความขัดแย้งเช่นไร

จะยุติความขัดแย้งแบบไหน

ด้วยวิธีบังคับ หรือจะยอมรับกติกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image