จับตา ‘อี-คอมเมิร์ซ’žไทย โตแบบก้าวกระโดด

ภาพการค้าออนไลน์ในตลาดโลกไปไกลและไปไวกว่าที่คาดคิด นอกเหนือจากมูลค่าตลาดมหาศาล การสั่งซื้อ การจ่ายเงินที่ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิกแล้ว ความเคลื่อนไหวล่าสุดอย่างบริษัทอี-คอมเมิร์ซระดับโลก อาลีบาบา เพิ่งนำโดรน 3 ลำ ขนส่งสินค้าซึ่งเป็นกล่องเสาวรสน้ำหนักรวม 12 กิโลกรัม ข้ามทะเลเป็นครั้งแรก เชื่อมสองชายฝั่งทะเลของจีน ซึ่งอยู่ห่างกัน 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 9 นาที ช่วยร่นเวลาขนส่งลงครึ่งหนึ่งและประหยัดต้นทุน จึงไม่แปลกเมื่อล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศเปิดเผยยอดขายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์อาลีบาบา เมื่อวันที่ 11 เดือน 11 หรือวันคนโสดของชาวจีนที่อาลีบาบาจัดขึ้นทุกปี มียอดพุ่งถึง 25,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 863,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 39%

กลับมาพิจารณาไทย ซึ่งอยู่ในช่วงที่อี-คอมเมิร์ซเพิ่งเริ่มจะบูม

โดยภาคเอกชนที่เป็นกูรูด้านนี้ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com (ตลาดดอทคอม) ตลาดกลางออนไลน์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) เจ้าแรกๆ ในไทย ฉายภาพว่า อี-คอมเมิร์ซไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 เริ่มจากเป็นเว็บไซต์ธรรมดา ซื้อสินค้าออนไลน์ ในลักษณะเว็บไซต์ประกาศซื้อขายของ (คลาสสิฟายด์)

จากนั้นก็เริ่มเข้ามาขายในเว็บไซต์ที่เป็นลักษณะแคตตาล็อกออนไลน์ (อี-แคตตาล็อก) โดยต้องโทรศัพท์สั่งซื้อสินค้าอยู่ เข้าสู่ยุคที่ 3 เป็นเว็บไซต์ที่มีสินค้าให้ดูผ่านหน้าเว็บไซต์ สั่งซื้อและจ่ายเงินได้เลย

Advertisement

และเข้าสู่ยุคที่ 4 ค้าขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียล คอมเมิร์ซ) เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตขึ้นมาก

นายภาวุธระบุว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัดเจนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ที่คาดว่าปีนี้มูลค่าการค้าอี-คอมเมิร์ซในประเทศอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท เติบโตเกือบ 10% จากปีที่แล้ว โดยมูลค่าดังกล่าวรวมตัวเลขทั้งค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (บีทูบี) ค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค (บีทูซี) และค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจกับภาครัฐ (บีทูจี) จึงทำให้ตัวเลขค่อนข้างมาก แยกดูเฉพาะบีทูซียังอยู่ที่ประมาณ 7 แสนกว่าล้านบาท

แม้เอ็ตด้าจะคาดอัตราการเติบโตที่ประมาณ 10% แต่นายภาวุธมองว่าภาพรวมตลาดนี้จะมีอัตราการเติบโตได้ถึง 20% ต่อปี มีเว็บไซต์ออนไลน์ขนาดใหญ่เกิดขึ้น โซเชียลมีเดียทำให้คนซื้อขายออนไลน์มากขึ้น โดยจะเห็นต่างชาติมาคุมเกมการค้าออนไลน์ในประเทศมากขึ้น

Advertisement

จะเห็นธุรกิจต่างๆ กระโดดเข้ามาในอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมาก และจะเห็นการนำอี-คอมเมิร์ซเข้ามาทำสื่อมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐพยายามเข้ามาช่วยกระตุ้นคนเข้าสู่โลกค้าออนไลน์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

นายภาวุธกล่าวว่า สำหรับช่องทางการขายของออนไลน์ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง คือ เปิดเว็บไซต์ของตัวเองขายของ, ขายผ่านอี-มาร์เก็ตเพลส เช่น ลาซาด้าตลาดดอทคอม และผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ สินค้าส่วนใหญ่ที่ขายผ่านออนไลน์แล้วขายดี เช่น สินค้าเกี่ยวกับผู้หญิง เสื้อผ้า แฟชั่น แก็ดเจ็ตต่างๆ

คาดว่าขณะนี้มีผู้ค้าออนไลน์ประมาณ 5 แสนราย ซึ่งไม่รวมโซเชียลมีเดีย หากรวมก็น่าจะเป็นล้านราย ซึ่งยังไม่มีใครเก็บข้อมูลนี้อย่างเป็นทางการ เพราะโซเชียลมีเดียมีรายย่อยที่ขายของกันจำนวนมาก

นายภาวุธทิ้งท้ายว่า ส่วนความปลอดภัยเรื่องการค้าออนไลน์ตอนนี้ดีขึ้น มีระบบการชำระเงินดีขึ้น มีเก็บเงินปลายทาง การหลอกลวงกันน้อยลง เพราะการขายของมีระบบการยืนยันตัวตนมากขึ้น ลูกค้าก็เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดขึ้น และมีการเก็บข้อมูล การตรวจสอบดีมากขึ้น

ในส่วนภาครัฐ นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ข้อมูลของเอ็ตด้าคาดการณ์ว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทยในปี 2560 มีมูลค่า 2.81 ล้านล้านบาท เติบโต 9.86% จากปี 2559
ที่มีมูลค่า 2.56 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโต 14.03% จากปี 2558

มูลค่าปีนี้ แบ่งเป็นอี-คอมเมิร์ซแบบบีทูบี 1.67 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 59.56% แบบบีทูซี 8.12 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 28.89% และแบบบีทูจี 3.24 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 11.55%

ขณะที่อัตราเติบโตของอีคอมเมิร์ซแต่ละแบบในปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว คาดอยู่ที่ 8.63%, 15.54% และ 3.24% ตามลำดับ นอกจากนี้ตามมูลค่าแบ่งเป็นประเภทอุตสาหกรรมหลัก เช่น ค้าปลีกและค้าส่ง 8.69 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 34.96% รองลงมาอุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก โรงแรม 6.58 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 26.45% และอุตสาหกรรมการผลิต 4.17 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 16.77%

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอี-คอมเมิร์ซในประเทศโดยตรง มีแผนงานของกรมซึ่งล้อตามแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติระยะ 5 ปี (2560-2564) โดยได้ร่างแผนงานกรมระยะ 1 ปีออกมาเสร็จแล้ว ของปีงบประมาณ 2561 เตรียมเสนอผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์พิจารณาŽ” นางลลิดากล่าว และว่า อย่างไรก็ตามแผนงานนี้จะต้องทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วนแบบบูรณาการกัน

นางลลิดากล่าวอีกว่า สาระสำคัญของแผนงานนี้ คือ 1.ผลักดันให้ร้านค้าชุมชน สินค้าชุมชน คนระดับรากหญ้าในต่างจังหวัดทำการค้าออนไลน์ได้ผ่านอี-มาร์เก็ตเพลสของเอกชน ซึ่งได้รับความนิยม โดยเริ่มผลักดันจากคนที่มีความพร้อมก่อน ตั้งเป้าหมายปีแรกผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ให้ได้ 2,000 ราย

2.สร้างและส่งเสริมความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของผู้ค้าออนไลน์ ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ค้าออนไลน์เข้ามาจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็จะได้รับเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนผู้ค้าออนไลน์ ตรวจสอบย้อนกลับได้ มีที่อยู่หรือช่องทางติดต่อ และหากมีปัญหาก็สามารถร้องเรียนได้ถูกคน ปัจจุบันมีผู้ค้าออนไลน์ลงทะเบียนรับตรา DBD Registered แล้ว 29,000 ราย ตั้งเป้าภายในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นอีก 20,000 ราย รวมเป็น 49,000 ราย

และ 3.สร้างและส่งเสริมสภาวะแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เช่น การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ให้ดีขึ้น การส่งเสริมให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ให้การทำธุรกิจสะดวกขึ้น การปรับปรุงระบบจ่ายเงินออนไลน์ (อี-เพย์เมนต์)

ทั้งนี้ ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ขณะนี้ (ร่าง) แผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระยะ 5 ปี คือ ปี 2560-2564 และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการ อยู่ระหว่างคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะ เตรียมเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในเร็วๆ นี้ สำหรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชนต่อไป

“ตามแผนฯแห่งชาติดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าออนไลน์ของไทยเพิ่มอีกเท่าตัวภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2564 จากปี 2559 ที่มีมูลค่า 2.56 ล้านล้านบาทŽ” นางลลิดากล่าว

สำหรับเนื้อหาหลักของแผนดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ ด้วยการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการภายในประเทศ ให้ผู้ประกอบการเดิมสามารถส่งออกสินค้าได้ พัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม มีมาตรฐานรับรอง พัฒนาแพคเกจจิ้ง

2.เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำการค้าออนไลน์ และอำนวยความสะดวกทางการค้าสู่สากล ด้วยการยกระดับการชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร

3.เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพปัจจัยสนับสนุน ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้แบบบูรณาการ พัฒนาคลังข้อมูลเพื่อต่อยอดการค้าออนไลน์ใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการจูงใจ และลดอุปสรรคปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ

และ 4.สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ขาย ด้วยการพัฒนากลไกการกำกับดูแลตนเองเพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดี สร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง

นับว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด และยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก

แต่สำหรับฝ่ายรัฐ ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและผู้ดูแลกฎระเบียบยังเพิ่งเริ่มต้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับเมกะเทรนด์นี้ที่กำลังเปลี่ยนโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image