เปิด 10 คำร้ายคนในครอบครัวไม่อยากได้ยิน เผยคำ ‘อีอ้วน’ ชนวนเหตุความรุนแรงในครอบครัว

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการแถลงข่าวจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์” ว่า ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พม.โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายนถือเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

รมว.พม.กล่าวอีกว่า ส่วนปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนอกจากการดื่มสุรายาเสพติดแล้ว อีกปัจจัยสำคัญคือการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม ซึ่ง สค.ได้สำรวจความคิดเห็น 10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย 1.ไปตายซะ 2.คำด่า (เลว/ชั่ว) 3.แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย 4.ตัวปัญหา 5.ดูลูกบ้านอื่นบ้างสิ 6.น่ารำคาญ 7.ตัวซวย 8.น่าเบื่อ 9.ไม่ต้องมายุ่ง 10.เชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง

ส่วนคำดีที่อยากได้ยิน ประกอบด้วย 1.เหนื่อยไหม 2.รักนะ 3.มีอะไรให้ช่วยไหม 4.คำชมเชย (เก่ง/ดี/เยี่ยม) 5.ไม่เป็นไรน่ะ 6.สู้ๆ นะ 7.ทำได้อยู่แล้ว 8.คิดถึงนะ 9.ขอบคุณนะ และ 10.ขอโทษนะ

ทั้งนี้ อยากให้เริ่มต้นจากครอบครัวด้วยการสื่อสารเชิงบวกต่อกัน  ให้เกียรติกันทั้งทางกายและวาจา จะช่วยลดความรุนแรงในครอบครัว  พร้อมทั้งเชิญชวนทุกภาคส่วนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ตลอดเดือนพ.ย.นี้ โดยในส่วนของพม.ได้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “หยุด! คำร้าย …ทำลายครอบครัว” ทั้งส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด และส่วนกลางจัดที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร กทม.วันที่ 25 พฤศจิกายน

Advertisement

ด้าน ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำรวจ “ความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวระดับประเทศ” จาก 2,280 ครัวเรือน ใน 5 ภาค ระหว่างเดือนต.ค.2559-ม.ค.2560 พบว่า ร้อยละ 34.6  มีความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว โดยอันดับ 1 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ ถึงร้อยละ 32.3 ทางร่างกาย ร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5 ภาคใต้พบความรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 48.1 ส่วนกรุงเทพมหานครพบน้อยที่สุด ร้อยละ 26

“ส่วนสาเหตุความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากการทำร้ายทางจิตใจด้วยวาจา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่พบตัวอย่างแม่ว่าลูกไปตายซะ ทำให้เด็กคนนั้นไปฆ่าตัวตายจริงๆ หรือกรณีภรรยาถูกสามีด่าว่าอีอ้วนจนเป็นเหตุให้เกิดการตบตีทำร้ายร่างกาย จึงฝากให้คนในครอบครัวใช้คำพูดที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างความปรองดองในครอบครัวและช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” ศ.นพ.รณชัยกล่าว

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image