กระทรวงทรัพยากรฯ มอบ สกว.ตรวจ ดีเอ็นเอ หนอนนิวกินี เปิดแอพรับข้อมูล แจ้งพบเห็น

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดทส. เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางจัดการหนอนตัวแบนนิวกินี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ กล่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (Siamensis) เพื่อกำหนดแนวทาง เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมหนอนตัวแบนนิวกินี ตามที่มีรายงานการพบในประเทศไทย

นายวิจารณ์ กล่าวว่า การประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันถึงแนวทางการจัดการหนอนตัวแบนนิวกินี โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านวิชาการ การะบุชนิดพันธุ์ โดยการตรวจดีเอ็นเอเพื่อยืนยันชนิดพันธุ์ของหนอนตัวแบนนิวกินี โดยทาง สกว.จะเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ ร่วมกับนายนณณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบชนิดพันธุ์ที่แน่ชัด การสำรวจพื้นที่แพร่กระจายของประเทศไทย ทั้งพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม แลพื้นที่ป่าไม้ การควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นในระบบความหลากหลายทางชีวภาพ การศึกษาการเป็นพาหะของโรค การป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่กระจาย รวมทั้งการวางแผนป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเข้าสู่เขตพื้นที่ป่า การหลุดรอดปะปนไปกับสินค้านำเข้า-ส่งออก รวมทั้งการกำจัดที่ถูกต้อง พร้อมมีการประเมินความเสี่ยงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขอนามัยของมนุษย์ ซึ่ง สกว.พร้อมให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่หน่วยงานต่างๆ ในการศึกษาวิจัยองค์ความรู้เชิงลึกต่อไป ควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน โดยขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ทั้งนี้ในเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนสามารถป้องกันได้ ตามสโลแกน “แจ้งข่าว กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ล้างผัก” ทั้งนี้เมื่อพบเห็นหรือสงสัยให้ถ่ายรูป และแจ้งมาที่แอพลิเคชันไลน์ Line:@qbw4880w

ด้านนางอัษฎาพร ไกรพานนท์ รองเลขาธิการ สผ.กล่าวว่า สำหรับการเสนอปรับสถานภาพของหนอนตัวแบนนิวกินี ตามทะเบียนรายการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานของประเทศไทย จากรายการ 4 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย เป็นรายการ 1 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว หรือ รายการ 2 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มี่แนวโน้มรุกราน จะดำเนินการภายหลังทราบผลการสำรวจและประเมินความเสี่ยงแล้ว โดยจะนำเสนอต่อคณะทำงานวิชาการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น คณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ (กอช.) พิจารณาให้ความเห็นตามลำดับต่อไป

Advertisement

นายนณณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานการพบหนอนตัวแบนนิวกินีในพื้นที่ 20 จังหวัดของไทย ซึ่งข้อน่ากังวลเกี่ยวกับหนอนตัวแบนนิวกินีคือมีรายงานการวิจัยในประเทศญี่ปุ่นพบว่าหนอนชนิดนี้กินทากเป็นอาหารและทำให้ทากท้องถิ่นสูญพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยต้องมีการศึกษาว่าจะกระทบกับทากท้องถิ่นและความหลากหลายของทากท้องถิ่นในพื้นที่ป่าหรือไม่ เหตุที่ต้องกังวลในเรื่องของทากเพราะแมลงสำคัญในระบบนิเวศของไทยจะมีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ร่วมกับหอยทาก ซึ่งจะมีผลให้หิ่งห้อยลดจำนวนหรือสูญพันธุ์จากประเทศไทยได้ นอกจากนั้นยังมีในเรื่องการเป็นพาหะในโรคสู่คนหรือไม่ซึ่งต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image