ผ่านร่างกม.หนี้สาธารณะ นิยามใหม่ ไม่รวมหนี้รัฐวิสาหกิจที่คลังไม่ได้ค้ำประกัน

สนช. ผ่านร่างกม.หนี้สาธารณะ กำหนดนิยาม “หนี้สาธารณะใหม่” ไม่รวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ก.คลังไม่ได้ค้ำประกัน

เมื่อเวลา 12.30น. วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การบริหารหนี้สาธารณะ ฉบับที่ พ.ศ. .. ในวาระ 2 และ 3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ซึ่งมีหลักการและเหตุผลคือ โดยที่สมควรกำหนดขอบเขตนิยามคำว่าหนี้สาธารณะให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ แก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ รวมถึงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดนิยาม “หนี้สาธารณะ” ใหม่ว่า หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกันและหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย

กำหนดให้มี คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ จำนวน 12 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรสงการคลังเป็นประธาน นอกจากนี้ ในส่วนของกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ได้มีการแก้ไขในมาตรา 36/8 โดยกำหนดว่า กรณีการลงทุนในประเทศให้นำไปลงทุนได้ดังนี้ 1.ตราสารหนี้ที่ออกหรือค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง 2.ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย 3.ตราสารหนี้อื่นที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 4.ทำธุรกรรมซื้อโดยมีสัญญาจะขายคืนซึ่งตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย 5.เงินฝากหรือบัตรเงินฝากของสถาบันการเงินภาครัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ตามที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด

Advertisement

จากนั้น ที่ประชุมได้ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 30 นาที โดยไม่มีสนช. คนใดลุกขึ้นอภิปราย จากนั้นจึงลงมติในวาระ 3 ด้วยคะแนน 179 เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image