บทสรุป “จระเข้เลพัง” ไม่ปล่อยคืนธรรมชาติ “ธรณ์” ชี้จัดการเอเลียนสปีชีส์ ต้องใช้วิทยาศาสตร์ อย่าใช้ความสงสาร

วันที่ 16 พฤศจิกายน ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางกรมประมง และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ข้อสรุปเรื่อง จระเข้ เลพัง ที่ก่อนหน้านี้เคยจับได้จากทะเลภูเก็ต และนำมาเลี้ยงเอาไว้ ที่ จ.ภูเก็ตแล้ว ภายหลังจากสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างเลือด เพื่อไปตรวจ ดีเอ็นเอ แล้วได้ผลสรุปออกมาว่า เป็นจระเข้ลูกผสม ไม่ใช่จระเข้ในธรรมชาติจึงไม่สามารถจะปล่อยในธรรมชาติได้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด

ผศ.ธรณ์กล่าวว่า ในตอนแรกที่พบกับจระเข้ เลพังนั้น บางคนอยากให้ปล่อยไว้ที่เดิม แต่ตนพิจารณาแล้วเห็นว่าจุดที่จับจระเข้ได้นั้นเป็นขุมเหมืองเก่าที่ปัจจุบันเป็นบ่อน้ำในโรงแรม 3 แห่ง ไม่ใช่สถานที่จระเข้จะอยู่ได้ ไม่ได้จับจระเข้มาจากป่าเขาหรือทะเลที่ห่างไกล นอกจากนี้ เมื่อมีจระเข้ปรากฏในที่ชุมชน หลักการคือต้องจับมาพิสูจน์ให้แน่ชัด จากนั้นค่อยหาทางจัดการต่อไป เพื่อความปลอดภัยของผู้คนและความปลอดภัยของจระเข้เอง

“เมื่อผลการพิสูจน์ก็ชัดเจนว่า เลพังเป็นจระเข้ลูกผสม ไม่ใช่จระเข้ธรรมชาติ กระบวนการจัดการต่อจากนี้จึงมีความชัดเจนมากขึ้น คือ ปล่อยในพื้นที่ธรรมชาติไม่ได้ และต่อจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของกรมประมงที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลเจ้าเลพังต่อไป ว่าจะเอาไปดูแลที่ไหน อาจจะเอาไปฝากไว้กับฟาร์มจระเข้ที่ใดที่หนึ่ง หรือในสวนสัตว์ ก็แล้วแต่ความเหมาะสม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะพูดคือ การจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ ซึ่ง จระเข้เลพังก็ถือเป็นเอเลียนสปีชีส์ชนิดหนึ่งเช่นกันนั้น จะต้องจัดการจัดการตามหลักการเหตุผล และความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกหรือความสงสารเข้ามาวัด เข้ามาตัดสินใจ มิฉะนั้นแล้วจะเกิดความเสียหายตามมาได้”ผศ.ธรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image