เมื่อ ‘สมองคน’ ถูกปลูกถ่ายให้ ‘หนูทดลอง’

ภาพ-Pixabay

ในงานประชุมวิชาการ “นิวโรไซนซ์ 2017” งานประชุมวิชาการประจำปีของ สมาคมเพื่อประสาทวิทยา แห่งสหรัฐอเมริกา ที่วอชิงตัน ดี.ซี. คอนเวนชันเซนเตอร์ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีทีมวิจัยอย่างน้อย 20 ทีมที่นำเสนอรายงานความสำเร็จของการปลูกถ่าย “สมองคนขนาดย่อม” ลงไปในสมองของหนูทดลอง เพื่อผลด้านการค้นคว้าวิจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง

งานวิจัยจำนวนมากดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามเชิงจริยธรรมขึ้นหลายประการ ลงเอยด้วยการเรียกร้องให้มีการสรุปประเด็นปัญญาเพื่อวางกรอบการค้นคว้าวิจัยในด้านนี้

สมองขนาดเล็กดังกล่าวมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ซีรีบรัล ออร์แกนอยด์” ซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองที่สร้างขึ้นในห้องทดลองจากสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด ทำให้ถูกบางคนเรียกว่า “สมองบนจานทดลอง” จากนั้นถูกนำมาปลูกถ่ายให้กับหนูทดลองที่ให้ยากดภูมิต้านทาน เพื่อให้ทำหน้าที่ปล่อยเลือดไปหล่อเลี้ยงให้มีชีวิตและทำหน้าที่ของสมองส่วนดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง

การปลูกถ่ายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น เฟรด เกจ และทีมวิจัยจากสถาบันซอลค์ ใช้การปลูกถ่ายเพื่อแสดงถึงวิธีการก่อกำเนิดหลอดเลือดและกระบวนการ อีเลคโทรฟิซิโอโลจิคอล ในสมองของมนุษย์, ทีมวิจัยจากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเนบราสกา ซึ่งใช้วิธีการทำนองคล้ายคลึงกันนี้เพื่อตรวจหา “เป้าหมาย” ในสมองสำหรับการรักษาอาการดาวน์ ซินโดรม, ทีมวิจัยซึ่งนำโดย ฮัน-เฉียว ไอแซค เฉิน จากสำนักการแพทย์เพเรลแมน ในสังกัดมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งใช้วิธีปลูกถ่ายสมองคนลงในสมองหนู เพื่อพัฒนาเซลล์ที่จะนำมาใช้ในกระบวนการบำบัดโดยการใช้เซลล์ทดแทนในเนื้อเยื่อสมองที่เสียหายเพื่อฟื้นฟูการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาทในส่วนที่เสียหายดังกล่าว

Advertisement

ในรายงานของสำนักการแพทย์เพเรลแมน ระบุว่า ซีรีบรัล ออร์แกนอยด์ มีชีวิตอยู่ในหนูทดลองได้อย่างน้อย 2 เดือนหลังการปลูกถ่ายและให้ยากดภูมิต้านทาน มีการเจริญเติบโตเข้าไปในส่วนสมองของหนูที่ได้รับการปลูกถ่าย “และอาจรวมตัวเข้ากับโครงข่ายประสาทรับภาพ” ของหนูอีกด้วย

ในขณะที่เป้าหมายระยะยาวของการทดลองเหล่านี้ไม่มีผู้ใดขัดแย้งว่าเป็นไปเพื่อพัฒนาสิ่งซึ่งทรงคุณค่าของมนุษย์ แต่นักวิจัยในบางโครงการรวมทั้งนักวิชาการอื่นๆ ระบุตรงกันว่า การทดลองทำนองนี้สร้างปัญหาเชิงจริยธรรมขึ้นหลายอย่างมาก ซง ฮันจุน นักประสาทวิทยาจากสำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ ซึ่งเคยใช้ซีรีบรัล ออร์แกนอยด์ เพื่อค้นหากลไกและวิธีรักษาเนื้องอกในสมอง ระบุว่า ในทางทฤษฎีแล้วทีมวิจัยสามารถสร้างสมองในส่วนใดก็ได้ออกมา แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็คือ สมองส่วนหน้า (คอร์เท็กซ์) ส่วนกลาง และไฮโทาลามัส ออร์แกนอยด์ แต่เมื่อถูกถามว่าสมองที่เป็นออร์แกนอยด์เหล่านี้มี “จิตสำนึก” หรือสามารถ “คิด” ได้หรือไม่ ซง ยอมรับว่าไม่สามารถบอกได้ด้วยวิทยาการเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ โดยยอมรับว่า ออร์แกนอยด์ส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นมาเทียบเท่ากับส่วนของสมองในเด็กทารกในครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนแรกไปจนถึง 6 เดือน แต่ไม่มากกว่านั้น

จอห์น อาค นักพันธุวิศวกรรมจากสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่า ในอดีตเมื่อราวทศวรรษ 1970 และ 1980 ในช่วงที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาการเด็กหลอดแก้ว ที่เริ่มจากการเพาะเลี้ยงไข่ที่ผ่านการผสมแล้วในหลอดแก้ว ตอนนั้นมีปัญหาเชิงจริยธรรมตามมาจนในที่สุดแวดวงวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับกันเป็นหลักการทั่วไปว่า การพัฒนาตัวอ่อนในหลอดแก้วให้กระทำได้จนกระทั่งถึงจัดที่สมองเริ่มต้นก่อรูปจึงยุติ เนื่องจากถือว่าสมองเป็นจุดเริ่มของ “การมีชีวิต”

Advertisement

โจนาธาน คิมเมลแมน รองศาสตราจารย์จากหน่วยงานจริยะชีวแพทย์ ประจำมหาวิทยาลัยแม็คกิลล์ ชี้ว่าการปลูกถ่ายออร์แกนอยด์สมองคนให้กับหนู เกิดปมเชิงจริยธรรม 2 ประการ หนึ่งคือ จริยธรรมต่อหนูทดลอง ที่ไม่ควรก่อให้หนูต้องทนทุกข์ทรมานจากการเกิดความกลัวและกระวนกระวายสูง อีกประการก็คือ ปัญหาเชิงจริยธรรมว่าตัวออร์แกนอยด์นั้นๆ ก่อให้เกิดศักยภาพและความคิดเหมือนคนขึ้นกับสัตว์ทดลองหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จอห์น อาค ชี้ด้วยว่า การทดลองจะยิ่งได้ผลดีที่สุด หากออร์แกนอยด์ดังกล่าวมีคุณลักษณะเหมือนโครงสร้างส่วนสมองจริงๆ มากที่สุด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะจรรยาแพทย์กำหนดไม่ให้ทดลองใดๆ กับมนุษย์ หากก่อให้เกิดความเจ็บปวดและเศร้า หดหู่ใจ

การที่อ้างว่า ออร์แกนอยด์ ไม่อาจเติบโตเป็นสมองเต็มรูปแบบได้ ไม่ได้หมายความว่าออร์แกนอยด์ดังกล่าวไม่เจ็บปวด เพราะยังเป็นส่วนของสมองส่วนหนึ่งอยู่ดีนั่นเอง

การทำลายออร์แกนอยด์สมองทิ้งหลังสิ้นสุดการทดลอง คือการคร่าชีวิตใช่หรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image