นักวิจัยสหรัฐคว้า ‘รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล’ ประจำปี 2560

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ และ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ร่วมแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 26 ประจำปี 2560 ที่ โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช

ศ.นพ.ประสิทธิ์ แถลงว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 ทั้งสิ้น 45 ราย จาก 27 ประเทศทั่วโลก คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2558-2560 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน สำหรับผู้ได้พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ คือ โครงการจีโนมมนุษย์ (The Human Genome Project) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในความก้าวหน้าทางความรู้ที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์และรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ โครงการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2533 นำโดยสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐ โดยได้รับความร่วมมือจากคณะนักวิจัยจาก 20 สถาบันใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และจีน โครงการนี้ได้ประกาศความสำเร็จในปี 2543 โดยข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์เป็นข้อมูลชีวภาพขนาดใหญ่ได้จัดเก็บเป็นคลังความรู้ในฐานข้อมูลสาธารณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเข้าถึงได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ แถลงต่อไปว่า สำหรับสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นพ.จอห์น บี รอบบินส์ พญ.ราเชล ชเนียสัน สถาบันสุขภาพเด็กและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ และ ศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม มหาวิทยาลัยจอนห์ ฮอบกินส์ สหรัฐ โดย 3 รายแรก มีผลงานจากการวิจัยกลไกก่อโรค และการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือเรียกสั้นๆ ว่า ฮิบ (Haemophilus influenzae type b: Hib) ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญที่ก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก โดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วน ศ.นพ.มธุราม มีบทบาทสำคัญในการศึกษาระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อฮิบ และได้แสดงข้อมูลทางคลินิกว่าโรคติดเชื้อฮิบป้องกันได้ด้วยภูมิคุ้มกัน รวมถึงศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮิบหลายชนิด ผลการศึกษาดังกล่าวนำไปสู่การผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกตในเด็กทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ วันที่ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ด้านการแพทย์ 1 รางวัล และการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี ซึ่งแต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ โดยปีนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลดังกล่าว ในวันที่ 31 มกราคม 2561 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยในวันที่ 30 มกราคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ แสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย

Advertisement

 

 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image