‘วิษณุ’ แง้มแก้กม. 6 ฉบับ ก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น พร้อมนำข้อห่วงใยของอภิสิทธิ์หารือ

วิษณุ แง้มแก้กม. 6 ฉบับ ก่อน ลต. ท้องถิ่น โยน คสช. พิจารณาปลดล็อค นำข้อห่วงใยมาร์ค หารือ ย้ำชัดไม่ตัดอำนาจ กกต. จัดเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่16 พฤศจิกายน ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญ เตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นในเร็วๆนี้ แต่จะไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ทั้ง 6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.), พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.),พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 และพ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ซึ่งทั้ง 6 ฉบับนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการ จากนั้นค่อยเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่ สภานิติบัญญัติ (สนช.) ต่อไป ดังนั้นเมื่อกฎ​หมายทั้ง 6 ฉบับบังคับใช้แล้ว จึงจะรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด จากนั้นจึงจะมีการปลดล็อคต่อไป ซึ่งตนคิดว่าการดำเนินการจะใช้เวลาไม่นาน

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นนั้นได้มีการเชิญสมาคม เทศบาล, อบต., อบจ. มาหารือถึงคุณสมบัติกับลักษณะต้องห้าม ส่วนกฎหมายอีก 5 ฉบับเป็นการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เช่นการให้ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จริงจังกับเรื่องดังหล่าว จึงต้องแก้กฎหมายอีก 5 ฉบับให้สอดคล้องกัน โดยการแก้ไข 6 ฉบับจะไม่เสร็จภายในปีนี้ เพราะเหลือเวลาแค่ 1 เดือนก็สิ้นปี ซึ่งช่วงเวลาที่เหลือนี้จะใช้ในการฟังความคิดเห็น

เมื่อถามว่า หากกฎหมายผ่าน ครม. และเข้า สนช. แล้ว ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณาปลดล็อคเพื่อให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทาง คสช. จะเป็นผู้พิจารณาว่าเลือกตั้งประเภทใด และเลือกตั้งเมื่อใด โดยการประชุมเมื่อเช้าเราไม่ได้หารือกันเรื่องโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องใช้เวทีอื่น

Advertisement

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า แต่ประเด็นปัญหานั้น ทางนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องข้อสังเกตไว้ 3 ประเด็น โดยเราได้นำมาพิจารณาด้วย คือ 1.การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องดูให้แน่ชัดว่าโครงสร้างท้องถิ่นเป็นอย่างไร หากมีการเลือกตั้งแล้ว หากว่ามีการปรับโครงสร้างใหม่ออกมา จะทำอย่างไร ซึ่งตนคิดว่า โครงสร้าง อบต. น่าจะเกิดผลกระทบ ดังนั้นการเลือกตั้ง อบต. คงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอยู่ 2.สมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นหลายๆคน มีชนักติดหลังเพราะ มาตรา 44 ในเรื่องนี้ตนเห็นว่า ถ้าใครผิดก็ต้องลงโทษ ถ้าไม่ผิดก็ควรจะคืนตำแหน่งเขาไป ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสำรวจรายชื่อ ว่าใครมีความผิด หรือติดเรื่องอะไรบ้าง หรือที่ยังคืนตำแหน่งไม่ได้เพราะอะไร แล้วจะชี้แจงให้รับทราบอีกที 3.หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริง พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงหรือได้หรือไม่ ระหว่างที่ยังไม่ปลดล็อคพรรการเมือง ในประเด็นจะมีการหารืออีกทีว่า จะปลดล็อคให้หรือไม่อย่างไร เพราะยังมีเวลาพอสมควร

“เรารู้ปัญหาของแต่ละอัน ถ้าเลือกตั้งแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งงบประมาณและภาระของ กกต. ด้วย จากกรณีที่ กกต. สงสัยในมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.กกต. โดยทาง กรธ. ได้ชี้แจงให้ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ไม่มีอะไรขัดแย้งกกับกฎหมาย และไม่มีอะไรควรสงสัย เพราะตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ให้ กกต. มีหน้าที่จัด และดำเนินการ ให้มีการเลือกตั้ง ประเด็นนี้ก็แล้วแต่ กกต. จะมอบหมาย สำหรับมาตรา 27 นั้น ซึ่ง กกต. อาจจะมอบหมายให้ อปท. หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการเลือกตั้งก็ได้ ย้ำว่าไม่ได้จำกัดอำนาจ กกต. อย่างไรเสีย กกต. ก็เป็นผู้จัดการเลือกว่าใครจะจัดการเลือกตั้ง หรือจัดเองก็ได้”นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า ในรัฐธรรมนูญยังได้เขียนอีกว่าหากมีการทุจริตแจกใบเหลือง ใบแดง ถ้าเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ ให้ กกต. เป็นโจทก์ยื่อฟ้องศาลฎีกา ถ้าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ให้ กกต. ฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้มอบอำนาจให้ใครเลย อย่างไร กกต. ก็ต้องตอบโจทย์อยู่ดี

Advertisement

เมื่อถามอีกว่าหากมีการร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของ คสช. เพราะล็อค อยู่ที่คสช. ก็ต้องเป็นผู้ปลดล็อค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image