Cirrus 5 ชนิด : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

 

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

วันนี้ขอชวนคุณผู้อ่านไปเก็บเมฆระดับสูงที่เรียกว่า ซีร์รัส (Cirrus) คำว่า “ระดับสูง” สำหรับเมฆ หมายถึงว่า อุณหภูมิตรงนั้นติดลบค่อนข้างมาก ดังนั้น ซีร์รัสจึงประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งเป็นหลัก (แทบจะล้วนๆ) ในทางอุตุนิยมวิทยา ซีร์รัสจัดเป็นสกุล (genus) หนึ่งของเมฆ ซึ่งในภาพรวมแล้วมีทั้งสิ้น 10 สกุลหลัก

คำว่า cirrus เป็นภาษาละติน แปลว่า ปอยผม (a lock of hair) ชื่อนี้เหมือนจะบ่งว่าซีร์รัสมีลักษณะเด่นคือ เป็นเส้นๆ ฝอยๆ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ซีร์รัสยังแบ่งออกเป็นรูปแบบย่อยๆ ได้อีก โดยมี 5 ชนิด และมี 4 พันธุ์ (ชนิดและพันธุ์ต่างกันอย่างไร จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นเมื่อได้เห็นตัวอย่าง) ในครั้งนี้จะเล่าถึงชนิดของซีร์รัสก่อน

คำว่า “ชนิด (species)” เป็นชื่อลักษณะรูปร่าง ขนาด หรือโครงสร้างภายในที่ปรากฏในเมฆสกุลหนึ่งๆ เมฆในสกุลหนึ่งๆ อาจเป็นได้แค่ชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น ลองมาดูซีร์รัสแต่ละชนิดกันครับ

Advertisement

เริ่มจากซีร์รัสที่เป็นเส้นๆ ค่อนข้างตรง หรือเส้นคดโค้งบ้างเล็กน้อย แต่ปลายเส้นต้องไม่งอน หรือไม่เป็นกระจุก ดูภาพที่ 1 ครับ แบบนี้เรียกว่า ซีร์รัส ไฟเบรตัส (Cirrus fibratus) คำว่า fibratus เป็นภาษาละติน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า fiber คือ เส้นใย นั่นเอง แนวเส้นของซีร์รัส ไฟเบรตัส บ่งบอกทิศทางลมในระดับที่เมฆอยู่

ภาพที่ 1 : Cirrus fibratus (ซีร์รัส ไฟเบรตัส)
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ทีนี้หากซีร์รัสเป็นเส้นแต่ปลายด้านหนึ่งงอนขึ้น หรือเป็นกระจุก จะเรียกว่า ซีร์รัส อันไซนัส (Cirrus uncinus) คำว่า uncinus เป็นภาษาละติน แปลว่า ถูกขอเกี่ยว (hooked) ดูภาพที่ 2 สิครับ ผมเก็บได้จากหน้าบ้านตัวเองช่วงเช้า คุณผู้อ่านมองแล้วนึกถึงอะไรก็แล้วแต่จินตนาการ แต่ฝรั่งมองแล้วนึกถึงหางม้า ก็เลยตั้งชื่อเล่นว่า mares’ tails แปลตรงตัวว่า หางม้าตัวเมีย ส่วนตรงที่ว่าทำไมต้องม้าตัวเมียด้วยนี่ ผมยังสงสัยอยู่เหมือนกัน อิอิ

ภาพที่ 2 : Cirrus uncinus (ซีร์รัส อันไซนัส)
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

อาจมีคำถามว่า นอกจากรูปร่างเป็นเส้นๆ แล้ว ซีร์รัสยังเป็นก้อนๆ ได้ไหม คำตอบอยู่ในภาพที่ 3 ครับ เมฆซีร์รัสที่แลดูเป็นกระจุก ละม้ายคล้ายสำลีก้อนเล็กๆ เรียกว่า ซีร์รัส ฟลอกคัส (Cirrus floccus) คำว่า floccus เป็นภาษาละติน แปลว่า กระจุกขนสัตว์ (tuft of wool) หรือ ปุย (fluff)

ภาพที่ 3 : Cirrus floccus (ซีร์รัส ฟลอคคัส)
ภาพ : Verlhac

ซีร์รัสอีกชนิดหนึ่ง เรียกง่ายๆ ว่า ซีร์รัส “อย่างหนา” ดูภาพที่ 4 สิครับ ชื่ออย่างเป็นทางการคือ ซีร์รัส สปิสเซตัส (Cirrus spissatus) คำว่า spissatus เป็นภาษาละติน มาจากคำกริยา spissare แปลว่า ทำให้หนา หรือทำให้หนาแน่น ซีร์รัสชนิดนี้ถ้าหนามากอาจมีสีเทาๆ และอาจบดบังดวงอาทิตย์จนแสงจางลงไปมากๆ ได้ หรืออาจหนามากจนมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ก็ได้

ซีร์รัส “อย่างหนา” มักเป็นส่วนบนของเมฆฝนฟ้าคะนองชนิดหัวฟูที่ตัวเมฆแม่สลายไป แล้วทิ้งส่วนบนฟูๆ ค้างเติ่งอยู่บนฟ้า ในกรณีเช่นนี้ ซีร์รัสชนิดนี้จะมีชื่อเล่นว่า orphan anvil หรือ (เมฆรูปทั่งผู้กำพร้า) คือ เมฆกำพร้าแม่นั่นเอง

ภาพที่ 4 : Cirrus spissatus (ซีร์รัส สปิสเซตัส)
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

มาถึงซีร์รัสชนิดสุดท้ายซึ่งหนาพอสมควร แต่จุดสำคัญอยู่ที่ว่าส่วนบนเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ หรือเป็นเส้นใยฟูๆ พุ่งสูงขึ้นในแนวดิ่ง ซีร์รัสชนิดนี้เรียกว่า ซีร์รัส แคสเทลเลนัส (Cirrus castellanus) คำว่า castellanus เป็นภาษาละติน มาจากคำว่า castellum หมายถึง ปราสาท สังเกตคำว่า castellanus กับคำว่า castle ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ปราสาท

ภาพที่ 5 : Cirrus castellanus (ซีร์รัส แคสเทลเลนัส)
ภาพ : Ruben del Campo-Hernandez

ได้รู้จักเมฆซีร์รัสทั้ง 5 ชนิดกันไปแล้ว หากเจอเมฆซีร์รัสบนฟ้าคราวหน้า ก็ลองเทียบรูปร่างดูว่าตรง (หรือใกล้เคียง) กับชนิดไหน ส่วนเมฆซีร์รัสอีก 4 พันธุ์นั้น ผมจะนำเสนอในสัปดาห์หน้าครับ


ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ข้อมูลเกี่ยวกับ Cirrus ใน International Cloud Atlas
อาจเริ่มจากที่ https://cloudatlas.wmo.int/cirrus-ci.html


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image