‘ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ผู้บริหารไทย ซัมมิท อธิบาย “รถยนต์ไฟฟ้า” เปลี่ยนโลกอย่างไร? (คลิป)

น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิทฯ (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโต พาร์ท อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่เมืองไทย กล่าวเสวนาในหัวข้อ Transformation : เกมแห่งอนาคต ในงานสัมมนาแห่งปี THAILAND 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ”

นางสาวชนาพรรณ กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนเช่นกัน โดยเฉพาะที่คนกำลังพูดถึงกันมากคือ รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสและความเป็นไปได้มากแถมระยะหลังยังได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลมากขึ้นด้วย

จากผลสำรวจเกี่ยวกับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปี 2558 พบว่ามีเพียง 58% เป็นกลุ่มคนที่อยากใช้รถยนต์ไฟฟ้า และมีรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นเพียง 746,000 คัน ซึ่งตอนนี้คิดว่าคงมากขึ้นแน่นอน และจากการคาดการณ์เชื่อว่าปี 2583 ทั่วโลกจะมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าถึง 65 ล้านคันทั่วโลกจากปัจจุบันที่มียอดขายรถยนต์ 90 ล้านคัน

Advertisement

“สิ่งที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมแพร่หลายจำเป็นต้องมีตัวสนับสนุนหลายด้าน ทั้งสถานีชาร์จไฟ แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพและต้องทำให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ถูกลง หรือทำให้แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนได้ง่ายเหมือนเปลี่ยนแบตฯถ่านไฟฉาย”

เมื่อมองกันว่ารถยนต์ไฟฟ้ามาแน่ ดังนั้นจุดเปลี่ยนย่อมต้องเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลียงไม่ได้และที่ได้รับผลกระทบแน่นอนคือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะชิ้นส่วนที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าจะน้อยลง หลักๆ คือเครื่องยนต์ ท่อไอเสีย คาบูเรเตอร์ หัวฉีด ฯลฯ

โดยเชื่อว่าจะมีผู้ผลิตบางส่วนอาจจะต้องล้มหายตายจากไป หรือมีบางรายอาจจะต้องปรับตัว โดยหันไปผลิตของอุตสาหกรรมอื่นๆ ทดแทน หรือพลิกตัวไปสู่ชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ ชดเชย เช่น สายไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า และอาจจะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหม่เข้ามาเพิ่มมากขึ้นซึ่งต้องรับมือกันให้ดี

Advertisement

ผู้บริหารไทยซัมมิท กล่าวอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ค่ายรถยนต์ทุกค่ายจะต้องพัฒนา คือน้ำหนักของตัวรถ ต้องทำให้มีน้ำหนักเบามากที่สุด เพราะถ้าตัวถังเบาลงจะทำให้ระยะทางวิ่งต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งไปได้ไกลมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนการผลิตบางส่วนรวมถึงระบบซัพพลายเชนจ์ด้วย ผู้ที่จะอยู่รอดในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้นั้นจะต้องปรับตัว

“ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้ผลิตรถยนต์เองต้องเปลี่ยนจากเดิมที่รถใช้เครื่องยนต์ แต่อนาคตเมื่อเป็นไฟฟ้า ซอฟต์แวร์จะมีความสำคัญที่สุด เราคงได้เห็นความร่วมมือระหว่างค่ายรถยนต์และบริษัทซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้น และพัฒนาไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับ หรือคาร์แชริ่งที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถยนต์อีกต่อไป”

นางสาวชนาพรรณ ระบุว่า ด้านธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จะถูดลดบทบาทลงเพราะลูกค้าเปลี่ยนความคิดและไม่ต้องการซื้อรถยนต์ จำนวนรุ่นของรถยนต์จะน้อยลง รวมทั้งออพชั่นที่มีมาให้ในรถลูกค้าจะเข้าโชว์รูมน้อยลง การซ่อมบำรุงรักษาจะน้อยมาก เนื่องจากเป็นระบบซอฟต์แวร์ การเกิดอุบัติเหตุการชนจะลดลง และบุคลากรในอุตสาหกรรมตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จะน้อยลงเปลี่ยนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image