นักวิชาการส่อง ‘วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์’ ร่วมคุมงาน ศธ.

หมายเหตุ…จากกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) บิ๊กตู่ 5 โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำรายชื่อ ครม.ชุดใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีรายชื่อ นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แทน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. “มติชน” จึงสัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักวิชาการในแวดวงการศึกษามานำเสนอ

กิตติไชย ไตรรัตนศิริชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ถ้านายวุฒิศักดิ์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จริง ถือว่าเหมาะสม เพราะอยู่ในแวดวงการศึกษามายาวนาน เข้าใจเรื่องการศึกษาและปัญหาอย่างดี นอกจากนี้ นายวุฒิศักดิ์ยังเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา และการกีฬา สนช.ด้วย น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะการที่นายวุฒิศักดิ์ได้เข้าร่วมประชุมกับ กมธ.การศึกษาฯ ทำให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาว่าขณะนี้มีประเด็นใดที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไข และมีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นด้านการศึกษา โดยระยะสั้นจะต้องปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง หรือการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่หน่วยจัดการจัดการศึกษาในพื้นที่กำลังรอความชัดเจนอยู่ว่าจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา กมธ.การศึกษาฯ ได้นำแนวทางที่ต้องดำเนินการและการแก้ไขปัญหาต่างๆ เสนอให้กับรัฐบาแล้ว และรัฐบาลก็น้อมรับ แต่การขยายผลอาจจะยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่จะต้องเร่งดำเนินการ

Advertisement

ทั้งนี้ สิ่งที่ นพ.ธีระเกียรติทำมาก็ดีแล้ว แต่ยังมีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ ซึ่งนายวุฒิศักดิ์ทราบดีว่ามีเรื่องเร่งด่วนด้านการศึกษาอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการ โดยจะนำเอาสิ่งที่ที่ประชุม กมธ.การศึกษาฯมาขับเคลื่อน ซึ่งมีกว่า 20 ฉบับที่ได้ผ่าน สนช.และเสนอรัฐบาล เพื่อส่งเรื่องต่อไปยัง ศธ.แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริง เพราะเข้าใจว่า ศธ.ใหญ่ทำให้การดำเนินการอาจล่าช้าไปหน่อย แต่นายวุฒิศักดิ์จะต้องเร่งรัดมากขึ้น อีกทั้งนายวุฒิศักดิ์มีมุมมองด้านการศึกษาดีมาก อยู่ในวงการศึกษามานาน และเป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ น่าจะทำประโยชน์ได้มาก

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

Advertisement

จากกระแสข่าวการปรับ ครม.ของรัฐบาล และหนึ่งในกระทรวงที่ปรับมี ศธ.ด้วยนั้น ในฐานะนักวิชาการอิสระเห็นว่างานการศึกษามีความสำคัญ และเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ความสำคัญในการนำประเทศสู่โลกของการแข่งขัน และสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีชื่อนายวุฒิศักดิ์มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลที่จะเฟ้นหาบุคคลที่เข้าใจ เข้าถึง หรือรู้ลึก รู้จริงในแวดวงการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นผลสำเร็จ สามารถก้าวผ่านหลุมดำที่เกาะติดสังคมมานานวัน และนายวุฒิศักดิ์ถือเป็นผู้กล้าที่อาสาเข้ามาในภาวะที่สังคมคาดหวังต่อผลงานการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การศึกษาชาติเดินไปข้างหน้าตามที่สังคมคาดหวัง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ต้องกางนโยบายรัฐบาลและแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 มาคลี่ดูว่าจะขับเคลื่อนงานการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร วันนี้ปัญหาการศึกษามีมาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติพยายามขับเคลื่อนในมิติการพัฒนาอย่างเต็มที่ แต่เพราะเป็นคนนอกวงการการศึกษา จึงอาจเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของการพัฒนาการศึกษาที่แท้จริง และไม่เป็นที่สะใจของสังคม แต่ต้องยอมรับว่าผลงานที่ นพ.ธีระเกียรติทำ ถือว่าสอบผ่านระดับหนึ่งในเวลาที่จำกัดของการบริหาร

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ใหม่และทีมงานต้องตระหนัก และให้ความสำคัญในการดำเนินการยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาภายใต้ศาสตร์พระราชาที่ยั่งยืน สร้างเด็กและเยาวชนให้มีความพอเพียง ตระหนักรู้ต่อคุณค่าการศึกษา และนำองค์ความรู้ไปร่วมพัฒนาประเทศ งานใดที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนเดิมก่อไว้ดี มีประโยชน์ต่อสังคม ต้องสานต่อ อย่าปรับรื้อให้เป็นปัญหา การเปิดวิสัยทัศน์ให้สังคมเห็นว่ารัฐมนตรีคนใหม่มาเพื่อความหวังแห่งอนาคต จะทำให้งานการศึกษาเดินไปอย่างมีเป้าหมาย ที่สำคัญจะทำอย่างไรในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา และการจัดการศึกษาให้เด็กเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา บนพื้นฐานของคุณภาพ ประสิทธิภาพ ตลอดจนการตอบโจทย์ในบริบทที่เปลี่ยนแปลง

ในขณะที่นายวุฒิศักดิ์ซึ่งมาจากรอบรั้วมหาวิทยาลัย เชื่อว่าปัญหาในสถาบันอุดมศึกษา คงจะเห็นในเชิงประจักษ์ที่จะดำเนินการแก้ไขโดยเฉพาะปัญหาธรรมาภิบาล ปัญหาคุณภาพบัณฑิต หรือการจัดการศึกษาในหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล หรือตลาดแรงงาน รวมทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เป็นมะเร็งร้ายเกาะติดวงการศึกษามาอย่างยาวนาน และติดอันดับต้นๆ ของการประเมินทุกครั้ง อีกหนึ่งในการบ้านคือการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา กระทรวงแห่งนี้ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ามหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหนกับการสังกัด ศธ.ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาจำกัดปีเศษๆ จากนี้ไป นายวุฒิศักดิ์คงจะต้องแสดงฝีมือเพื่อการพัฒนาการศึกษาเข้าสู่ 4.0 อย่างแท้จริง

อดิศร เนาวนนท์
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ที่มีชื่อนายวุฒิศักดิ์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในการปรับ ครม.นั้น นายวุฒิศักดิ์ได้รับความไว้วางใจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นสมาชิก สนช.เพราะมีผลงานโดดเด่นเรื่องการระดมนักศึกษา ม.ร.ให้ออกมาปะทะกับกลุ่มมวลชนเสื้อแดงปลายปี 2556 แม้จะเป็นอธิการบดี ม.ร.แต่ยังไม่เห็นผลงานเด่นชัดทางด้านการศึกษา การมีประสบการณ์ด้านอุดมศึกษาอาจจะช่วยให้มองภาพการศึกษาของประเทศได้ระดับหนึ่ง แต่ปัญหาวิกฤตทางการศึกษาของประเทศจะอยู่ที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีที่จะทำงาน สิ่งที่อยากจะฝากคือ ให้ทำงานตามนโยบายเดิมให้ดีก่อน หรือลดบางนโยบายลง อย่าสร้างนโยบายรายวันเพิ่ม โจทย์ของ ศธ.ที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนคือระดับอุดมศึกษา ต้องชัดเจนเรื่อง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน อยากให้ทบทวนคำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค เพราะนอกจากจะสร้างปัญหาในปัจจุบันแล้วยังจะเป็นระเบิดเวลาต่อไปในอนาคตอีก ที่อยากฝากมากที่สุดคือการผลักดันเรื่องโรงเรียนเป็นนิติบุคคลให้เกิดขึ้นให้ได้จริง

รัฐกรณ์ คิดการ
ประธานที่ปรึกษา ทปสท.

ศธ.ผ่านมา 3 ปี ใช้รัฐมนตรีไปแล้ว 4 คน แม้ล่าสุดจะได้นายวุฒิศักดิ์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จริง คิดว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิรูปการศึกษา เพราะ ศธ.เป็นกระทรวงใหญ่ มีหน่วยงานการศึกษาที่หลากหลาย ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา ที่สำคัญแต่ละระดับมีปัญหาความซับซ้อนแตกต่าง แต่การที่จะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จได้ รัฐมนตรีต้องมีความรู้ความเข้าใจในการศึกษาทั้ง 3 ระดับ เพราะต้องปฏิรูปไปพร้อมๆ กันทั้งระบบ ซึ่งที่ผ่านเรายังไม่เคยมีรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ซ้ำร้ายบางคนไม่รู้เรื่องการศึกษาเลย สุดท้ายก็บริหารตามพรายกระซิบ กับที่มีบางคนที่รู้บ้างในบางระดับ แต่ก็ไม่รู้จริงทั้งหมด เช่น อุดมศึกษา ซึ่งมีทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่เป็นส่วนราชการ และเอกชน ก็ล้วนมีปัญหาแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดรัฐมนตรีมักไม่กล้าเข้าไปแตะต้องมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นพรรคพวกบ้าง ครูบาอาจารย์ที่เคยสอนมาบ้าง ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ต้องพูดถึง ทั้งคนเยอะ และยิ่งสลับซับซ้อน สุดท้ายรัฐมนตรีก็พังเพราะพรายกระซิบ

นอกจากนี้ สิ่งที่พบเจอมาตลอดสำหรับกระทรวงนี้คือ การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีครั้งใด นโยบายก็ต้องเปลี่ยน สุดท้ายก็ไม่สามารถประเมินได้ซักทีว่านโยบายรัฐมนตรีคนไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ที่แน่ๆ การศึกษาไทยไม่ได้ก้าวไปไหน เหมือนพายเรือในอ่าง

สมพงษ์ จิตระดับ
อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปกติไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี ศธ.เพราะทำให้ขาดความต่อเนื่อง แต่การตัดสินใจเปลี่ยนรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเหมาะสม จะได้ทำให้การปฏิรูปการศึกษาที่ตอนนี้มีปมขัดแย้งเกิดขึ้นใหม่ๆ เดินหน้าไปได้ สาเหตุเพราะ 1.การปฏิรูปการศึกษาที่เป็นความคาดหวังของประชาชนอย่างมาก ไม่ก้าวหน้า คณะกรรมการหลายชุดเอาแต่ศึกษาปัญหาเก่าๆ 60-70% การศึกษาอยู่บนข้อเสนอเดิมๆ ไม่มีนวัตกรรมการปฏิรูปการศึกษา ทำให้การปฏิรูปการศึกษาติดหล่มอยู่ที่เดิม ไม่มีอะไรดีขึ้นมากขึ้น 2.การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาสร้างปมปัญหาทางการศึกษาใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การผลิตหลักสูตรครู 4 ปี หรือ 5 ปี จนถึงขณะนี้ยังขัดแย้งอยู่ ความขัดแย้งทางการบริหารระหว่างภูมิภาคกับจังหวัดที่เป็นการบริหารแบบยุ่งเหยิง เหมือนยึดกฎหมายคนละฉบับ กลายเป็นปัญหาระยะยาวในอนาคตระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ถ้า ศธจ.กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่พื้นที่การศึกษาคุยกันได้ ก็จะไปได้ไกล แต่ถ้าขัดแย้ง จะส่งผลต่อโรงเรียนและนักเรียน และ 3.การใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557(ฉบับชั่วคราว) แก้ไขปัญหา หรือระบบทุจริตคอร์รัปชั่นใน ศธ.ที่มีมาก ก็ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกศค.) คุรุสภา หรือองค์การค้าของ สกสค. แม้แต่เรื่องอื่นๆ อาทิ นโยบายแจกหนังสือเรียนฟรี หรือไม่ฟรี ก็สร้างความขัดแย้ง

อยากเห็นความชัดเจนในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาซึ่ง นพ.ธีระเกียรติเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจ เพียงแต่วุฒิภาวะในการบริหารอ่อนด้อย มองปฏิรูปการศึกษาที่ตัวเองเป็นใหญ่ การมีส่วนร่วมจากสังคมภายนอกแทบไม่มีเลย แนวโน้มการปฏิรูปการศึกษาจะต้องเน้นการมีส่วนร่วม และภาคส่วนต่างๆ ท้องถิ่น หรือคิดล่างสู่บน การกระจายอำนาจให้พื้นที่จัดการศึกษา ดังนั้น คิดว่าการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นสิ่งที่เหมาะสม ในส่วนของ นพ.ธีระเกียรติ ผมเคยให้คะแนน 3 คะแนน มาถึงวันนี้ก็ยังคงให้ 3-4 คะแนนสำหรับผลงานที่ผ่านมา

สำหรับนายวุฒิศักดิ์ที่มีรายชื่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั้น จุดเด่นคือเป็นนักรัฐศาสตร์ นักบริหารจัดการ และนักบูรณาการ สิ่งที่เกิดขึ้นจากนี้คาดว่าการเชื่อมโยงกับเรื่องอุดมศึกษาจะดีขึ้นจากเดิมที่อุดมศึกษาถูกทิ้งมานาน ได้อธิการบดีมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แบบนี้ อุดมศึกษาน่าจะดีขึ้น แต่ระดับอื่นๆ นายวุฒิศักดิ์คงต้องหาทีมงานมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย เป็นต้น สำหรับจุดอ่อน สังคมคาดหวังกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่มาก เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนรวดเร็ว ขณะที่กรอบการทำงานเหลืออยู่แค่ปีเดียว เรียกว่าเวลาเหลือน้อย แต่สังคมคาดหวังมาก เพราะปีที่แล้วปฏิรูปการศึกษาไม่เดินหน้าเลย แถมยังสร้างปมขัดแย้งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก

ฉะนั้น คิดว่าสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ควรทำคือ ในการปฏิรูปการศึกษาควรจัดลำดับความสำคัญ อาทิ เร่งออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายสำคัญๆ ไม่ออกมาเลย เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัย ซึ่งการที่นายวุฒิศักดิ์ เป็นสมาชิก สนช.สามารถใช้ความเป็นสมาชิก สนช.เป็นจุดแข็งในการเชื่อมประสาน และผลักดันกฎหมายออกมาได้ ไทม์ไลน์การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องๆ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคสังคม ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้ามาช่วยการศึกษามากมาย แต่ไม่ได้รับความสนใจจาก ศธ.การบริหารจัดการโดยลดผู้ที่ไม่รู้เรื่องการศึกษาแต่เข้ามาเป็นกรรมการชุดต่างๆ ในการปฏิรูปการศึกษา เช่น บางคนไม่รู้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนขยายโอกาส สมรรถนะครู ความแตกต่างระหว่างการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นต้น ทั้งนี้ ส่วนตัวคาดหวังกับนายวุฒิศักดิ์ 6-7 คะแนน จากคะแนน 10 คะแนน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image