แพทย์แนะวิธีช่วยชีวิตเบื้องต้น ผู้ป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน

จากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เผยยอดผู้เสียชีวิตในไทย ปีละประมาณ 54,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน โดยมีสาเหตุมาจาก โรคหัวใจ ที่นับเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็ง

โดยผู้ป่วยเกินครึ่งเสียชีวิตก่อนส่งถึงโรงพยาบาล ด้วยสาเหตุมาจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ยังขาดทักษะความรู้พื้นฐานเรื่องการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary Resuscitation : CPR) อย่างไรก็ตามการทำ CPR นับเป็นเพียง 10% ของการช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเป็นการกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปที่สมองแต่หัวใจยังไม่กลับมาทำงานจึงทำให้โอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก แต่ในปัจจุบันสามารถลดอัตราการเสี่ยงการเสียชีวิตได้ ด้วย “เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ” (Automated Electrical Defibrillator: AED) และโทรแจ้ง 1669 หรือรถพยาบาลกู้ชีพโดยด่วน

นายแพทย์วรการ พรหมพันธุ์ นายแพทย์ชำนาญการด้านกุมารเวชกรรม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุหัวใจหยุดเต้นกะทันหันอาจเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เกิดได้ในทุกสถานที่ และเกิดได้ทุกเวลา ทั้งนี้เพียงเสี้ยววินาทีที่หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นผิดจังหวะ สมองและร่างกายจะขาดออกซิเจน จนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด และอาการเหล่านี้มักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ผู้เสียชีวิตโดยมากมักมีอาการเป็นลมหมดสติกะทันหัน หรืออาจเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิดมาก่อน เช่น จมน้ำโดยที่มีทักษะการว่ายน้ำเป็นอย่างดี หรือเกิดอุบัติเหตุ ในระหว่างปั่นจักรยานโดยไม่มีสาเหตุอันควร

นพ.วรการ พรหมพันธุ์

การลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันนั้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐาน 2 เรื่อง ได้แก่ ความรู้พื้นฐานเรื่องปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED)
ดังนี้

Advertisement

ก่อนการเข้าช่วยเหลือผู้ที่หมดสติ หรือเกิดอุบัติเหตุ ต้องทำการตรวจสภาพร่างกายก่อน เริ่มต้นจากการเรียกชื่อ ว่าพอจะรู้สึกตัว หายใจได้เองหรือไม่ เพราะอาจเกิดจากการสำลักอาหารหรือวัตถุแปลกปลอมเข้าหลอดลม ตลอดจนมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคหอบหืด เป็นต้น

แต่กระนั้น หากยังไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจหรือเว้นระยะการหายใจนาน และตรวจไม่พบว่ามีชีพจร (หรือไม่แน่ใจว่ามีชีพจร) โดยตรวจสอบบริเวณคอในผู้ใหญ่ เด็กโต และบริเวณขาหนีบในเด็กเล็ก ภายในระยะเวลา 10 วินาที ต้องเริ่มทำ CPR อย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะหากสมองขาดเลือดซึ่งนำออกซิเจนไปสู่สมองเกินกว่า 6 นาที เยื่อในสมองอาจถูกทำลายจนนำไปสู่สภาวะสมองตายได้

หลังตรวจสอบพบว่าผู้ป่วยหมดสติ ให้รีบตามคนมาช่วย หรือติดต่อ 1669 โดยในระหว่างนั้น ให้ผู้ช่วยเหลือทำ CPR ไปก่อน เริ่มจากผู้ช่วยเหลือเหยียดแขนตรงและใช้มือสองข้างไขว้นิ้วร่วมกันกดลงไปบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ของผู้ป่วย ให้หน้าอกยุบลงไปประมาณ 4-5 เซนติเมตร (หรือประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอกผู้ป่วย) แล้วปล่อยให้หน้าอกคืนสภาพ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆในอัตรา 100-120 ครั้งต่อนาที จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว หรือมีทีมกู้ชีพมาช่วยเหลือ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ประมาณ 2-5 นาที หากผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวหลังได้รับการทำ CPR ควรให้คนในละแวกนั้น นำเครื่อง AED มาใช้ในการช่วยชีวิต โดยเมื่อเปิดสวิทซ์เครื่อง AED เครื่องจะแนะนำให้ผู้ใช้งานทำตามเป็นลำดับขั้นตอน

โดยเริ่มจากติดแผ่นวิเคราะห์ลงบนบริเวณหน้าอกของผู้ป่วย ไม่มีเสื้อผ้า เสื้อชั้นในบดบัง จากนั้นเครื่อง AED จะตรวจสอบการเต้นของหัวใจผู้ป่วย หากเครื่องประเมินว่าสมควรได้รับการกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า เครื่องจะบอกให้กดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า โดยผู้ช่วยเหลือห้ามสัมผัสผู้ป่วย เมื่อกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าแล้ว เครื่องจะให้คำแนะนำในการช่วยเหลือต่อไป หากเครื่องประเมินแล้วว่าไม่จำเป็นต้องกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า เครื่องก็จะแนะนำให้ทำ CPR ต่อไปจนกว่าจะมีทีมกู้ชีพมาช่วยเหลือ

การทำ CPR ร่วมกับการใช้เครื่อง AED ทำให้การช่วยชีวิตจะประสบผลสำเร็จมากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 สูงกว่าการปั๊มหัวใจอย่างเดียวที่มีโอกาสเพียงร้อยละ 3-5 ระหว่างรอทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินรับไปดูแลต่อในโรงพยาบาลต่อไป

ทั้งนี้ในปัจจุบัน เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาใช้ตามสถานที่ราชการ บริษัทเอกชน โรงงาน โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา โรงแรม สถานอนามัยหรือโรงพยาบาล สนามบิน และบนเครื่องบินมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image