สุจิตต์ วงษ์เทศ : วรรณคดี ไม่เพื่อปลดปล่อย อ่านแล้วตกเป็นเชลยของกวีและครูผู้สอน

วรรณคดี ไม่เพื่อปลดปล่อย อ่านแล้วตกเป็นเชลยของกวีและครูผู้สอน

“เราไม่ได้อ่านวรรณกรรมเพื่อการปลดปล่อย แต่อ่านเพื่อตกเป็นเชลยของกวีและครูผู้สถาปนาอำนาจเผด็จการขึ้นเหนือหัวใจของเรา”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกไว้ในข้อเขียนเรื่อง “หยุดเผาวรรณคดีไทยเสียที” (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 17-23 พฤศจิกายน 2560 หน้า 30-31)

ผมมีปัญหามากกับ “ครูผู้สถาปนาอำนาจเผด็จการ” ทางวรรณคดี-วรรณกรรม ทำให้ไม่สนุก ทั้งๆ เป็นงานสนุกมากทุกครั้งที่อ่านแต่ละเล่ม โดยไม่ฟังครู

Advertisement

 

นิราศ

วรรณคดีเชิงนิราศที่กวีพรรณนาด้วยถ้อยคำไพเราะ เพื่อสั่งเสียสั่งลาคนรักซึ่งต้องพลัดพรากจากกันห่างไกล โดยพาดพิงชื่อบ้านนามเมืองกับภูมิประเทศที่ผ่าน เมื่ออ่านแล้วทำให้ได้คิดใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างน้อย 2 ด้าน ทั้งรสคำและรสความ

Advertisement

รสคำ ได้แก่ ถ้อยคำสำนวนภาษาโวหารและวรรณศิลป์

รสความ ได้แก่ เนื้อหาที่บอกให้รู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิประเทศ ซึ่งสำคัญมากๆ เพราะหายากหรือหาไม่ได้จากเอกสารอื่นๆ เช่น นิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ บอกให้รู้ความแตกต่างของที่ลุ่มกับที่ดอน บริเวณทุ่งหลวงของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

แต่ครูบาอาจารย์สอนวรรณคดีในไทย สร้างกรอบครอบงำด้านเดียว คือ รสคำ โดยกีดกัน (บางคนถึงขนาดกำจัดก็มี) ความคิดด้านอื่น เช่น รสความ จึงเป็นตามที่ อ.นิธิ เขียนบอกว่า

“การเรียนการสอนวรรณกรรม-วรรณคดีในเมืองไทย—-คือสถาปนาความหมายเพียงอันเดียวที่ครูประกาศิตไว้ให้เป็นความหมายที่ถูกต้องและเป็นไปได้แก่วรรณกรรมแต่ละชิ้นจินตนาการสร้างสรรค์จึงหมดบทบาทหน้าที่ในการเรียนวรรณกรรมไปโดยสิ้นเชิง

และแน่นอนว่าวรรณกรรมแต่ละชิ้นไร้ความหมายในชีวิตจริงของผู้เรียน ยิ่งเป็นวรรณกรรมเก่าเท่าไรก็ยิ่งไร้ความหมายมากเท่านั้น”

“เราอ่านวรรณคดีอะไรก็ตาม เพื่อจะรู้ว่าเราคิดอะไรต่างหาก—-จุดอ่อนของการเรียนการสอนวรรณคดี (ทั้งไทยและต่างชาติ) ในประเทศไทย คือไม่สนใจว่าอ่านแล้วเราคิดอะไร และทำไม”

(ควรอ่านบทความนี้ทั้งหมดของ อ.นิธิ ในมติชนสุดสัปดาห์ แล้วจะอร่อยสุดๆ ยกเว้นครูสอนวรรณคดี)

 

พลังวรรณคดีไทย

วรรณคดี-วรรณกรรมในไทย ถูกสถาปนาให้อนุรักษนิยมสุดโต่งต่อความเป็นไทยแท้ที่ไม่มีจริงในโลก แต่มีพลังอย่างยิ่ง แล้วดูดกลืนเชลยได้มาก

ที่สำคัญกว่านั้น บรรดาเชลยเมื่อถูกดูดกลืนเข้าไปแล้วต่างพากันสวามิภักดิ์อย่างสุดใจขาดดิ้น บางทีถึงขนาดทำลายอย่างเอาเป็นเอาตายต่อฝ่ายตรงข้ามซึ่งไม่อนุรักษ์

เออ ทำยังไง? ทำไมเก่งจริงว่ะ? น่าสงสัยมาก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image