สธ.เตรียมประสานก.วิทย์ฯ หลังรพ.โอดกม.นิวเคลียร์คุมใช้เครื่องเอกซเรย์

หลังจากชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ออกมาร้องถึงผลกระทบจาก  พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ในการควบคุมการใช้เครื่องรังสี โดยจะกระทบต่อเครื่องเอกซเรย์เพื่อการวินิจฉัย ที่กำหนดให้ผู้ใช้ต้องเป็นนักรังสี หากฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับสูงถึง 5 แสน จำคุก 5 ปี ทั้งที่ความเป็นจริงโรงพยาบาลรัฐขาดแคลนนักรังสีเป็นจำนวนมาก โดยชมรมได้ยื่นหนังสือขอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไปยังกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันยื่นต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้ช่วยเหลือเรื่องนี้ด้วย  กระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  เดินหน้ายื่นรายชื่อขอแก้กฎหมายกรณีดังกล่าว โดยจะเตรียมประชาพิจารณ์ร่วมด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  ทางกระทรวงฯได้รับเรื่องจากทางชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนฯ รวมทั้งโรงพยาบาลทั่วไปแล้วว่า กังวลเกี่ยวกับการใช้พ.ร.บ.ฯดังกล่าว และขอให้ทางกระทรวงฯหาแนวทางช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมานพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มอบหมายให้ตนเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาหารือเรื่องนี้ โดยได้เชิญทั้งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) นักฎหมายมาหารือในประเด็นข้อกังวล ซึ่งจากการประชุมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเพราะกังวลจะมีอุปสรรคในการปฏิบัติงาน และเตรียมรวบรวมข้อกังวลดังกล่าวเสนอต่อปลัดสธ.ต่อไป ขณะเดียวกันจะประสานเพื่อขอหารือกับทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรเพื่อลดอุปสรรคจากการปฏิบัติงานเหล่านี้ เนื่องจากข้อเท็จจริงนักรังสีที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ยังมีจำนวนไม่เพียงพอจริงๆ

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธาน สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า นักรังสีเป็นสาขาที่ขาดแคลนมากจริงๆ ซึ่งพ.ร.บ.ฯที่ออกมานั้น เข้าใจว่าต้องการควบคุมความปลอดภัยจากการใช้เครื่องรังสี แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปกว่า 1,000 แห่ง ต่างมีเครื่องรังสี แต่นักรังสีมีไม่เพียงพอ โดยที่ผ่านมาจะมีผู้ช่วยนักรังสีที่ผ่านการอบรม และมีการดูแลตรวจสอบมาตรฐานคอยดำเนินการในส่วนของเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่หากเป็นเครื่องรังสีเพื่อการรักษาก็จะเป็นนักรังสีที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการ แต่ในส่วนเครื่องเอกซเรย์ก็ควรมีช่องทางหรือมีเงื่อนไขอะไรที่จะลดอุปสรรคจากการใช้ตรงนี้ด้วย ดังนั้น หากสนช.จะเดินหน้าแก้กฎหมายก็แสดงว่าเข้าใจต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

“จริงๆเห็นด้วยที่จะมีการควบคุมความปลอดภัย แต่บางอย่างก็ต้องมีการหารือกันว่าจะแก้ไขอย่างไร โดยอาจต้องมีบทเฉพาะกาล หรือมีเงื่อนไขอะไรเพื่อลดอุปสรรคตรงนี้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อผู้ป่วยมาเข้ารับบริการ อย่างไรเสียพวกเราก็ต้องให้บริการ แม้จะไม่มีนักรังสีตามกฎหมาย แต่หากผู้ป่วยต้องเอกซเรย์กระดูกหรืออวัยวะใดเพื่อประกอบการวินิจฉัยทางการแพทย์ เราก็ต้องทำ แต่เราก็คงต้องเสี่ยงรับโทษที่กำหนดไว้แทน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ผู้ปฏิบัติงานจะทำอย่างไรต่อไป” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image