รองอธิบดีกรมศิลป์ แจงบูรณะกำแพงเมืองแปดริ้วเป็นแหล่งเรียนรู้ ปูนเปื้อนปืนใหญ่ไม่กระทบ

รองอธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงกรณีบูรณะกำแพงเมืองฉะเชิงเทราและปืนใหญ่ให้มีสภาพดี เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่บริเวณกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา นายประทีป เพ็งตะโก รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่สื่อโซเชียลมีความเห็นกรณีการบูรณะกำแพงเมืองฉะเชิงเทราและปืนใหญ่ รวมทั้งการปรับถมสระน้ำโบราณนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า สืบเนื่องจากกรมศิลปากรได้ตั้งงบประมาณบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์กำแพงเมืองฉะเชิงเทรา ส่วนที่ยังคงสภาพทั้งหมด มีความยาวประมาณ 500 เมตรเศษ เนื่องจากเรือนจำจังหวัดฉะเชิงเทรามีแผนย้ายออกไป และให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามครอบคลุมพื้นที่โดยรอบอาคารเก่าริมถนนมรุพงษ์ เพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนกำแพงเมืองฉะเชิงเทราที่ยังหลงเหลืออยู่ และปรับพื้นที่โดยรอบให้มีสภาพที่ดีเป็นประโยชน์ อีกทั้งปรับใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาความปลอดภัยของเรือนจำ ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน โดยกรมศิลปากรได้เริ่มต้นบูรณะในปี พ.ศ.2560 และวางแผนทำแบบบูรณะตลอดทั้งแนวในปี พ.ศ.2561 จากนั้นจะบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้แล้วเสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ.2564

ด้านนายเมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี กล่าวว่า กรณีข้อสงสัยถมสระน้ำโบราณข้างเรือนจำด้านหลังกำแพงเมืองนั้น ขอชี้แจงเกี่ยวกับหลักฐานที่แสดงว่าแอ่งน้ำที่คิดว่าเป็นสระน้ำ ไม่ใช่สระน้ำโบราณ คือ แผนที่เก่าของกำแพงเมือง-คูเมือง สมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ปรากฏว่ามีสระน้ำโบราณในพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด และภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2495 แสดงถึงการก่อสร้างเรือนจำกลางฉะเชิงเทรา มีการถมปรับที่ติดกำแพงเมือง ซึ่งเป็นที่ลุ่มทำให้เกิดแอ่งน้ำคล้ายสระน้ำโบราณ อีกทั้งการขุดดินชั้นดินทางโบราณคดีของกรมศิลปากร ทำให้ทราบว่ากำแพงเมืองฉะเชิงเทรามีพื้นเดิมลึกลงไปจากพื้นปัจจุบันประมาณ 2 เมตรเศษ สอดคล้องกับแผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 และขอยืนยันเรื่องไม่มีสระน้ำใดๆ ในพื้นที่ เนื่องจากแอ่งน้ำลึกไม่เกิน 1.50 เมตร

นอกจากนี้ กรณีเศษปูนดำกระเด็นโดนปืนใหญ่นั้น ปูนดำที่กระเด็นเปื้อนปืนใหญ่ เป็นปูนสูตรโบราณ ช่วงการทำงานอาจโดนพื้นที่รอบๆ บ้าง และที่เปื้อนปืนใหญ่ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อตัวปืน ก่อนเสร็จงานประจำวันช่างได้ทำความสะอาดและหุ้มรักษาสภาพไว้ด้วยแผ่นพลาสติกบางๆ เรียบร้อยแล้ว สำหรับการปรับพื้นที่โดยรอบเพื่อให้เกิดความสะอาดเรียบร้อยสวยงาม ง่ายต่อการรักษาและเหมาะสมที่จะปรับใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของจังหวัด ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามหลักการอนุรักษ์สากล และไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์โบราณสถาน เนื่องจากไม่ได้เป็นการทำลายหลักฐานใดๆ

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image