‘บิ๊กตู่’แจงเหตุราคายางตกต่ำ ขออย่าโยงการเมือง เบรกม็อบไม่ต้องมาร้องที่กทม.

เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผลบนข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง สำหรับปัญหาสำคัญยางพาราตกต่ำ จำเป็นต้องเข้าใจในภาพรวมเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาไปในแนวทางที่จะร่วมมือกันได้ 1.ประเด็นราคายางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ มีความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์หลายอย่าง เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลก สะท้อนต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์ เช่น ช่วงปี 2540-2548 น้ำมันราคาแพง ทำให้ราคายางสังเคราะห์แพงตามไปด้วย แต่พอราคาน้ำมันลด ราคายางสังเคราะห์ก็ลดตามแต่ปริมาณยางธรรมชาติยังคงมากนะครับ และเกินความต้องการของตลาด เพราะหันไปใช้ยางสังเคราะห์ทำให้ราคายางพาราตกต่ำซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ

2.ประเด็นปริมาณการผลิตยางพารา ช่วงปี 2554-2558 ทิศทางของโลกลดการผลิตลงแต่ไทยเราผลิตเพิ่มขึ้น ก็เป็นผลมาจากการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในอดีตทำให้เกิดความไม่สมดุลกัน ที่สำคัญเกษตรกรสวนยางไทยนั้น จะปลูกยางเป็นพืชเชิงเดี่ยวทำให้เมื่อราคายางผันผวนจะมีผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือน ประเทศอื่นนั้นเกษตรกรจะเพาะปลูกเป็นพืชทางเลือกเสริมเข้ามาด้วยควบคู่กับการปลูกยาง 3.ประเด็นการใช้ยางพาราในประเทศน้อยลงเมื่อเทียบกับผลผลิต ประเทศไทยผลิตยางพาราถึง 4.47 ล้านตัน มีการใช้ยางพาราในประเทศเพียง 0.60 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก ทำให้ราคายางพาราต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกซึ่งแปรผันตามปริมาณความต้องการ ที่ผูกโยงกับราคาน้ำมันด้วยจนไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด 4.ประเด็นความไม่เหมาะสมของพื้นที่ปลูกยางพารา ในปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางราว 20 ล้านไร่ โดยเฉลี่ยอัตราผลผลิต ประมาณ 225 ถึง 245 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่พื้นที่กรีดยาง ภาคเหนือให้ผลผลิตเฉลี่ยต่ำสุด คือ 143 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานให้ผลผลิตเพียง 185 กิโลกรัมต่อไร่

นายกฯ กล่าวว่า ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาลในระยะยาว เพื่อความยั่งยืนคือ อาทิ ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางมีการประกอบอาชีพเสริม เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ที่เหมาะสมกับตลาดท้องถิ่นของตนเอง การทำปศุสัตว์ และประมง ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง ควบคุมและลดพื้นที่ปลูกยางพาราให้เหมาะสม โดยลดพื้นที่ปลูกยางลงให้ได้มีเป้าหมายปีละ 4 แสนไร่ ปัจจุบันสามารถลดพื้นที่ปลูกได้แล้ว 1.19 ล้านไร่ จะทำให้ปริมาณผลผลิตยางในตลาดโลก ใกล้เคียงกับความต้องการ ทำให้ราคาไม่ตกต่ำมากนัก และความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ผ่านสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) มีมาตรการควบคุมอุปทานยาง ให้อนาคตมีปริมาณการผลิตยางพาราของแต่ละประเทศในปริมาณที่เหมาะสม

“ผมอยากให้ทุกคน ทุกฝ่ายในห่วงโซ่ของยางพาราไทย มีความเข้าใจที่ตรงกัน ไว้ใจซึ่งกันและกัน แล้วมีหลักการและเหตุผลไม่ว่าจะประท้วงหรือยื่นหนังสืออะไรต่างๆ ก็ตาม ขอให้ยื่นอย่างสงบ ไม่อยากให้มีการนำเกษตรกรเข้ามาที่กรุงเทพ ต้องมายื่นกับนายกฯคนเดียว ยื่นในพื้นที่เขาก็ส่งถึงผมอยู่ดี ผมไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมือง ผมเข้าใจเศรษฐกิจสำคัญที่สุด ถ้าทุกคนทำสวนยาง เมื่อยางราคาไม่ดี ต้องคิดใหม่จะได้แก้ปัญหาร่วมกันตามนโยบายต่างๆของรัฐบาล”นายกฯ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image