คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : Double11 เขย่าโลก ‘นักช้อปไร้เงินสด’

มหกรรมช้อปปิ้งเขย่าโลก “11.11 Global Shopping Festival2017” หรือ Happy Double11 จัดโดยยักษ์อีคอมเมิร์ซโลก “อาลีบาบา” เพิ่งจบลงไปหมาดๆ ไม่กี่วันก่อน ซึ่งก็เป็นไปตามคาดที่สามารถทุบสถิติของปีที่ผ่านมาไปได้ในที่สุดด้วยมูลค่ายอดขายที่ 23,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 8.3 แสนล้านบาท

ทั้งพบอีกว่า “อาลีบาบา คลาวด์” มีการประมวลผลคำสั่งซื้อสูงสุดถึง 325,000 ครั้งต่อวินาที ในช่วง 1 ชั่วโมงแรกของมหกรรม ขณะที่ระบบชำระเงิน “อาลีเพย์” มีการประมวลผลคำสั่งชำระเงินสูงสุดถึง 256,000 ครั้งต่อวินาที ใน 1 ชั่วโมงแรกของมหกรรม

และภายในชั่วโมงเดียว มีแบรนด์กว่า 60 ราย ทำยอดขายได้สูงกว่า 100 ล้านหยวน (15.1 ล้านเหรียญสหรัฐ) อาทิแอปเปิล, เอสเต้ ลอเดอร์, แก๊ป, ลอรีอัล, ไนกี้, ซัมซุง, ยูนิโคล่, ซาร่า และแบรนด์อื่นๆ

ใน 8.3 แสนล้านบาทยังเป็นยอดสั่งซื้อและชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนถึง 90% ของยอดขายโดยรวม เพิ่มจากปีที่ผ่านมา ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 82%

Advertisement

แม้ทั้งหมดจะเป็นยอดขายที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง (เริ่มเที่ยงคืนวันที่ 10 ไปจบในเที่ยงคืนวันที่ 11 พฤศจิกายน) และทำได้มากกว่าปีที่แล้ว (1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ถึง 39% แต่ก่อนถึงค่ำคืนแห่งการช้อปปิ้ง “อาลีบาบา” ปลุกกระแสด้วยสารพัดกิจกรรมเป็นระยะเวลา 24 วัน โดยมีความร่วมมือกับพันธมิตรจำนวนมาก ตั้งแต่แบรนด์สินค้าระดับโลก และแบรนด์ในประเทศจีน, ร้านค้าทั้งในออนไลน์และออฟไลน์, สถาบันการเงิน, บริษัทโลจิสติกส์ และห้างสรรพสินค้าต่างๆ นอกจาก กระตุ้นต่อมนักช้อปแบบไม่มียั้งแล้ว “อาลีบาบา” ยังตั้งใจให้มหกรรมช้อปปิ้ง 11.11.2017 ให้เป็นเวทีพิสูจน์แนวคิด New Retail หรือค้าปลีกยุคใหม่ที่ผสมผสานประสบการณ์ช้อปปิ้งบนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เป็นหนึ่งเดียวกันด้วย

ทำให้ตลอดเทศกาล 11.11 “อาลีบาบา” จับมือกับศูนย์การค้า 52 แห่ง สร้างป๊อปอัพสโตร์ภายใต้แนวคิด “New Retail”จำนวน 60 สาขา ใน 12 เมือง ทั่วประเทศจีน เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งรูปแบบใหม่ เช่น ลองลิปสติปด้วยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality)

ทั้งยังอัพเกรดร้านค้ากว่า 100,000 แห่ง ใน 31 มณฑล และ334 เมืองทั่วประเทศจีน เป็น “ร้านค้าอัจฉริยะ” เช่น มีระบบชำระเงินด้วยการสแกนใบหน้า (Facial Recognition Payment) รวมถึงช้อปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์ได้แบบไร้รอยต่อ

Advertisement

แดเนียล จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า ยอดขาย 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในวันเดียว ไม่ได้มีความหมายแค่ยอดขายปกติทั่วไป แต่สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในสินค้าคุณภาพสูงในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน และการผนึกรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของธุรกิจค้าปลีกในโลกออฟไลน์และออนไลน์

“มหกรรมช้อปปิ้ง 11.11” ปีนี้ เปิดให้ผู้บริโภคจีนจับจ่ายสินค้าจากแบรนด์ทั่วโลกกว่า 60,000 แบรนด์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของอาลีบาบา ไม่ว่าจะเป็นอาดิดาส, โบส, ลาแมร์, ลอรีอัล, แมค, ไนกี้, พีแอนด์จี, ชิเชโด ซีเมนส์, ยูนิลีเวอร์, ซาร่า และอีกมากมาย

ประเทศที่ขายสินค้าให้ผู้บริโภคในประเทศจีนได้มากที่สุดในปีนี้ คือ ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, เยอรมนี และเกาหลีใต้

ไม่เฉพาะแบรนด์อินเตอร์ เว็บไซต์ “ทีมอลล์” ของอาลีบาบาไม่เพียงเปิดโอกาสให้แบรนด์จีน 100 ราย จำหน่าย

สินค้าให้ลูกค้าจากทั่วโลกได้เท่านั้น แต่ช่วยกระตุ้นการทำตลาดด้วยการให้บริการจัดส่งสินค้าฟรีกับลูกค้าใน 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขยายการเข้าถึงตลาดต่างประเทศของสินค้าจีนด้วย

ไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาล 11.11 แล้ว “อาลีบาบา” ยังสร้าง Hema (เหอหม่า) ร้านค้าแนวทดลองเพื่อตอกย้ำกลยุทธ์ New Retail ของตนเองอย่างเป็นรูปธรรมด้วย โดยได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวก และสนุกเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการช้อปปิ้งให้กับผู้บริโภค ด้วยการเชื่อมโยงการซื้อขายในโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่

สินค้าที่เป็นไฮไลท์ใน “เหอหม่า” จะเป็นอาหารสด มีครบตั้งแต่ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ต่างๆ แต่จุดเด่นอยู่ที่อาหารทะเลสดๆ จากทุกมุมโลก

แนวคิดเบื้องหลัง “เหอหม่า” คือการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เลือกสินค้าสดใหม่ในร้านค้าแบบออฟไลน์ ชำระเงินซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ต้องใช้เงินสด และรับสินค้าที่บ้านทันที ภายในเวลา 30 นาที ทั้งยังสั่งอาหารเพื่อทานในร้านได้อีกด้วย

นอกจากเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้ว “เหอหม่า” ยังมีบทบาทเป็นศูนย์จัดเก็บสินค้า และศูนย์จัดส่งสินค้าด้วย โดยแต่ละสาขามีบริการจัดส่งสินค้าฟรี ภายในรัศมี 3 กิโลเมตร

สินค้าทุกชิ้นจะมีรหัสบาร์โค้ดของตนเอง ลูกค้าจึงตรวจสอบข้อมูลและชำระเงินซื้อผ่านแอปพลิเคชั่น “อาลีเพย์” ได้ทันที นอกจากจัดส่งถึงบ้านฟรีด้วยความรวดเร็วแล้ว ว่ากันว่า สินค้าที่จำหน่ายใน “เหอหม่า” ยังจะถูกกว่าซื้อที่อื่น เพราะเว็บไซต์ “ทีมอลล์” ของอาลีบาบา สั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง และสั่งเป็นจำนวนมากจึงได้ “ต้นทุน” ที่ดีกว่า ทำให้สามารถกำหนดราคาขายได้ถูกกว่าด้วย

จากข้อมูลในบิ๊กดาต้าของ “อาลีบาบา” ระบุว่า ลูกค้าที่มาช้อปปิ้งใน “เหอหม่า” มีอายุระหว่าง 25-35 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และแต่งงานแล้ว ทั้งยังพบด้วยว่า หากเคยมาใช้บริการแล้วก็มักจะกลับมาซื้อใหม่จนเป็นขาประจำ และมีการซื้อสินค้าเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 4.5 ครั้ง ประมาณมาช้อปปิ้งกันทุกอาทิตย์

“เหอหม่า” สาขา Jinqiao ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นสาขาแรก มีอัตราส่วนการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์เทียบกับออฟไลน์

คิดเป็น 7 ต่อ 3

ย้ำอีกครั้งว่าทุกการใช้จ่ายในเหอหม่า รวมถึงการสั่งซื้อทางออนไลน์จะเป็นการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น ทั้งแอปเหอหม่า, อาลีเพย์หรือเถาเป่าทั้งสิ้น ไม่ต้องพกเงินสดแม้แต่น้อย

ประเทศจีนกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด (cashless society) อย่างรวดเร็ว โดยการร่วมด้วยช่วยกันผลักดันอย่างแข็งขันของ 2 ยักษ์ใหญ่ของโลก และของจีน คือ “อาลีบาบา” (อาลีเพย์) และ “เท็นเซ็นต์”(วีแชทเพย์)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image