ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชวนทอดน่อง “วัดโพธิ์โสภาสถาพร” ย้อนฉากประวัติศาสตร์ ถอดรหัสสถาปัตย์รัตนโกสินทร์

“เห็นวัดโพธิ์โสภาสถาพร สง่างอนงามพริ้งทุกสิ่งอัน

โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์”

บทประพันธ์ของ “นายมี” กวีที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จากนิราศพระแท่นดงรัง คงไม่เกินความจริงในถ้อยความพรรณนาถึงความงามสง่าของอารามที่ได้ชื่อต่อมาว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” สมเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาโดยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องหลายยุคสมัย โดยเฉพาะยุคพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สุจิตต์-ขรรค์ชัย

เรื่องราวน่าสนใจพร้อมด้วยภาพอันตระการตาจะถูกถ่ายทอดสดในรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทัวร์ทอดน่องท่องเที่ยว” ประจำเดือนพฤศจิกายน ผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” เช่นเคย โดยครั้งนี้มีวิทยากรรับเชิญมากความสามารถอย่าง ธัชชัย ยอดพิชัย จากกองบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ร่วมบอกเล่าถึงศิลปะที่แฝงนัยยะอันลึกซึ้ง

จาก “วัดราษฎร์” สู่วัดหลวง

เปิดประวัติ “วัดโพธิ์” มาจากไหน?

วลี “มาจากไหน?” กลายเป็นเสมือนลายเซ็นของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชนไปเรียบร้อยแล้ว หลังเจ้าตัวขยันสร้างผลงานที่ตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ ทางประวัติศาสตร์พร้อมคำลงท้ายว่า มาจากไหน?

Advertisement

ความเป็นมาของวัดโพธิ์ก็เช่นกัน

กว่าจะกลายเป็นพระอารามหลวงอันเป็นที่ยึดมั่นศรัทธาของคนไทยทั่วทั้งอาณาจักร วัดโพธิ์ถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่กันแน่ เป็นวัดหลวงที่โอ่อ่ามาแต่เดิมหรือไม่ วัดโพธิ์ในแต่ละยุคสมัยเป็นฉากหลังของเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และสุจิตต์ จะพาผู้ชมฝ่านักท่องเที่ยวมากมายจากทั่วโลกที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนวัดโพธิ์มหาศาลในทุกๆ วัน เพื่อตอบคำถามดังกล่าว พร้อมชมสถาปัตยกรรมอันวิจิตร ชี้ชวนให้หลับตาจินตนาการย้อนหลังสู่ครั้งกรุงเก่า ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางชุมชนการค้าคนจีนกับคนญวน มีชื่อว่า “วัดโพธาราม” หรือ “วัดโพ” สันนิษฐานว่ากลุ่มพ่อค้าในย่านดังกล่าวร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในสยาม ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติดังเดิมมาจากที่ใด

ต่อมา ในสมัยกรุงธนบุรี ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นวัดหลวง ครั้นเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ แล้วเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปสำคัญจากเมืองเหนือมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้

ย้อนฉากประวัติศาสตร์

คืนสมณศักดิ์ “พระพิมลธรรม”

วัดโพธิ์ยังเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญในศาสนจักรที่ถูกบันทึกไว้อย่างแจ่มชัดเมื่อ พระพิมลธรรม แห่งวัดโพธาราม ถูกพระเจ้ากรุงธนบุรีถอดยศจากการเป็นหนึ่งในคณะสงฆ์ที่ถวายพระพรว่า “พระสงฆ์ไม่ควรไหว้ฆราวาสแม้จะได้บรรลุโสดาบัน”

ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ โปรดให้คืนสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมตามเดิม เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นผู้มี “…สันดานสัตย์ซื่อคงดำรงรักษาพุทธศาสนาโดยแท้…”

พระพิมลธรรรมวัดโพธารามนี้ มีนามเดิมว่า ฉิม เกิดในยุคกรุงศรีอยุธยา สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นภิกษุรูปสำคัญในกรุงรัตนโกสินทร์ รจนาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนาและพระราชพงศาวดารหลายเรื่อง อาทิ สังคีติยวงศ์, จุลยุทธกาลวงศ์ (ผูก 2), พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ และมหายุทธการวงศ์ เป็นต้น ทั้งยังเป็นอาจารย์ของพระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 คือ พระองค์เจ้าวาสุกรี หรือ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราช

ถอดรหัสสถาปัตย์แห่งแผ่นดิน

มากวาดสายตาชมสถาปัตยกรรมงดงามประณีตกันบ้าง ในการถ่ายทอดสดครั้งนี้ จะมีการพาชมส่วนต่างๆ ของวัดพร้อมถอดรหัสที่แฝงไว้ในศิลปกรรมต่างๆ อย่างมีความหมาย อาทิ พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล ซึ่งประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว สีขาว สีเหลือง และสีน้ำเงินเข้ม เป็นเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 ตามลำดับ พระอุโบสถ ซึ่งภายในอลังการด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ตอน ทรมานท้าวมหาชมพู วิหารพระโลกนาถ สถานที่ประดิษฐาน “พระโลกนาถ” พระพุทธรูปสำคัญครั้งกรุงเก่าซึ่งเคยตระหง่านอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ก่อนรัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญมาหลังกรุงแตก ปรากฏความตามจารึกในวิหารดังกล่าวตอนหนึ่งว่า

“พระโลกนาถสาศดาจาริย์ปรักหักพัง เชิญมาแต่วัดพระศรีสรรเพชรกรุงเก่า ปฏิสังขรณเสรจแล้วประดิษฐานในวิหารทิศตวันออก…”

กำแพงแก้ว ที่วิจิตรพิสดารด้วยภาพสลักรามเกียรติ์ แม้เริ่มรางเลือนด้วยแดดฝนตามเวลาที่พ้นผ่าน แต่ยังเปี่ยมด้วยคุณค่าไม่เสื่อมคลาย

จารึกวัดโพธิ์ มรดกความทรงจำแห่งโลก

อีกหนึ่งมุมที่สวยงามและสำคัญจนไม่อาจละเลย คือศาลารายที่มากมายไปด้วยศิลาจารึก ซึ่ง ขรรค์ชัยและสุจิตต์ จะพาชมพร้อมเล่าถึงการบูรณะวัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2374 โดยโปรดให้จดจารวิชาความรู้หลากหลายบนแผ่นหินแล้วฝังบนผนังระเบียงคด รวมถึงอีกหลายจุดในอารามแห่งนี้ อาทิ ตำรายา, ตำนานมหาสงกรานต์, ริ้วกระบวนแห่กฐินพยุหยาตราทางสถลมารค และอื่นๆ

แม้ผ่านไปนานนับร้อยปี นอกจากเรื่องราวบนจารึกจะไม่ถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา ทว่า จารึก 1,440 แผ่นที่กลายเป็นโบราณวัตถุสำคัญในวันนี้ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อ พ.ศ.2554

ปริศนา “ตุ๊กตาอับเฉา”

ที่แท้ไม่ได้มาจากเมืองจีน?

มาถึงเรื่องราวของประติมากรรมสลักหินที่เรียกกันว่าตุ๊กตาอับเฉา ซึ่งมีมากมายในวัดโพธิ์ เดิมเข้าใจว่าเดินทางไกลมาจากเมืองจีน ทว่า ตุ๊กตาที่วัดโพธิ์แห่งนี้ มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่ได้มีหน้าที่เป็น “อับเฉา” ถ่วงเรือ หากแต่ทำขึ้นโดยฝีมือชาวสยามเพื่อประดับตกแต่งพระอารามโดยเฉพาะ ดังเช่นที่ ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขียนเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ.2553 เนื่องจากพบว่าในสำเนาจารึกเรื่องการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ สมัย ร.3 ได้ระบุที่มาของหินสำหรับใช้จำหลักเป็นเครื่องประดับศิลาจีนเหล่านี้ เช่น “สิลาเมืองชลบุรี สีลาลายเกาะสีชัง สีลาเขาสำเภาเมืองลพบุรี สิลาเขาสำเภา สิลาเมืองศุโขไทย” เป็นต้น

ประเด็นนี้ ธัชชัย ยอดพิชัย กองบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมในวัดวาอารามจะมาขยายความให้รับชมไปพร้อมๆ กัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเตรียมข้อมูลเข้มข้นด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อนำเสนออย่างลึกซึ้ง

โรงละครท่าเตียน

และ ก.ศ.ร.กุหลาบ สามเณรวัดโพธิ์

ไม่เพียงเรื่องราวเกี่ยวกับวัดโพธิ์เท่านั้น หากแต่ประวัติศาสตร์ของย่านเก่าในบริเวณดังกล่าวก็จะถูกนำมาบอกเล่าในรายการอีกด้วย โดยย้อนหลังให้รับฟังตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2000 ครั้งยังไม่ได้สร้างวัด กระทั่งเป็นที่อยู่อาศัยและค้าขายของพ่อค้า เรียกย่าน “บางจีน” ของพ่อค้าจีน และ “ฮาเตียน” ของพ่อค้าญวนจากเมืองฮาเตียน ซึ่งคาดว่าเป็นที่มาของชื่อท่าเตียน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการสร้างโรงละครปรินซ์เธียเตอร์ของเจ้าพระยามหิทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตาเป็นที่ฮือฮาในสังคมสยามยุคนั้นอย่างยิ่ง

ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ยังมีเรื่องราวของบุคคลที่สร้างสีสันให้ประวัติศาสตร์ไทยอย่าง ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งมีช่วงชีวิตที่เกี่ยวพันกับวัดโพธิ์ โดยเคยบวชเป็นสามเณรที่วัดแห่งนี้ระหว่างปี 2381-2390 ถวายตัวเป็นลูกศิษย์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสในช่วงท้ายๆ ของการปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3 ได้ฉายาว่า “เกศโร” อันเป็นที่มาของนามปากกา ก.ศ.ร. นั่นเอง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวน่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทัวร์ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน วัดโพธิ์โสภาสถาพร คอประวัติศาสตร์ อีกทั้งแฟนคลับสองกุมารสยาม ห้ามพลาด!

รายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทัวร์ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน วัดโพธิ์โสภาสถาพร

ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก มติชนออนไลน์ www.facebook.com/matichononline จันทร์ที่ 20 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image