คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: “อเมริกา เฟิร์สต์” กับ “ไชนีส ดรีม”

AFP PHOTO / Nicolas ASFOURI / File photo

ผู้ที่ให้ความสนใจในความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ ย่อมจับตามองการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ อย่างใกล้ชิด และตระหนักในความเป็นจริงที่ว่า การประชุมเอเปคครั้งที่ 25 ที่ผ่านมา เป็นครั้งที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สูงสุดชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในขณะที่ ผู้นำสหรัฐอเมริกาอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเส้นคงวาด้วยการยืนหยัดในหลักการ “อเมริกา เฟิร์สต์” ของตนเอง ด้วยการพาดพิงถึงการเสียเปรียบดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก พร้อมประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า จะต้องไม่มีชาติใดเอาเปรียบสหรัฐอเมริกาได้อีกต่อไป

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กลับยืนยันให้การสนับสนุน โลกาภิวัฒน์ และ ระบบการค้าเสรีพหุภาคี ชนิดเต็มตัวไม่ซ่อนเร้นซุกงำอีกต่อไป โดยประกาศตามหลังสุนทรพจน์ในแนวทาง “โปรเทคชั่นนิสม์” ของทรัมป์ว่า ทิศทางและแนวโน้มของ โลกาภิวัฒน์นั้น “ไม่มีวันพลิกผันกลับกลาย” อีกต่อไปแล้ว

“ความเปิดกว้าง จะนำมาซึ่งการก้าวรุดหน้า การหันหลังกลับไปโดดเดี่ยวตนเอง รังแต่จะทำให้ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง”

ความขัดกันอย่างเปิดเผยของ 2 ทัศนะดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่ผู้นำทั้งสอง พบหารือซึ่งกันและกันในระหว่างการเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการของผู้นำสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ที่ลงเอยด้วยความชื่นมื่น ถ้อยทีถ้อยอาศัย ราบรื่นตั้งแต่ต้นจนจบ ท่ามกลางความประหลาดใจของหลายๆฝ่าย

Advertisement

ทั้งยังลงนามความตกลงทางการค้ามูลค่าสูงถึง 250,000 ล้านดอลลาร์ แม้จะอยู่ในรูปของ “บันทึกความเข้าใจ” ที่ไม่มีพันธะทางกฎหมาย ไม่ใช่ในรูปของ “สัญญาทางการค้า” ระหว่างกันก็ตามที

กระนั้น การแสดงออกบนเวทีเอเปค ก็สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ว่าความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีจะเป็นเช่นไร เมื่อถึงอีกระดับที่ใหญ่โตกว้างขวางออกไป จีนยังคงไม่ละทิ้่งความใฝ่ฝันของตนเองในอันที่จะนำพาประเทศไปสู่ “จุดสูงสุดของโลก” ให้จงได้ ในเวลาเดียวกัน ภูมิภาคเอเชียก็มีนัยสำคัญในฐานะศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกในอนาคต

เป็นความสำคัญที่สูงเกินกว่าที่สหรัฐอเมริกาจะเมินเฉย หรือละทิ้งไปได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะคำนึงถึงตัวเองมากแค่ไหนก็ตาม

Advertisement

ทิโมธี ฮีธ นักวิจัยด้านการต่างประเทศอาวุโสของ แรนด์ คอร์ปอเรชั่น สรุปเอาไว้เมื่อการประชุมเอเปคสิ้นสุดลงว่า

การช่วงชิงกันมีอิทธิพลเหนือเอเชีย กำลังดำเนินต่อไป และนับวัน อาจยิ่งดุเดือดมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำไป

 

 

ในขณะที่ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนนำเสนอ “โอกาสเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ” ให้กับนานาประเทศในภูมิภาคพิจารณาเข้าร่วมผ่านทาง เมกะโปรเจกต์ระดับโลกอย่าง “เบลท์ แอนด์ โรด อินนิเชียทีฟ” (บีอาร์ไอ) ซึ่งอวดอ้างสรรพคุณไว้โอ่อ่ามากว่า จะพัฒนาการค้าโลกและระบบสาธารณูปโภคทั่วโลกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

ปัญหาก็คือ ในขณะที่จีนแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น กร้าวและตรงไปตรงมามากขึ้น ความกลัว ความวิตกกังวลของหลายๆ ประเทศย่อมเกิดขึ้นตามมาอย่างช่วยไม่ได้

นั่นคือเหตุผลว่าทำไม การคงอยู่ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

“ด้วยเหตุผลที่ว่านี้เองที่ทำให้สหรัฐอเมริกายังคงมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคในฐานะผู้เป็นหลักประกันเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคที่เอาแน่นอนไม่ได้และมีประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยความขัดแย้งซึ่งกันและกันภูมิภาคนี้” ฮีธระบุ

อย่างไรก็ตาม จีนขยายบทบาทและอิทธิพลของตนอยู่ตลอดเวลาไม่เพียงทางด้านเศรษฐกิจ การค้า หากแต่ยังครอบคลุมทางด้านการทหาร การเสริมพลานุภาพของกองทัพเรือจีนไม่หยุดหย่อนก็ดี การรุกคืบแบบไม่สนใจแม้คำพิพากษาศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยการถมทะเล ทำเกาะเทียม เพื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทางด้านการทหารในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ก็ดี ส่งผลให้ดุลอำนาจในภูมิภาคเกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้ “สูตรสำเร็จ” ที่เคยใช้ได้ผลในอดีตที่ผ่านมา กลายเป็นแนวทาง “ไร้ประโยชน์” ไปในทันที

อเล็กซานเดอร์ วูฟวิงก์ ผู้เชี่ยวชาญจีนของ ศูนย์เดเนียล เค. อินูเอะเพื่อความมั่นคงศึกษาแห่งเอเชียแปซิฟิก ในมลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา บอกเอาไว้ดังนี้

“วิธีการคู่ขนาน ซึ่งเคยใช้กันมาโดยการ หันหน้าหาจีนเพื่อผลทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เดินหน้าพึ่งสหรัฐอเมริกาด้านความมั่นคง ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคเคยใช้มานาน นับวันจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับประเทศเหล่านั้นแทนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต”

เขาเชื่อว่า ในเวลานี้เรียกได้ว่าเป็น “ห้วงเวลาประวัติศาสตร์” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งซึ่ง วูฟวิงก์ เรียกว่า “เดสทรัคทีฟ ครีเอชัน”

อันหมายถึงช่วงเวลาที่ บรรดาประเทศทั้งหลายต้องแสวงหาและคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ในการรับมือกับความมั่นคงในภูมิภาคกันแล้ว

 

 

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจในระหว่างการประชุมเอเปคครั้งที่ 25 และการประชุมคู่ขนานทั้งหลาย ไม่ได้อยู่ในสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีทรัมป์ หากแต่เป็นข้อเสนอที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจพาดพิงถึงโดยทั่วไป นั่นคือการรื้อฟื้นการจับมือเป็น “พันธมิตรกันอย่างไม่เป็นทางการ” ของ 4 ชาติ “อินโด-แปซิฟิก” นำโดยสหรัฐอเมริกา อีก 3 ชาติที่เหลือคือ ญี่ปุ่น อินเดีย และ ออสเตรเลีย

ยุทธวิธีปิดล้อม สกัด อิทธิพลจีน ตั้งแต่เอเชียใต้ไปจรดแปซิฟิกเช่นนี้ ครั้งหนึ่งเคยเรียกกันว่า “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” เคยพูดกันมานานร่วม 10 ปี เพิ่งมีการฟื้นฟูกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

เป็นตัวอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม “ล่าสุด” ที่แสดงให้เห็นถึงการจับมือ รวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศเพื่อเป้าหมาย “ถ่วงดุล” อำนาจ อิทธิพลทั้งทางด้านการทหารและเศรษฐกิจของจีน แม้ว่า อลิซ เวลส์ รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ปฏิเสธว่า การรวมตัวกันดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ปิดกั้น ต้านทานอิทธิพลของจีน หากแต่เป็นไปเพื่อให้เกิด “ทางเลือก” สำหรับช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก เท่านั้นเอง

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ไม่เพียงสนับสนุนการรวมตัวดังกล่าวนี้เต็มที่เท่านั้น ยังเป็นปากกระบอกเสียงให้กับการรวมตัวของ 4 พันธมิตรดังกล่าวนี้อีกด้วย ในขณะที่อินเดีย และ ออสเตรเลีย เคยวางตัว “เฉยๆ” กับข้อเสนอนี้ก่อนหน้านี้ แต่กลับทวีความสนใจขึ้นมาแบบ “พรวดพราด” ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ในตอนที่ จีน แสดงออกอย่างเต็มที่ว่าพร้อมที่จะท้าทาย และเข้าทำหน้าที่ทดแทน สหรัฐอเมริกา ใน “ระเบียบโลกใหม่” ที่วอชิงตันแสดงอาการลังเลที่จะรับบทผู้นำเหมือนที่ผ่านมา

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนจีน-อินเดีย บริเวณที่ราบสูง “ด็อกลาม” ในเทือกเขาหิมาลัย เมื่อไม่นานมานี้ มีส่วนอย่างมากในการตัดสินใจเชิงนโยบายของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

ในขณะที่ มัลคอล์ม เทิร์นบุลล์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ก็ออกมาย้ำแล้วย้ำอีกถึงผลกระทบจากการขยายตัวทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้

พฤติกรรมที่ผู้นำออสเตรเลียเรียกว่า เป็นการกระทำ “โดยไม่ใส่ใจต่อระเบียบการระหว่างประเทศ” ใดๆ

ทิพเยศ อานันท์ ผู้เชี่ยวชาญจีนจาก เวสต์มินสเตอร์ ยูนิเวอร์ซิตี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ บอกว่า ความขัดแย้งน้อยใหญ่ระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย ตั้งแต่หลายชาติอาเซียนจากปัญหาทะเลจีนใต้ เรื่อยไปจนกระทั่งถึง ญี่ปุ่น และ อินเดีย ยิ่งนับวันยิ่งไม่ใช่เรื่อง “เล็กๆ”

มีสิ่งบ่งชี้ว่า ประเทศเหล่านี้จะไม่นิ่งเฉยอีกต่อไป แต่ “พยายามจะรวมตัวเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งหาหนทางเข้าใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ” อีกด้วย

 

 

มีนักสังเกตการณ์จีนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า สี จิ้นผิง แตกต่างจากผู้นำจีนคนอื่นๆ เมื่อแสดงบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศ ประธานาธิบดีจีนไม่เพียงกล้าผลักดันความคิดของตนเองมากกว่า ยังกำหนดนโยบายต่างประเทศเชิงรุกมากกว่าอีกด้วย ที่สำคัญก็คือ สี จิ้นผิง เลิกพูดถึงการให้หลักประกันต่อสหรัฐอเมริกาและเพื่อนบ้านในเอเชีย เหมือนอย่างที่ผู้นำจีนในอดีตมักย้ำอยู่เสมอว่า การผงาดขึ้นของจีนจะเป็นไปอย่างสันติ
ว่ากันว่า สี จิ้นผิง มองว่า หลักประกันดังกล่าวคือ “จุดอ่อน” ในการดำเนินการของจีน

ใน “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” ไม่เพียง อินเดียมีความสำคัญสูง เช่นเดียวกับญี่ปุ่นอีกฟากฝั่งหนึ่ง แต่พื้นที่ตรงกลาง ตั้งแต่พม่า ไทย เวียดนาม ก็มีความสำคัญสูงมากเช่นเดียวกัน

เจย์ บาตงบากัล ผู้เชี่ยวชาญกิจการทางทะเล ของมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ ระบุว่า เมื่อการขับเคี่ยวระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน ทวีความเข้มข้นขึ้น บรรดาชาติเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมก็จำเป็นอยู่ดีที่ต้องถอยออกมาให้ห่างจาก “การขวางทาง” ของสองคู่แข่งขัน ในเวลาเดียวกันก็ต้องมองหา “หลักประกันความเสี่ยง” ให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

ต่างจาก ประเทศอย่าง ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย หรือเกาหลีใต้ ที่สามารถเสริมสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองได้มากกว่า ในกรณีที่สหรัฐอเมริกาผละออกไป

ในแง่นี้ การรวมตัวกันเองเพื่อปกป้องตนเองจะเกิดมากขึ้นและเร็วขึ้น ซึ่งนั่นสามารถทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ มีเสน่ห์มากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้คือ เวียดนาม ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก นอกเหนือจากการเดินเข้าหาสหรัฐอเมริกา เพื่อหาทางสร้างสมดุลกับจีน

ในขณะเดียวกัน การที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอดีตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ก็ช่วยให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน มีโอกาสได้เข้าไปสร้างอิทธิพลในแต่ละประเทศ และยิ่งทำให้การแข่งขันเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

จนน่าจับตามองมากว่า “เดสทรัคทีฟ ครีเอชัน” ครั้งนี้จะลงเอยอย่างไรและเมื่อใด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image