หลากมุม ‘นักวิชาการ’ มองประชารัฐ วิเคราะห์ใครกันเเน่ได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2560 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานเสวนาวิชาการ “ประชารัฐคืออะไร เพื่อคนไทยหรือนายทุน” จัดโดย พรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ว่าด้วยแนวคิด ที่มา และเหตุผลเบื้องหลังนโยบายประชารัฐ อันเป็นการจับมือกันระหว่างรัฐบาลทหารกับกลุ่มทุนใหญ่ของไทย และวิเคราะห์ว่า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่กันแน่

ผศ. ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง “นโยบายประชารัฐกับต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้น” ว่า คำว่า “ประชารัฐ” ปรากฏอยู่ในเพลงชาติไทย แต่ในปัจจุบันอาจจะตีความหมายที่ผิดเพี้ยนไป โดยการนำเอาคำว่าประชารัฐนี้มาใช้กับโครงการที่เกิดขึ้นต่างๆของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ร้านธงฟ้าประชารัฐ สินเชื่อประชารัฐ และโครงการบ้านประชารัฐ

“ทั้งนี้รัฐบาลเองก็ได้พยายามผลักดันให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในสินค้าต่างๆ ทั้งสินค้าโอทอป การท่องเที่ยว ซึ่งในกลุ่มชุมชนเองมีการดูแลกันในแบบรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว ทำไมรัฐบาลถึงพยายามสร้างโครงการใหม่ขึ้นมา ทั้งที่สามารถให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มนี้ได้ก่อน อีกทั้งเมื่อเอกชนเอามาแล้วนั้น รายได้ที่เกิดขึ้นแท้ที่จริงจะตกไปอยู่ที่ชาวบ้าน หรือตกอยู่ในมือของเอกชนกันแน่ หากรัฐบาลต้องการที่จะช่วยผู้มีรายได้น้อยจริง 100% ทำไมไม่เร่งเห็นจากสิ่งที่เรามีอยู่ก่อน และหากเอกชนไม่เข้ามาช่วยคนกลุ่มนี้ จะเกิดการพัฒนาให้เกิดสินค้าใหม่ๆ ได้อย่างไร”

Advertisement

ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงหัวข้อ “คนจนในวงล้อมของประชารัด” ว่า จากกรณีที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ออกมาระบุว่า ในปี 2561 คนจนจะหมดไปจากประเทศไทย นั้นไม่เป็นความจริง

“ปัจจุบันจำนวนผู้มีรายได้น้อยยังคงมีอยู่ และคาดว่าจะไม่ลดลง หากอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี พ.ศ.2558-2560 คนจนมีรายได้ลดลงถึง 40% อีกทั้งเมื่อมีรายได้น้อยก็จะได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งราคาอาหารก็มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ” ดร.เดชรัต กล่าว

“อีกทั้งการที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยนำคำว่าประชารัฐเข้ามามีบทบาทนั้น แท้ที่จริงแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับนั้นตกอยู่ที่ใคร และสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแท้จริงหรือ ทั้งนี้นโยบาย ช้อปช่วยชาตินั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่สุดคือ ผู้ที่ลดหย่อนได้มากที่สุด นั่นคือผู้มีรายจ่ายสูง แต่คนจนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย”

Advertisement

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง “นโยบายประชารัฐกับผลกระทบต่อเกษตรกร” ว่า รัฐบาลได้ใช้นโยบายประชารัฐเข้าไปดำเนินการกับเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้รายจ่ายของเกษตรกรสำหรับในการใช้จับจ่ายซื้อ ปุ๋ย กระทั่งสิ่งของที่จำเป็นนั้น กลับสูงขึ้น รวมทั้งภาษีของเกษตรกรก็ยังสูงขึ้นตามไปด้วย รัฐบาลพยายามกระดุ้นให้เกษตรกรปลูกพืชผักแบบอินทรีย์ แต่ดูเหลือจะให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยที่เอกชนนำมามีส่วนร่วมในนโยบายของประชารัฐด้วย แท้ที่จริงแล้ว รัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกันแน่

ด้าน ผศ. ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มุมมองของนักประวัติศาสตร์ การครอบคลุมโดยการใช้นโยบายของประชารัฐนั้น เกิดขึ้นนานมาแล้ว หากเปรียบเทียบคือในสมัยที่ชาวจีนเข้ามามีบาบาทในประเทศไทย ทำการค้าขาย ซึ่งก็ได้รับการช่วยเหลือจากทางรัฐบาล แต่ในปัจจุบันเห็นว่า การดำเนินการตามนโยบายนั้น จะมีนายทุนรายใหญ่เข้ามาเกี่ยวด้วย ซึ่งนายทุนหรือกลุ่มทุนเหล่านี้ เป็นในลักษณะกลุ่มทุนข้ามชาติ นั่นความว่า เงินที่ได้รับจากในประเทศจะไม่กลับมาเวียนในประเทศเลย เท่ากับว่า การที่จะนำเงินเหล่านั้นกลับการพัฒนาบ้านเมืองอีก คงเป็นไปได้ยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image