ม่านบังตา อคติ มายาคติใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ : สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน , กมลวรรณ พลับจีน

แบบเรียนและลักษณะการจัดการเรียนการสอนแบบ “กีรออาตี”

สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสิ้นจำนวนถึง 16,518 ครั้ง โดยสาเหตุของความรุนแรงเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ อาชญากรรม ยาเสพติด ตลอดจนการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ผ่านการยิงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 40.14 รองลงมาคือการวางระเบิด คิดเป็นร้อยละ 20.68 และเหตุการณ์อื่นๆ อาทิ การบังคับใช้กฎหมาย การวางเพลิง วินาศกรรม เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 39.18 ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จำนวน 20,164 คน

ประมวลข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งแต่ปี 2547-กันยายน 2560 ตลอดระยะเวลา 13 ปี รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเร่งหาแนวทางในการแก้ไข และทุ่มใช้งบประมาณจำนวน 274,468 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถลดความรุนแรง สร้างความสงบให้เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้

หลายคนอาจเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องทบทวนถึงวิธีการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ว่าอาจผิดทางหรือไม่

เมื่อพิจารณาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นในลักษณะของการพูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อการ เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันนำไปสู่สันติสุข รวมไปถึงการใช้กำลังต่อสู้ เพื่อยับยั้งเหตุการณ์ ซึ่งแนวทางเหล่านั้นอาจไม่ใช่ทางออกเดียวหรือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ด้วยไม่สามารถสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่ได้ตรงจุด อีกทั้งยังต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าประชาชนจำนวนน้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 500-1,500 คน ที่มีแนวคิดต้องการแบ่งแยกดินแดน

Advertisement

ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการดำเนินชีวิต ทำมาหากิน และอาศัยอยู่ในบ้านของตนอย่างสงบสุข การนำเสนอแต่ภาพความรุนแรงในพื้นที่จากสื่อ ทำให้เกิดการตอกย้ำเข้าไปในจิตใจของคนนอกพื้นที่ สร้างความหวาดกลัว ไม่กล้าที่จะเข้าเยี่ยมเยือนในพื้นที่ดังเช่นจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย เกิดมายาคติต่อคนสามจังหวัดชายแดนใต้แบบเหมารวมว่าเป็นพวกไม่รักชาติ สร้างกำแพง ลดการติดต่อสื่อสาร ยิ่งทำให้ช่องว่างเดิมขยายออกไปอีก ยากต่อการลดการขัดแย้งอีกด้วย

การทำงานของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานความมั่นคง สาธารณสุข รวมไปถึงหน่วยงานทางการศึกษา ด้วยการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนในหน่วยงานภาครัฐและคนในพื้นที่ คำนึงถึงความหลากหลาย วิถีชีวิต เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดี นำมาสู่การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ เร่งสร้างแนวคิดผ่านระบบการศึกษา ซึ่งเป็นระบบสำคัญที่ใช้ในการพัฒนามนุษย์

ทั้งนี้ การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มตามศักยภาพนั้นจะต้องจัดการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนดังมาตรา 24 ข้อที่ 1 กล่าวว่า

Advertisement

การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และอาศัยแรงจูงใจเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการศึกษาจึงจะทำให้ผู้เรียนตอบสนองต่อการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ตามทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Theory) นอกจากการจัดการศึกษาตรงตามความต้องการของผู้เรียนแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิต บริบทเชิงพื้นที่ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ ความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ด้วยความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้ที่เรียนมากับชีวิตประจำวัน นำไปสู่การต่อยอด ประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ดังจะขอเสนอรูปแบบการจัดการศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของชาวมุสลิมอย่างแท้จริง

ชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยดำเนินชีวิตประจำวันด้วยการยึดหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม เชื่อมั่นและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าทรงพระนามว่า พระอัลลอฮ์ ซึ่งมีคัมภีร์อัลกุรอ่าน (Al Quran) เป็นธรรมนูญอันสูงสุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้แก่ศาสดานบีมุฮัมมัด เพื่อทำหน้าที่ประกาศศาสนา และเป็นผู้นำในการปฏิบัติศาสนกิจตามคำสอนของพระองค์

ด้วยความเชื่อและศรัทธาที่มีต่อพระอัลลอฮ์นั้น ทำให้ชาวมุสลิมมีวิถีชีวิตที่สอดคล้อง กลมกลืน กับหลักคำสอนที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน (Al Quran) สะท้อนให้เห็นได้จากการปฏิบัติศาสนกิจที่สำคัญต่างๆ เช่น การละหมาดวันละ 5 เวลา การถือศีลอด การปฏิญาณตน การจ่ายซะกาต การประกอบพิธีฮัจย์ เป็นต้น

อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ว่า วิธีการที่จะได้เข้าใกล้พระอัลลอฮ์มากที่สุด ต้องผ่านการศึกษาและอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งเป็นภาษาอาหรับให้ได้ ดังนั้น การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวมุสลิมจึงเป็นการจัดการศึกษาในลักษณะที่ต้องเน้นเรื่องของอ่านภาษาอาหรับนั่นเอง

วิธีการสอนอ่านภาษาอาหรับเพื่อให้สามารถอ่านและเข้าใจคัมภีร์อัลกุรอ่านได้ ที่ใช้กันอยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “กีรออาตี (Qiraati)” พัฒนาโดยอุซตาสฮัจยีดะฮฺลัน ซาลิม ซัร กาซี (Ustaz Haji Dahlan Salim Zarkasyi) ประเทศอินโดนีเซีย อาจารย์สุนทร ปิยะวสันต์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอัลกุรอ่านและภาษากาลามุลลอฮฺ จังหวัดปัตตานี เป็นโรงเรียนท่องอัลกุรอ่าน (Tahfiz) โปรแกรมนานาชาติ ระบบทวิภาษา (Bilingual Education) และระบบพหุภาษา (Multilingual Education) เป็นผู้นำเข้าสู่ประเทศไทย กีรออาตี (Qiraati) มีลักษณะของการสอนอ่านภาษาอาหรับโดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 15 คน เริ่มอ่านคำจากขวาไปซ้าย เมื่ออ่านคำได้แล้วจึงเริ่มเรียนรู้พยัญชนะและสระ

ข้อดีของวิธีการสอนแบบนี้คือ ทำให้ผู้เรียนอ่านภาษาอาหรับได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัย โดยนักวิจัยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบการสอนอ่านภาษาอาหรับแบบกีรออาตีให้เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ทั้งมิติเชิงพื้นที่และความหลากหลายของผู้เรียน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทั้งสิ้น 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการรูปแบบการสอนกีรออาตีที่เหมาะสมสำหรับผู้ปกครองตำบลระแว้ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี (2556) ผู้วิจัยนายมาหะมะ ดีโซะ และคณะ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย คือ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนกีรออาตีสำหรับผู้ปกครอง ประกอบด้วย 10 กระบวน คือ (1) ให้สลาม (2) อ่านฟาตีฮะห์ (3) ดุอาร์ก่อนเรียน (4) ทบทวนเนื้อหาที่ผ่านมา (5) นำเสนอเนื้อหาใหม่/อธิบาย/ให้สังเกต/ตั้งคำถาม/บอกฮูกมหรือหลักการอ่าน (6) แยกกันอ่านตัวใครตัวมัน (7) เข้าอ่านต่อหน้าผู้สอนทีละ 1 (8) ผู้เรียนไปนั่งอ่านทบทวนระหว่างรอเพื่อน (9) นาซีฮัต 1 นาที โดยครูผู้สอนหรือผู้เรียน และ (10) อ่านดุอาร์จบ ด้วยการอ่านซูเราะห์วัลอัศรี อัลลอฮฮุมมัรฮัมนาบิลกุรอ่าน ฯลฯ ดุอาร์ รอบบานา ดุอาร์กีฟารัต สลามและมาอาฟซึ่งกันและกัน

2) โครงการการส่งเสริมการอ่านอัลกุรอ่านโดยใช้ระบบกีรออาตีของศูนย์และโรงเรียนสอนอัลกุรอ่าน จังหวัดปัตตานี (2556) ผู้วิจัยนายสุนทร ปิยวสันต์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย คือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนการอ่านอัลกุรอ่านด้วยระบบกีรออาตีในศูนย์ และโรงเรียนสอนอัลกุรอ่าน จังหวัดปัตตานี

และ 3) โครงการรูปแบบการสอนอ่านอัลกุรอ่านโดยใช้ระบบกีรออาตีรูปแบบกาลามุลลอฮ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี (2558) ผู้วิจัยนายซัมซูดิง เบ็ญสุหลง และคณะ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยเกิดนวัตกรรมทางการศึกษา คือ รูปแบบการสอนอ่านอัลกุรอ่านระบบกีรออาตีรูปแบบกาลามุลลอฮฺ (Kalamullah model) เป็นรูปแบบที่เกิดจากการบูรณาการผสมผสานระหว่างการสอนอัลกุรอ่านแบบรายบุคคล (Kelasikal individu) กับการจัดการเรียนรู้เชิงระบบ ประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้ (1) ขั้นแตรียมความพร้อม (Warm up) กิจกรรมย่อย เวลา 7 นาที (2) ขั้นทบทวนบทเรียนวันละ 11 หน้า กิจกรรมย่อย เวลา 10-15 นาที (3) ขั้นการนำเสนอ (presentation) เวลา 10 นาที (4) ขั้นการฝึก (practice) เวลา 5-7 นาที (5) ขั้นการนำไปใช้ (production) เวลา 30 นาที และ (6) ขั้นสรุป (wrap up) เวลา 5-7 นาที

จากผลสำเร็จของ 3 โครงการวิจัยข้างต้น และความสามารถในการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านของผู้เรียน สร้างความเชื่อมั่นของชาวมุสลิมที่มีต่อการสอนแบบกีรออาตี อีกทั้งความสามารถในการอ่านภาษาอาหรับยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาต่อในประเทศแถบตะวันออกกลาง นำมาซึ่งประโยชน์แก่ประเทศไทยมากมาย ทั้งศาสตร์การพัฒนาวิทยาการใหม่ๆ กระตุ้นเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนสินค้าผ้าทอ และเพิ่มทางเลือกอาชีพในการเป็นล่ามในสถานที่ราชการหรือสถานที่สำคัญต่างๆ แก่ชาวมุสลิมอีกด้วย ส่งผลให้มีผู้เข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น

แม้ว่าการจัดการศึกษารูปแบบนี้จะตอบโจทย์ชาวมุสลิม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ายังไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐในการบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรหรือรายวิชาหนึ่งในระบบการศึกษาไทย ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งมายาคติของคนนอกศาสนา ความไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการเรียนภาษาอาหรับ ความไม่รู้ความหมายของภาษาอาหรับ นำมาซึ่งความสงสัย และเกิดคำถามมากมาย อาทิ เรียนไปทำไม ทำไมต้องรวมกันเป็นกลุ่มๆ ตอนเย็นๆ รวมกลุ่มกันเพื่อจุดประสงค์ใด ไม่ใช่เรื่องผิดที่คนนอกศาสนาจะเกิดความสงสัย หรือเกิดคำถามต่างๆ มากมาย แต่จะเป็นเรื่องผิดมหันต์ถ้าเกิดความสงสัย เกิดคำถามแล้ว ไม่พยายามหาคำตอบ แต่กลับนำสิ่งเหล่านั้นมาสร้างเป็นอคติ กำแพงกั้นการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มคน

คนนอกศาสนาต้องเปิดใจ หาคำตอบอย่างปราศจากอคติ พยายามทำความเข้าใจถึงเหตุและผลของการ
กระทำนั้นๆ อย่างเป็นมิตรและแสดงความจริงใจ สำหรับชาวมุสลิมเคร่งศาสนาได้ แต่ต้องอย่าหลงใหล เพราะศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดีด้วย

นี่อาจเป็นวิธีหนึ่งในการทลายกำแพงความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้ดังที่รัชกาลที่ 9 ได้ตรัสไว้ว่าการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน

กมลวรรณ พลับจีน

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image