จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ … “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” และความจริงลวงที่พร่าเลือน

หนังสือปกสีดำสนิทที่มีรูปขวดยาหยอดตาสีขาวอยู่ตรงกลาง สะดุดตาจนต้องหยิบขึ้นมาดูด้วยความสงสัย และเจอคำโปรยเล็กๆบนฉลากยาว่า “9 เรื่องเศร้าของเรื่องเล่าที่เพิ่งถูกสร้าง” โดย “จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์”

ทั้งชื่อคนเขียน ทั้งโปรย ทั้งปก ทุกส่วนประกอบกันจนทำให้ไม่สามารถพลาดรวมเรื่องสั้นที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เล่มนี้ได้ และเมื่อบรรทัดสุดท้ายสิ้นสุดลง ความเศร้าของเรื่องเล่าที่เพิ่งสร้างขึ้น ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันระหว่าง ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และโครงสร้างของสังคมไทยโดยเฉพาะการเมือง ก็พาให้เขามาอยู่ในบทสัมภาษณ์นี้

“เริ่มแรกผมไม่ได้ตั้งใจทำออกมาขายครับ คือเริ่มจากแรงยุของเพื่อนนักเขียนด้วยกันว่าน่าจะส่งซีไรต์นะ เหมือนมีโอกาสแล้วก็รักษาโอกาสไปอะไรทำนองนั้น และก็พอดีมีเรื่องสั้นอยู่จำนวนหนึ่งที่ยังไม่เคยส่งประกวดที่ไหน ส่วนใหญ่มาจากเล่ม Young ‘N’ Wild ที่เป็นรวมเรื่องสั้นกึ่ง advertorial ให้กับบริษัทเครื่องดื่มบริษัทหนึ่ง และเรื่องสั้นบางส่วนจากฮาวายประเทศ ก็เลยหยิบเรื่องสั้นเหล่านั้นมารีไรท์ พร้อมทั้งเขียนเรื่องสั้นใหม่เข้าไปเพิ่ม

ช่วงที่คัดสรรเรื่องนี่ล่ะที่ผมพบว่าเรื่องแต่ละเรื่องมีลักษณะร่วมกันหลายประการ โดยประการหลักๆ คือเรื่อง ‘การเพิ่งตระหนัก’ ต่อผลพวงของการตัดสินใจในประเด็นหนึ่งประเด็นใดที่เพิ่งผ่านมา และประการต่อมาคือ ‘ความเลอะเลือน’ ของตัวละครต่อการรับรู้สถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใด สองประการนี้แหละที่ทำให้ผมกลับมาถามตัวเองว่าทำไมเรื่องสั้นส่วนใหญ่เราเป็นอย่างนั้น เพราะแม้กระทั่งเรื่องสั้นที่ทำตามโจทย์ก็ยังมีประเด็นนี้อยู่ค่อนข้างมาก” จิรัฏฐ์เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ด้วยรอยยิ้ม

เขาบอกว่าเมื่อมองย้อนกลับไปที่งานเล่มก่อนหน้าอย่างนวนิยายพิพิธภัณฑ์เสียง และสนไซเปรส ก็จะพบลักษณะร่วมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์เสียงที่พูดถึงความพยายามที่จะ ‘เพิกเฉย’ ของคนชั้นกลางต่อการขาดไร้เสรีภาพในบ้านเมือง ไปจนถึงในสนไซเปรสที่จงใจเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิตและความเชื่อของผู้คน แต่ตัวละครในนิยายก็ยังคงยึดติดกับยุคสมัยเดิมๆ จนเกิดการสร้างภาพหรือสัญลักษณ์อันเลอะเลือนให้พวกเขาได้ยึดเหนี่ยวไว้ต่อไป

Advertisement

“มีเรื่องสั้นอยู่ 3 เรื่องในประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้าที่ผมเพิ่งเขียนขึ้นมาใหม่ในรอบ 2-3 ปีมานี้โดยไม่มีโจทย์บังคับ คือ ‘น้ำตาที่ต่าง’ ที่พูดถึงการรักษาสถานะของผู้ปกครองด้วยการให้คนมาศัลยกรรมให้ใบหน้าคล้ายผู้นำประเทศคนเดิมแทนคนที่เสียชีวิตไป ซึ่งประชาชนในดินแดนนั้นก็ยังคงเชื่อว่าผู้ปกครองในประเทศของพวกเขามีอายุร้อยกว่าปีจริงๆ เรื่อง ‘เพดานอาดูร’ ที่ตัวละครเพิ่งตระหนักว่าห้องพักของเธอที่อยู่บนชั้น 9 ของคอนโดมิเนียมซึ่งเธอเชื่อมาตลอดว่ามันคือชั้นที่สูงที่สุดกลับไม่ใช่ชั้นบนสุดของอาคารและเธอจึงพยายามที่จะค้นหาว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่จู่ๆ มีชั้นบนงอกเพิ่มขึ้นมา และเรื่อง ‘พระเจ้าทัมใจ’ ที่เล่าถึงพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งมีพลานุภาพทำให้ผู้ที่มาสักการะสามารถ ‘ทำใจ’ กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ คือเป็นพระพุทธรูปที่ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เพียงแต่ทำให้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาได้ ซึ่งพระเจ้าทัมใจก็มีชื่อเสียงโด่งดังและล้นหลามด้วยศาสนิกชนมากมาย ผมพบว่าทั้งสามเรื่องใหม่นี้มันมีประเด็นต่อเนื่องจากนวนิยายสองเล่มที่เขียนก่อนหน้า

“ตลอดหลายปีมานี้ผมพบว่าตัวเองยังคงพูดผ่านวรรณกรรมอยู่แต่เรื่องเดิมๆ คือความพยายามยั่วล้อความทรงจำ ความพร่าเลือนและเลอะเลือน รวมทั้งการไม่ยอมรับในข้อเท็จจริงของผู้คนที่ต่างก็ตระหนักในข้อเท็จจริง คงเป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองบันดาลใจให้ผมสะท้อนกลับออกมาเช่นนั้น ทั้งการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ ความพยายามแช่แข็งประวัติศาสตร์จากภาครัฐ รวมไปถึงการที่เหล่าผู้มีการศึกษาในประเทศนี้พยายามเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงบางประการด้วยการปรับมุมมองของตัวเอง”

“สิ่งที่ผมเขียนเป็นผลผลิตจากสิ่งเหล่านี้”

Advertisement

จิรัฏฐ์เดินทางบนถนนสายวรรณกรรมมา 7 ปี เป็น 7 ปีที่เขาบอกว่าคือเรื่องเล่าแห่งความเศร้า เพราะเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผมอยากเขียนวรรณกรรมเชิงการเมืองออกมา คือช่วงเหตุการณ์หลังการสลายการชุมนุมโดยใช้กระสุนจริงที่แยกราชประสงค์เมื่อพ.ศ. 2553

“ช่วงนั้นมีใครหลายคนต้องเสียชีวิต แต่น่าเศร้าที่คนชั้นกลางในเมืองหลายคนกลับมองบทสรุปของเหตุการณ์ด้วยความสาแก่ใจ มีวิธีการคลี่คลายความขัดแย้งที่ไม่ต้องนองเลือดตั้งมากมาย แต่รัฐบาลในตอนนั้นเลือกวิธีการนี้และผู้คนที่มีการศึกษาในเมือง (ที่มักจะไปเข้าวัดทำบุญทุกวันพระ) กลับรู้สึกปลอดโปร่งไปจนถึงความสะใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากนะครับ ยิ่งหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็มีรัฐประหารอีก ทั้งๆที่บ้านเมืองเราก็มีบทเรียนทางการเมืองมาไม่รู้กี่ครั้ง ผู้คนกลุ่มเดิมกลับเห็นด้วยและชื่นชมยินดี ผมก็เลยเศร้าเข้าไปใหญ่ เศร้ากับความเฉยชา มนุษยธรรม และระบบตรรกะที่ล่มสลายในบ้านเมืองนี้” เขาอธิบาย ก่อนบอกว่าส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าฝุ่นแห่งความขัดแย้งที่ตลบอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้จะจางหายไปอย่างง่ายดาย และในฐานะนักเขียนเขาก็ควรจะทำหน้าที่บางอย่างออกไป

“ผมไม่คิดว่าฝุ่นทางความขัดแย้งในบ้านเมืองเราจะมีวันจางหายไปอย่างปลิดทิ้ง ไม่มีทางแน่ๆ ครับ ในทางกลับกัน ผมคิดว่าการมีความขัดแย้งกันอย่างมีเหตุมีผลต่างหาก ที่ทำให้บ้านเมืองเราพัฒนาต่อไปได้ในทางบวก แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ได้อยู่ในรูปรอยเช่นนั้น มันขาดความชอบธรรมและขาดกระบวนการประชาธิปไตยอย่างชัดเจน คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือในฐานะนักเขียน เราจะสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาท่ามกลางสถานการณ์ที่ขาดไร้ซึ่งเสรีภาพเช่นนี้ได้อย่างไรมากกว่า ตราบใดที่สังคมเออออไปอยู่กับการชี้นำจากเผด็จการทหารอย่างเดียว ผมค่อนข้างมั่นใจว่า motto ‘แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา…’ จะไม่มีวันคืนกลับมาอย่างแน่นอน”

การเขียนเรื่องเล่าท่ามกลางความขัดแย้ง จิรัฏฐ์บอกว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องพร้อมยอมรับก็คำวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งฝ่ายต่างๆ

“ใครจะแปะป้ายหรือผลักไสให้ผมเป็นฝ่ายไหนก็ได้ ผมคิดว่าถ้าตราบใดเรายืนอยู่บนเหตุผล เราสามารถอธิบายความคิดอย่างมีตรรกะชัดเจนกับคนอื่นๆ ได้ เราจะไม่กังวลเลยว่าตัวเองจะถูกคนอื่นมองว่าอยู่สังกัดฝ่ายไหน เราก็แค่ทำงานของเราต่อไป ในเชิงการทำงาน การใช้ศิลปะการเล่าเรื่องมาช่วยในการถ่ายทอดความคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญอยู่ สำคัญทั้งในแง่มุมที่เราจะไม่ถูกผลักให้กลายเป็นแม่มด และสำคัญทั้งในแง่สุนทรียะของงานศิลปะ”

“คือเราไม่มีทางเลี่ยงการถูกด่าได้เลย ถูกด่าทั้งจากคนที่ยืนอยู่บนจุดที่เห็นต่างจากเรา รวมทั้งถูกด่าจากคนที่ยืนอยู่บนจุดเดียวกับเรา เพราะประเด็นการเมืองมันค่อนข้างเปราะบาง คลาดเคลื่อนจากที่ใครสักคนคิดนิดเดียวมันก็พร้อมจะเป็นดราม่าแล้ว แต่นั่นล่ะผมพบว่าตัวเองมีภูมิต้านทานเรื่องการถูกด่าได้ดี และเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยกลัวว่าจะถูกฝ่ายที่เห็นต่างจากเราเอาไปด่าอย่างเสียๆ หายๆ เพราะว่ากันตามตรง ทั้งที่ผมอยากให้พวกเขาอ่านมากแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่เขาก็ไม่อ่านหนังสือผมอยู่ดี” เขาหัวเราะ ก่อนพูดเพิ่มว่า

“อีกประเด็นที่พบว่ามันคือความยากต่อการเขียนวรรณกรรมการเมืองก็คือหากเราอ้างอิงกับกระแสหรือสถานการณ์บ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมาเกินไป และถ้าเราเขียนได้ไม่ถึงจริงๆ เรื่องเล่าของเรามันก็จะถูกกลืนหายไปอย่างรวดเร็วมากๆ เพราะต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงหลายปีมานี้เมื่อบวกรวมกับวิธีการเสพข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ที่มันมีการอัพเดตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเด็นนี้อาจไม่ใช่ความยากของการเขียน แต่น่าจะเป็นจุดด้อยสำหรับคนที่เขียนวรรณกรรมการเมืองที่อ้างอิงกับเหตุการณ์จริงอย่างตรงไปตรงมามากกว่า”

ตอนนี้จิรัฏฐ์กำลังใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา และวางไว้จะอยู่ที่นั่นราวครึ่งปี แต่ยังไม่มีแผนการเขียนหนังสือเล่มใหม่โดยทำงานบรรณาธิการหนังสือเล่มที่ค้างไว้อยู่ ทำงานแปล และเขียนบทความให้กับสำนักข่าวออนไลน์อยู่สองแห่ง เขาไปเพราะรู้สึกว่าแม้ที่ผ่านมาจะเขียนหนังสือได้เพราะแรงบันดาลใจจากความขัดแย้ง ความไร้ซึ่งเสรีภาพ หรือเพราะผลพวงจากความไร้ซึ่งเหตุผลทางความคิดทางการเมืองของชนชั้นกลางในบ้านเรา แต่กลับพบว่าตัวเองไม่มีความสุขในเมืองนี้เท่าไหร่แล้ว

“แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ว่าจะยังไงเราคงหนีประเทศไทยไปไม่ได้อยู่ดี แต่ถ้ามีเวลาสักพักใหญ่ๆ เปลี่ยนสภาพแวดล้อมและหาวัตถุดิบใหม่ๆ ความรู้สึกอาจจะดีขึ้น” จิรัฏฐ์เอ่ย

“เราจะยังคงทำงานในมุมของเราต่อไป แม้งานวรรณกรรมในประเทศนี้มันอาจไม่ได้มีอิทธิพลต่อสังคมมากมายอะไร แต่เราเชื่อลึกๆ ว่าถ้ายังมีคนเขียนและอ่านต่อๆ กัน และต่อยอดให้เป็นงานสร้างสรรค์รูปแบบอื่นๆ มันก็เหมือนกับการช่วยกันเอาเสียมเอาจอบขุดแซะอุโมงค์นั่นล่ะ ขุดและแซะกันไปทีละน้อยอย่างเรื่อยๆ แน่นอนที่ว่าเราคงมีชีวิตอยู่ไม่ทันเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

“แต่ถ้าเราไม่เริ่มแซะตั้งแต่ตอนนี้ บางทีคนรุ่นต่อๆ ไปอาจจะไม่มีทางพบแสงสว่างอีกต่อไปเลยก็ได้”

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image