รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี ‘ธรรมศาสตร์’ คนใหม่ ‘นักศึกษาต้องมีทักษะของการเป็นคนในศตวรรษที่ 21’

เกศินี วิฑูรชาติ (แฟ้มภาพ)

ไม่พลิกความคาดหมายแต่อย่างใดเมื่อในที่สุด ปรากฏชื่อ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ นั่งเก้าอี้อธิการบดีคนที่ 24 ของสถาบันการศึกษาเก่าแก่ของไทยอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ต่อจาก ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ โดยจะเป็นอธิการบดีหญิงคนที่ 2 ของรั้วเหลืองแดงนับจาก ศ.คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี เมื่อ พ.ศ.2519 หรือ 41 ปีก่อน

ชนะใจชาวแม่โดมอย่างถล่มทลาย ชูวิสัยทัศน์ตอบโจทย์สภามหาวิทยาลัยด้วยเรื่อง “การสร้างคนแห่งอนาคต” พร้อมขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ผลิตนวัตกรรม ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันสตาร์ตอัพเซ็นเตอร์ให้นักศึกษามีพื้นที่ทดลอง พบปะผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับความเป็นแนวหน้าของการทำงานวิชาการสาย “สังคมศาสตร์” ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เตรียม “เปิดหน้าบ้าน” ให้ประชาชนใช้บริการอาคาร 100 ปี ศูนย์การเรียนรู้ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อเชื่อมโยงธรรมศาสตร์กับสังคม ไม่ทิ้งประเด็นความยากจน เหลื่อมล้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น ในห้วงเวลาที่ “สังคมผู้สูงอายุ” ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เจ้าตัวมองลึกไปอีกขั้นด้วยการเสนอแนวคิดศึกษา “คนรุ่นใหม่” ซึ่งในอนาคตมีสัดส่วนการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจถึง 1 ต่อ 6 กล่าวคือ คนรุ่นใหม่ 1 คน ต้องรับผิดชอบผู้ใหญ่ 6 คน การทำความรู้จัก “เด็กสมัยนี้” เพื่อรับมือ Aging Society เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สร้างความตื่นเต้นไม่น้อย

ยังไม่นับการมุ่งสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งธรรมศาสตร์สร้างแลนด์มาร์กมาโดยตลอด

Advertisement

ในวัยใกล้ 70 ปี รศ.เกศินียังคงคล่องแคล่วสดใส ยืนยันไม่ใช่ผู้บริหารสาย “จุกจิก” แต่ใส่ใจในสวัสดิภาพและความรู้สึก ลงลึกถึงพื้นที่จริง จึงอาจเป็นภาพคุ้นตาที่เห็นสตรีท่านนี้เดินตรวจตราอาคารขณะก่อสร้าง

ครั้งหนึ่งเคยขับรถผ่านหน้าหอสมุดที่ไฟมืด เจ้าตัวรีบถ่ายรูปส่ง “ไลน์” เร่งแก้ไข สะท้อนความห่วงใยเสมือนบุคคลในครอบครัว

เกิดที่จังหวัดสุโขทัยในครอบครัวคนจีนไหหลำซึ่งประกอบธุรกิจค้าขายเสื้อผ้า เป็นเด็กสายวิทย์ที่คุ้นชินกับตัวเลข มองเห็นความสำคัญของบัญชีจึงตัดสินใจร่ำเรียนในสาขานี้จนสำเร็จเป็นพาณิชยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมดี จากรั้วธรรมศาสตร์ แล้วศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ University of Texas at Austin สหรัฐอเมริกา ตามด้วยประกาศนียบัตรมากมายแทบนับไม่หมด เช่นเดียวกับประสบการณ์การทำงานที่คร่ำหวอดทั้งในแวดวงการศึกษา และการเงินการธนาคาร

Advertisement

เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีถึง 2 สมัย ระหว่าง พ.ศ.2547-2553 นั่งเก้าอี้รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นผู้หญิงเพียง 1 เดียวในบอร์ด GFME องค์กรระดับโลกด้านการพัฒนามาตรฐานการศึกษาบริหารธุรกิจ

ต่อไปนี้คือความคิดความเห็นและมุมมองของอธิการบดีหญิงหมาดๆ

รั้วธรรมศาสตร์ในอีก 3 ปีนับจากนี้ จะเป็นไปในทิศทางใด ต้องจับตาไปพร้อมๆ กัน

คิดว่าอะไรที่ชนะใจชาวธรรมศาสตร์จนได้รับตำแหน่งอธิการบดีด้วยคะแนน ‘ท่วมท้น’?

น่าจะมาจากเหตุผลที่เราทำงานให้ธรรมศาสตร์มาอย่างยาวนาน มองประโยชน์ของมหาวิทยาลัยในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้ดีที่สุดสำหรับประชาคม ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เห็นประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษา เราสนใจว่าเขาอยากได้อะไร ทำงานติดดิน รู้ปัญหาจริง เพราะใกล้ชิดนักศึกษาและครูบาอาจารย์ ทำให้เขากล้าบอกปัญหาต่างๆ กับเรา เป็นคนที่ทำงานแล้วทุ่มเท กัดไม่ปล่อย คิดเรื่องการพัฒนาอยู่ตลอด เช่น ระบบ CCTV ระบบความปลอดภัยที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีอะไรต้องซื้อมาเพิ่มเติมไหม เดินไปดูตึกนู้นตึกนี้ที่กำลังสร้างใหม่ ถ้าเจอปัญหาจะได้เรียกประชุมเพื่อแก้ไข สิ่งที่ทำไปไม่ได้หวังอะไรทั้งสิ้น นอกจากอยากเห็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถแข่งขันได้

กดดันหรือไม่ต่อการเป็นอธิการบดีหญิงของ มธ.ในรอบ 41 ปี?

ความที่ทำงานบริหาร ได้พบปะผู้คนหลากหลายวงการ เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้เป็นความท้าทาย จริงๆ แล้วก็เจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ คือ มักเป็นผู้หญิงคนเดียวในหลายๆ ที่ เช่น ตอนเป็นบอร์ดของธนาคารกรุงเทพ ก็จะบอกว่านี่สวยที่สุด เพราะเป็นผู้หญิงคนเดียว (หัวเราะ) เราเป็นคนคบง่าย พูดกันง่าย ทำให้การทำงานราบรื่น ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น หญิงชายจะไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจหรือทำให้กังวล เพราะการทำงานก็ทำร่วมกันอยู่แล้ว

มีประการณ์การทำงานมากมาย มองว่าตัวเองมี ‘จุดอ่อน’ บ้างไหม?

ก็มีอยู่บ้าง คงเรื่องที่เป็นคนคิดมาก เวลาทำงานอาจดูเหมือนเป็นสุภาพบุรุษมากกว่าสุภาพสตรี แต่ในใจจะมีความอ่อนไหว แคร์คนอื่น บางทีกลับไปคิดว่าทำแบบนั้นแบบนี้ถูกไหม และการตัดสินใจก็ง่ายเกินไปในบางเรื่อง กลายเป็นว่าเรื่องนั้นมันผูกพันเราไปในระยะยาว เช่น สมมุติว่าเคยให้รางวัลผลงานไว้ที่ชิ้นละ 300,000 บาท สำหรับการได้ลงตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนเยอะ พอให้เยอะไปแล้ว จะมาลดลงก็ไม่ได้ ในขณะที่เงินมีจำกัด จำเป็นต้องนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ ที่อาจจะได้ผลดีพอๆ กัน ตรงนี้ก็ต้องรอบคอบด้วย

แนวทางหลักของการบริหารงานที่วางแผนไว้?

ธรรมศาสตร์คงไม่ใช่เพียงแค่มหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตและสร้างงานวิชาการเท่านั้น แต่ต้องสร้างผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก เรามองไกลไปถึงตรงนั้น วิสัยทัศน์ของเราจึงมุ่งเน้นความเป็นนานาชาติ สร้างนักศึกษาพันธุ์ใหม่ที่พร้อมรับความท้าทายมากมาย สังคมปัจจุบันให้ความสำคัญกับ Inclusive Development คือต้องดูแลคนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การเรียนการสอนต้องมีทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้คือความท้าทาย เราจึงกำหนดทักษะที่นักศึกษาจำเป็นต้องรู้ เช่น ความเป็นผู้ประกอบการ และภาษาที่ควรจะสื่อสารได้ถึง 3 ภาษา เขาอาจจะเขียนไม่เก่งหรอก แต่สื่อสารได้ นอกจากนี้ ต้องมีทักษะของการเป็นคนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเราจะประเมินเขาก่อนจบการศึกษา

การอยู่ในโลกใบนี้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์และแก้ปัญหาได้ สามารถดึงข้อมูลมาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์หรือที่เรียกว่า Big Data รวมทั้งทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ต้องมีเพื่อน มีพาร์ตเนอร์ โดยจะมีแบบทดสอบประเมินทักษะก่อนเริ่มเรียนเพื่อให้สามารถเพิ่มเติมในสิ่งที่นักศึกษาขาดได้แบบตัวต่อตัวและตรงจุด ทำให้เขาออกสู่โลกภายนอกอย่างมั่นคง

การมีประสบการณ์ในเวทีโลก อย่างการเป็นบอร์ด GFME จะถูกนำมาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันการศึกษาอย่างไรบ้าง

ต่างประเทศให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกื้อกูล มหาวิทยาลัยใหญ่ช่วยมหาวิทยาลัยเล็ก ทำให้สังคมทั้งโลกน่าอยู่ ถ้าต่างคนต่างทำ ต้นทุนจะแพง แต่ถ้าร่วมมือกันเราก็เรียนรู้ความผิดพลาดของคนอื่นได้ จากแนวคิดนี้สามารถนำมาใช้กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการติดตามประเมินผลในเชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยต้องให้ความสำคัญกับความเป็นนานาชาติ เช่น ดึงอาจารย์เก่งๆ จากต่างประเทศมาร่วมวิจัย คือมีหลากหลายรูปแบบที่เราเรียนรู้จากเวทีต่างประเทศซึ่งเขาใช้กันเพื่อผลักดันงานวิชาการ พัฒนาคน พัฒนาครูบาอาจารย์ และนักศึกษาได้

ปีล่าสุด มธ.ขยับจากอันดับ 4 ขึ้นเป็นที่ 3 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย รองจากจุฬาฯ และมหิดล มีแนวทางรักษาระดับหรือพัฒนาหรือไม่?

ต้องเปลี่ยนเรื่องการเรียนการสอน หลักสูตรก็ต้องปรับ จริงๆ ปรับมาเยอะแล้ว แต่ยังต้องปรับต่อไปอีก เช่น หลักสูตรพื้นฐานต้องมีวิชาใหม่ๆ เช่น เรื่อง Big Data และปัญญาประดิษฐ์ แม้เด็กปี 1 อาจจะเรียนไม่ได้ลึก แต่อย่างน้อยให้เห็นว่าในศตวรรษนี้จำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง เชื่อว่าถ้านักศึกษาสามารถเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้คือ มีความรู้ มีทักษะภาษาอังกฤษ มีความเป็นผู้ประกอบการ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย ต่อคนไทยและประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มองว่าได้ที่ 3 แล้วหมายความว่าเก่งกว่าคนอื่น เพราะจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ บางอย่างเราทำได้ดี บางอย่างคนอื่นทำได้ดีกว่า บางประเด็นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็นำมาปรับปรุง ดังนั้น เรื่องการจัดอันดับเราก็ให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นกลไกของการเรียนรู้การพัฒนา

เคยมีเรื่องที่จินตนาการไว้หรือไม่ว่า ‘ถ้าฉันเป็นอธิการ’ จะเปลี่ยน แก้ไข หรือทำ และเมื่อตอนนี้ได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้แล้ว ยังคิดเหมือนเดิมไหม?

ยากนะคำถามนี้ (หัวเราะ) มีเรื่องหนึ่งที่อยากทำแต่ค่อนข้างยาก คือ “ไอที” อยากทำให้ทุกอย่างอยู่บนมือถือ ทั้งเว็บไซต์ ฐานข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับห้องสมุด หรือผลงานตีพิมพ์ของอาจารย์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรา รวมถึงการรับนักศึกษาทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้ข้อมูลเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ดึงมาใช้ได้ง่าย อยากทำ แต่ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า

ปัญหาเร่งด่วนที่ตั้งใจจะแก้ไขเป็นอันดับแรก?

มีบางหลักสูตรที่อยากควบรวม รวมถึงเรื่องหอพัก สวัสดิการของพนักงาน

ในฐานะ ‘ศิษย์เก่า’ กระทั่งกลับมาทำงานในรั้วแม่โดม รวมทั้งหมดหลายสิบปี มองพัฒนาการของธรรมศาสตร์อย่างไร?

มองว่าธรรมศาสตร์ขยายตัวเยอะมาก จากเดิมมีแค่ 1 แคมปัส คือ ท่าพระจันทร์ ปัจจุบันมีถึง 4 แคมปัส แต่ละแห่งใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะ จำนวนนักศึกษาเดี๋ยวนี้มีตั้ง 36,000 กว่าคน ครูบาอาจารย์ 2,000 กว่าคน เจ้าหน้าที่ประมาณ 6,000 คน รวมโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ด้วย ทำให้ต้องคำนึงว่าการดูแลทั่วถึงหรือเปล่า เหมาะสมหรือยัง ความพึงพอใจที่ทุกคนควรได้รับจะอยู่ที่จุดไหน

อธิการ มธ.เกือบทุกคนถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก น.ศ.อาจารย์เตรียมใจไว้ล่วงหน้าหรือยัง?

คิดว่าการถูกวิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ค่อยได้นึกถึงเรื่องนี้ เพราะเท่าที่ผ่านมาจากการทำงานกับนักศึกษาก็คุ้นเคยกันดี เขาจะพอใจทุกครั้งที่เข้ามาคุยกับเรา เวลาต้องการอะไร เราก็ให้ข้อมูลให้ได้มากที่สุด

ไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญเสียงวิพากษ์?

เคยมีเรื่องมีราวครั้งหนึ่ง คือ เรื่องโรงอาหาร มีเอกชนจะมาขอเช่าทำเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ อธิการบดีในขณะนั้นเห็นชอบเพราะอยากให้มหาวิทยาลัยมีความหลากหลาย และโรงอาหารนี้ก็เคยถูกเด็กๆ ด่าทอเยอะ ว่า 1.ร้อน 2.อาหารแพง 3.แมลงวันเยอะ 4.น้ำเน่า 5.ล้างจานไม่สะอาด 6.หมาเยอะ อะไรอย่างนี้ พูดกันมานาน เลยให้เอกชนมาทำ เพราะถ้าเราทำเอง ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ ทำออกมาคงเชยๆ แต่เราใจร้อนไปรื้อโรงอาหารเก่าเพื่อเตรียมให้เจ้าใหม่เข้ามา มีการเซ็นสัญญาเรียบร้อย ปรากฏว่าเขามาไม่ได้ ธนาคารไม่ให้กู้ ทีนี้เกศินีจะทำอย่างไร ปล่อยร้างไว้ เด็กก็ต้องด่า ถูกไหม?

ดีว่าอาจารย์วิทยา ด่านธำรงกุล บอกว่าซีพีไปทำอาหารที่จุฬาฯ กับมหิดล เราไปดูก็เข้าท่า ควานไปเจอเจ้านายเบอร์ 1 ของกรีนแคนทีน เขายินดีมาทำที่นี่ ใช้พัดลมยักษ์ 3 อัน มีที่ดูดอากาศ แมลงวันน้อย ทำเสร็จกะให้ไม่ต้องใช้เงินสดเลย เปิดวันแรกเด็กเลิกเรียนเที่ยงมาเข้าคิวซื้อบัตร โอ้โห คิวยาวววว ด่าถล่มเลย (หัวเราะ) โอ๊ย! เด็กประท้วงกัน ออกข่าวโทรทัศน์เลย

จะอธิบายอย่างไรต่อข้อสังเกตของ น.ศ.ที่บอกว่าในช่วงหลังธรรมศาสตร์เป็น ‘ทุนนิยม’ มากขึ้นเรื่อยๆ จากการมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาเปิดกิจการจนอาจกระทบผู้ค้ารายย่อย

เป็นเรื่องที่ต้องอธิบายว่ามีการเจรจากับโรงอาหารกลางว่าเขาจะต้องมีพื้นที่ ผู้ประกอบการเดิมที่เคยขายอยู่และประสงค์จะขายต่อ ต้องได้ขาย จากที่เราไปดู เจ้าเดิมๆ ก็ยังอยู่และขายราคาถูกด้วย หลายคนก็ชื่นชมในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เดิมซีพีจะคิดเงินค่าเช่าผันแปรไปตามรายได้ เช่น 10 บาทคิด 1 บาท ตอนหลังเราก็ไปต่อรองว่าเป็นแบบนี้ไม่ได้ ต้องทำให้ค่าเช่ามีความแน่นอน เมื่อเจรจากันแล้ว ตอนนี้ก็เรียบร้อยดี ไม่มีปัญหา

ถ้าตัดข้อจำกัดต่างๆ ออกไป ธรรมศาสตร์ใน ‘อุดมคติ’ ของอาจารย์เป็นอย่างไร?

ธรรมศาสตร์จะยังคงความเป็นธรรมศาสตร์ที่ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม กลุ่มใดที่ยังขาด คนธรรมศาสตร์ก็ต้องไปศึกษาว่าเขาขาดองค์ความรู้หรือทักษะอะไร แล้วเอาสิ่งเหล่านั้นมาจัดอบรม เติมเต็มให้ เมื่อเข้ามาในรั้วธรรมศาสตร์แล้ว เขาจะมีข้าวกิน เขาจะเรียนหนังสือได้ ใครไม่มีเงินเรียน ธรรมศาสตร์ต้องหาเงินให้เรียน (ยิ้ม)

ความคาดหวังของสังคมไทยทีมีต่อ “ธรรมศาสตร์” เช่น เสรีภาพทุกตารางนิ้ว ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะสอนให้ฉันรักประชาชน มีอิทธิพลต่อนโยบายการบริหารงานหรือไม่?

ปรัชญาเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ก็ยังคงเป็นอยู่ นโยบายไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ขอให้เป็นการแสดงออกที่เป็นไปอย่างเข้าใจ มีความรับผิดชอบ

ธรรมศาสตร์จะยังคงเป็นสถานศึกษาที่ทำเพื่อประชาชนเช่นเดิมอย่างนี้และตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image