ฟอนตามาร่า รัฐบาลที่ไม่ปล้นคนจนจงเจริญ   

ไม่น่าเชื่อว่าวิศวกรซึ่งยังชีวิตอยู่กับปิโตรเลียมและแท่นเจาะ จะมีงานวิชาการทางสังคมและปรัชญาความคิดออกมาสม่ำเสมอ และมากมายเสียยิ่งกว่านักวิชาการอาชีพเสียด้วยซ้ำ พิพัฒน์  พสุธารชาติ  เจ้าของงาน ‘รัฐศาสนา’  (2545)  ‘ความจริงในภาพวาด’  (2553)  ‘กลิ่นอาย  การเมือง  และภาพยนตร์’  (2558)  ซึ่งเขียนและแปลร่วมกับ อรรถสิทธิ์  สิทธิดำรง  และนวนิยาย ‘ปลายทางที่ infinity’  (2544)

ความสนใจกว้างขวางทางสังคม ความคิดของผู้คน อันเป็นรากวัฒนธรรม ของวิศวกรนักเขียนนามนี้ ได้นำเข้าไปสู่งานจำหลักสำคัญชิ้นหนึ่งของ นิธิ  เอียวศรีวงศ์  ผู้ได้การยอมรับระดับที่มีคำเอ่ยว่า นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยล้วนเดินออกมาจากเสื้อคลุมของอาจารย์นิธิ งานจำหลักชิ้นนั้น ‘ปากไก่และใบเรือ’ ถูกนำมารื้อสร้าง วิพากษ์วิจารณ์อย่างทุ่มเท เพื่อขยายต่อไปสู่ความคิดใหม่ๆ จากความเห็นที่ชวนถกเถียง กระตุ้นแง่คิด ที่ทำให้หนังสือ ‘คราสและควินิน’ เล่มนี้ สร้างประสบการณ์การอ่านอย่างมีรสชาติ ชนิดคอหนังสือ คอประวัติศาสตร์ คอสังคมและการเมือง ล้วนพลาดไม่ได้ทีเดียวเชียว

Advertisement

๐  รัฐบาลที่ไม่ปล้นคนจนจงเจริญ  ‘ฟอนตามาร่า’  (2476)  นิยายเสียดสีล้อเลียนรัฐบาลทหารฟาสซิสท์มุสโสลินี  ที่กลายเป็นนิยายคลาสสิคของโลกไปแล้ว แต่เราส่วนใหญ่เพิ่งได้อ่านกัน เมื่ออาจารย์ พรภิรมณ์  เอี่ยมธรรม  กับ วิทยากร  เชียงกูล  ช่วยกันแปลและเรียบเรียงออกมาในปี 2523 และเป็นโอกาสดีของนักอ่านเมื่องานของ อิกนาซิโอ  ซิโลเน่  ชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3

ที่สำคัญ มีคำวิจารณ์ของ ลีออน  ทรอทสกี้ (เสียชีวิต 2483) นักทฤษฎีสังคมและนักปฏิวัติชาวรัสเซีย ผู้มีบทบาทโดดเด่นร่วมกับเลนินในการปฏิวัติรัสเซีย และเป็นผู้จัดตั้งกองทัพแดงต่อสู้พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติ ก่อนจะถูกสตาลินคู่แข่งรังควานจนต้องลี้ภัยออกไปถูกฆ่าตายนอกประเทศ

หนังสือเล่มนี้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ตีพิมพ์อย่างน้อยหนึ่งล้านห้าแสนเล่ม ใน 27  ภาษา หาอ่านกันอย่างมากช่วงสงครามกลางเมืองสเปนทั้งฟาสซิสท์และฝ่ายหัวก้าวหน้า แม้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  กองกำลังสัมพันธมิตรที่กำลังต่อสู้กับฟาสซิสท์และนาซีก็สนับสนุนการพิมพ์และแปลงานชิ้นนี้

Advertisement

นักเลงหนังสือกับนักอ่านซึ่งมีหัวใจปฏิวัติทุกรูปนามจึงพลาดงานชิ้นนี้ไม่ได้

๐  หนังสือต้องอ่านอีกเล่ม ‘ศาลรัฐประหาร’ ความรู้และความเห็นเรื่องตุลาการ  ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหารของอาจารย์ ปิยบุตร  แสงกนกกุล ซึ่งจะคืนความเป็นการเมืองแก่กฎหมาย เปลี่ยนสนามกฎหมายซึ่งถูกทำให้เชื่อว่ามีความเป็นกลาง เป็นอิสระ มีความสมเหตุสมผล และเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์แบบภาววิสัย ให้เป็นสนามต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่อนุญาตให้ผูกขาดอยู่แต่ในมือของนักกฎหมาย กับคนสวมครุยบนบัลลังก์อีกต่อไป ดังนั้น เราซึ่งรักความเป็นธรรมทั้งหลาย จึงควรอ่านและศึกษาความรู้ความเห็นจากหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นกำลังให้อำนาจศาลและตุลาการเข้มแข็งด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง

๐  อ่านเอาเรื่องมาสามเล่มแล้ว กว่าจะย่อยอาจเป็นสัปดาห์ ไหนๆก็ไหนๆ เอาปกแข็งงามงดของอาจารย์ ไชยันต์  รัชชกูล  ไปอีกเล่ม ช่วยย่อยแทนขมิ้นชันหรืออีโน  หรือเผลอๆกึ๋นอาจจะอืดขึ้นอีกก็ไม่รู้ ‘อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก   อ่านเพลิน   อ่านเจ็บ   เป็นหนังสือที่เหมาะกับยุคสมัยก่อร่างสร้างตัวสร้างอนาคตดีแท้

อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์  เขียนคำนำเสนอ ให้ได้มองตัวเอง ทบทวนตัวเอง ทบทวนความรู้ ทบทวนความคิด มิใช่เชื่อหรือฟังตามกันมาแบบไสยศาสตร์ฮาร์ดคอร์

เขาว่าคนไทยเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ตัวยง   ให้อยู่ข้างซ้ายก็วิจารณ์ขวาได้เผ็ดร้อน   พอจับเปลี่ยนมาอยู่ข้างขวาก็วิจารณ์ซ้ายได้อุตลุตทันที   เสียอยู่อย่าง   ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองเลย  (แม้แต่คิด)

๐  ๒๕๐  ปีเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่  ๒  ได้คิดอะไรใหม่ๆกว่าเดิมบ้าง   ลองศึกษาอดีตดูอีกรอบดีไหม  พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ฉบับหมอบรัดเล  ปกแข็งกะทัดรัด   แต่เดิมเรียกว่าพระราชพงศาวดารฉบับสองเล่ม   ชำระในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโดยสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน   บางแห่งจึงเรียกว่าฉบับพระพนรัตน์ด้วย

ที่เรียกว่าฉบับหมอบรัดเลก็เพราะเป็นผู้นำมาพิมพ์และออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี  ๒๔๐๗  ถือเป็นการพิมพ์พระราชพงศาวดารเป็นครั้งแรก   ลองอ่านใหม่ด้วยสายตาและความคิดของคนพ.ศ.นี้ดู

เพียง  ๕  เล่มสัปดาห์นี้   ก็คงนอนหลามให้กึ๋นค่อยๆย่อยไปได้เกือบเดือน.

 

บรรณาลักษณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image