สารซักฟอกทำให้เสื้อผ้าสะอาดได้อย่างไร? : คอลัมน์ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์

เรานำเสื้อผ้าไปซักเป็นเพราะต้องการกำจัดความสกปรกจากเหงื่อไคลหรือรอยเปื้อนจากคราบอาหาร แต่ทราบหรือไม่ว่าสารซักฟอก (Detergent) ทำให้เสื้อผ้าสะอาดได้อย่างไร

ช่วงทศวรรษ 1930s ผลิตภัณฑ์สารซักฟอกชื่อ “เดร็ฟท์ (Dreft)” โดยบริษัท Procter & Gamble (P&G) เป็นแบรนด์แรกที่เปิดตลาดผลิตภัณฑ์สารซักฟอก (ผู้คนก่อนหน้านั้นใช้เกล็ดสบู่ (Soap Flakes)ในการซักผ้า) หลังจากนั้นก็มีผลิตภัณฑ์สารซักฟอกชื่อ “ไทด์ “(Tide) โดยบริษัทเดียวกันตามมาในปี 1943 ซึ่งสามารถขจัดคราบหนักได้ดียิ่งขึ้นด้วยส่วนผสมของสารเคมีพิเศ ในช่วงปีทศวรรษ 1930s และ 1940s สารซักฟอกกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการทำความสะอาดเสื้อผ้าในทันที กลับมาที่คำถามว่าสารซักฟอกทำอย่างไรเสื้อผ้าจึงสะอาด?

Advertisement

ส่วนประกอบของสารเคมีในสารซักฟอกนั้นมีหลากหลายกลุ่มและหนึ่งในนั้นคือสารประเภทลดแรงตึงผิวหรือ Surfactants ซึ่งย่อคำมาจากคำว่า “Surface-active agents” โครงสร้างทางเคมีของมันมีลักษณะพิเศษที่สามารถเกิดปฏิกิริยากับพื้นผิวสองชนิดนั่นคือน้ำและน้ำมัน หางด้านหนึ่งของโมเลกุลสารลดแรงตึงผิวนี้คือ Hydrophobic หรือสารที่ไม่จับตัวกับน้ำแต่จับกับไขมันและคราบสกปรก ในขณะที่ส่วนหัวของโมเลกุลคือHydrophillicจะเป็นส่วนที่จับตัวกับน้ำ

ดังนั้นเมื่อเสื้อผ้าที่มีคราบไขมันถูกนำมาซักด้วยน้ำที่ผสมสารซักฟอก ส่วนหางของโมเลกุลจะไปจับกับคราบไขมันและส่วนหัวของโมเลกุลจะจับกับน้ำ เมื่อเกิดกระบวนการซักผ้า โมเลกุลดังกล่าวจะจับตัวอย่างสมบูรณ์เป็นทรงกลมลอยอยู่ในน้ำแล้วถูกชำระออกไปด้วยการเทน้ำทิ้งของเครื่องซักผ้า …ดังนั้นประโยชน์อย่างแรกของสารลดแรงตึงผิวคือความสามารถในการขจัดคราบจากเสื้อผ้าไม่ให้กลับมาติดบนเนื้อผ้าใหม่อีกครั้ง

ถึงแม้ว่าสารลดแรงตึงผิวจะเป็นหัวใจสำคัญของการทำความสะอาดผ้าในสารซักฟอกแต่ยังมีส่วนผสมอื่นๆอีกที่ช่วยให้ทำความสะอาดดีขึ้นทำให้ผ้าดูสดใสขึ้นแล้วยังหอมขึ้นด้วย สารลดแรงตึงผิวบางชนิดไม่สามารถทำงานได้ดีในน้ำกระด้างที่มีไอออนบวกจำนวนมากได้ สารที่ถูกเติมเข้ามาช่วยคือ Builder  ซึ่งสามารถกำจัดไอออนแคลเซียมและแมกนีเซียมในน้ำกระด้างด้วยการเข้าไปจับกับไอออนเหล่านี้ทำให้สารลดแรงตึงผิวทำงานได้สะดวกขึ้น พูดง่ายๆว่าเข้าไปจับกับคราบสกปรกได้ง่ายขึ้น (แทนที่จะต้องมาจับกับไอออนบวกในน้ำกระด้าง)

Advertisement

สารเสริมพลังนี้มีค่าเป็นเบสดังนั้นมันจะทำให้กรดมีค่าเป็นกลางและยังช่วยให้ผู้ผลิตสารซักฟอกประหยัดการใส่สารลดแรงตึงผิวเพราะสารเสริมพลังนี้ทำให้สารลดแรงตึงผิวทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตัวอย่างของสารเสริมพลังได้แก่โซเดียมไตรโพลีฟอสเฟส (STTP) และซีโอไลท์ (Zeolites)


หมายเหตุ– บทความนี้ได้รับการเขียนโดยคุณ ภาณี ภัททิยไพบูลย์ ซึ่งเป็นผู้อ่าน ผมเห็นว่าเขียนและเรียบเรียงได้ดีจึงติดต่อมาลงไว้ในคอลัมน์นี้เพื่อให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image