ข้อสังเกตบางประการในเรื่องของทหารกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี’60 : พลโท ทวี แจ่มจำรัส

รัฐธรรมนูญมีสถานะในทางศักดิ์หรือลำดับชั้นของกฎหมายมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งหมายความว่ากฎหมายอื่นใดในรัฐจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญจัดว่าเป็นกฎหมายมหาชนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน สถานะเช่นนี้เองทำให้รัฐธรรมนูญมีความสำคัญของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ตราและประกาศใช้แล้วเมื่อ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ได้ตราไว้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น นำมาเปรียบเทียบกันเฉพาะมาตราสำคัญโดยมีข้อสังเกต ดังนี้

1.แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐฉบับใหม่ กำหนดไว้ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 52 วรรคแรก รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตทั่วประเทศไทยมีสิทธิ อธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ วรรคที่สอง กำลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย

ฉบับเก่า กำหนดไว้ในส่วนที่ 2 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ ในมาตรา 77 มีวรรคเดียว รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอเพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ

Advertisement

มีข้อสังเกต คือฉบับใหม่ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรอง ฉบับเก่า รัฐต้องจัดให้มีกำลังทหาร โดยขยายความรับผิดชอบ เดิมมีแต่กระทรวงกลาโหมต่อไปก็ต้องมีกระทรวงการต่างประเทศ (การทูต) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มาร่วมรับผิดชอบด้วย ส่วนเรื่องการพัฒนาประเทศนั้นกำลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย ฉบับใหม่เน้นให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นโดยแยกไว้เป็นวรรคที่สอง ในฉบับเก่า รวมอยู่ในวรรคเดียวกัน

2.พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการประกาศใช้กฎอัยการศึก ฉบับใหม่ กำหนดไว้ในมาตรา 176 วรรคแรก พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก วรรคที่สองในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นกรณีรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
ย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก

ฉบับเก่า กำหนดไว้ในมาตรา 188 วรรคแรก พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก ตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎ
อัยการศึก วรรคที่สอง ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก

Advertisement

มีข้อสังเกต คือในวรรคแรก ฉบับใหม่นี้ การประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก ได้ตัดข้อความของฉบับเดิมที่กำหนดว่า ตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกออกไป ส่วนในวรรคที่สอง ฉบับใหม่เป็นกรณีรีบด่วน ส่วนฉบับเก่าเป็นการรีบด่วน ทำให้สามารถประกาศใช้กฎอัยการศึกได้หลายกรณีที่รีบด่วน

3.การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ฉบับใหม่ กำหนดไว้ในมาตรา 180 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่งเว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ

ฉบับเก่า กำหนดไว้ในมาตรา 193 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย

มีข้อสังเกต คือเพิ่มการพ้นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ไม่ต้องโปรดเกล้าอีก เดิมเพราะความตาย เพิ่มอีก 2 กรณีคือ เกษียณอายุ และพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ

4.ศาลทหาร ฉบับใหม่ กำหนดไว้ในมาตรา 194 วรรคแรก ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ที่ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจทหาร และคดีอื่นทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ วรรคที่สอง การจัดตั้ง วิธีพิจารณาคดี และการดำเนินงานของศาลทหาร ตลอดจนการแต่งตั้ง และการให้ตุลาการศาลทหารพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

ฉบับเก่า กำหนดไว้ในมาตรา 228 วรรคแรก ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่ง ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและคดีอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ วรรคที่สอง การแต่งตั้งและการให้ตุลาการพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มีข้อสังเกต คือในวรรคแรก เปลี่ยนคำจากที่เป็นซึ่ง และในวรรคสอง ขยายความให้ศาลทหารมีอำนาจเพิ่มขึ้น ในเรื่องการจัดตั้ง วิธีพิจารณาคดีและ
การดำเนินงานของศาลทหาร ทำให้ศาลทหารมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้นเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ทหารและพลเรือนที่อาจต้องขึ้นศาลทหารด้วย

5.กำหนดให้ข้าราชการทหารที่ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นสมาชิกวุฒิสภา กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 269 วรรคหนึ่ง วงเล็บ ค ของผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ รวม 5 ตำแหน่ง โดยอัตโนมัติ

กฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (กฎหมายลูก) ทั้งสามคำนี้ มีลักษณะในสาระสำคัญที่แตกต่างกัน คือกฎหมายรัฐธรรมนูญมีเนื้อหากว้างกว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองรัฐหรือการใช้อำนาจของรัฐในทางการเมืองการปกครองประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม ส่วนรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญชนิดหนึ่งเฉพาะที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

สำหรับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่นำเอาหลักการและรายละเอียดที่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญมาบัญญัติแยกไว้อีกในกฎหมายดังกล่าว

 

พลโท ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image