นักวิชาการ แนะคสช.ต้องชัดเจน ปมยุบ-ควบรวม อปท.ขนาดเล็ก เชื่อเลือกตั้งผู้ว่าฯนำร่องไม่มี

วันที่ 19 พฤศจิกายน ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า การกำหนดเงื่อนไขในการเลือกตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น ( อปท.)ปี 2561 อาจมีปัญหากระทบกับแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่น ตามโครงสร้างใหม่ที่หลายหน่วยงานได้ศึกษาไว้โดยเฉพาะการยุบ อปท.ขนาดเล็ก และการควบรวม การยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นเทศบาลควรดำเนินการอย่างไรก่อนจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือ หากจะจัดให้มีการเลือกตั้ง อปท.ก่อนจากนั้นจะมีการปฏิรูปในภายหลัง เชื่อว่าทำได้ยากและจะมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ควรกำหนดนโยบายให้ชัดเจน ตามแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากแนวทางการกระจายอำนาจให้ อปท. และส่วนตัวยังเห็นว่าการจัดเลือกตั้ง อปท.ทุกระดับทั่วประเทศพร้อมกันจะมีความเหมาะสม และเชื่อว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีพัฒนาการที่ดีในการใช้วิจารณญาณเลือกผู้นำท้องถิ่น และในอนาคตควรกำหนดให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าทุก 4 ปี จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

“สำหรับการเลือกตั้ง อปท.ในรูปแบบพิเศษทั้ง กทม.และเมืองพัทยา ควรมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีงบประมาณสูงและเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ส่วนแนวทางในการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง โดยนำร่องเพื่อเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงนั้นในระยะสั้นเชื่อว่าจะไม่มี เพราะเกรงว่าจะกระทบกับการใช้อำนาจของระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นกลไกหลักที่รัฐบาลปัจจุบันใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าว

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรรมการนโยบายของพรรคยังไม่ได้หารือรูปแบบโครงสร้างของ อปท.ที่เหมาะสมก่อนการจัดเลือกตั้ง เนื่องจาก คสช.ยังไม่ปลดล๊อคให้ทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ก่อนการเลือกตั้งรัฐบาลต้องกำหนดรูปแบบของ อปท.ให้ชัดเจน โดยเฉพาะในตำบลเดียวหากมีการทับซ้อนของ อปท. 2 แห่งจะดำเนินการอย่างไร รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการยกฐานะ อบต.เป็นเทศบาลและการควบรวม อปท.ขนาดเล็กจะมีวิธีการอย่างไร

“หน่วยงานที่จะเข้ามาควบคุมการเลือกตั้ง ควรให้ กกต.เข้าไปทำหน้าที่ จะเหมาะสมกว่าหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากอาจมีปัญหาจากระบบอุปถัมภ์ ส่วนกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นที่รักษาการ มีความกังวลจากการจัดทำร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น กำหนดให้ผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ ไม่สามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้ เชื่อว่าการตีความตามกฎหมายของผู้มีอำนาจจะไม่นำเงื่อนไขการใช้ ม. 44 ให้ผู้บริหาร อปท.ที่หมดวาระรักษาการ โดยกำหนดให้เป็น 1 วาระอย่างแน่นอน” นายวิรัตน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image