ซึมซับ..ศาสตร์พระราชา ผ่านค่ายสร้างฝาย-ปลูกป่า

เพื่อดำเนินตามรอยศาสตร์พระราชา ชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สงขลา จึงได้นำนักศึกษาของชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ออกค่ายปลูกป่า คัดพันธุ์ไม้ชนิดดูดซับคาร์บอนเพื่อช่วยลดโลกร้อน สร้างฝายต้นน้ำ และปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำ ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แนวพระราชดำริ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้

 

นายกมลนาวิน อินทนูจิตร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ที่ปรึกษาชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้นำนักศึกษาในชมรมฯ จำนวน 103 คน ออกค่ายสร้างฝายต้นน้ำ และปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำ ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แนวพระราชดำริ ต.ฉลุง ซึ่งในทุกๆ ปี สมาชิกชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อมจะดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในพื้นที่ จ.สงขลา และใกล้เคียง โดยปีที่แล้วเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำผาดำ ส่วนปีนี้บูรณาการร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 จ.สงขลา จัด ค่ายปลูกสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม รูปแบบกิจกรรมประกอบด้วย เรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา เรียนรู้พันธุ์กล้าไม้ที่เหมาะสมต่อการดูดซับคาร์บอนเพื่อลดสภาวะโลกร้อน การจัดการขยะ ณ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และการจัดทำฝายต้นน้ำบริเวณพื้นที่เขาวัง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

Advertisement

 

“สิ่งสำคัญที่สุดของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อันมีค่าของเรา คือการปลูกจิตสำนึก สำนึกจะเกิดไม่ได้หากไม่มีแบบอย่างที่ดี คนไทย และเยาวชนไทยโชคดีที่มีแบบอย่าง เช่น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานมรดกอันยิ่งใหญ่ที่สุดในแก่คนไทย คือศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นของจริง ทำแล้วดีจริง หวังว่าเยาวชนจะซึมซับศาสตร์พระราชาอย่างถูกต้องให้มากที่สุด เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไทย ในส่วนของ มรภ.สงขลา จะดำเนินการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยจะเพิ่มพื้นปลูกต้นไม้ประมาณ 60% ทั่วมหาวิทยาลัย” ที่ปรึกษาชมรมฯ กล่าว

Advertisement

ด้าน ฮูซัย หนูหัน ประธานชมรมสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม เล่าว่า จากกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ทุกคนได้ร่วมเรียนรู้ถึงกระบวนการสร้างฝาย เเละปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต ได้ช่วยกันดูแลโลกที่เราอยู่อาศัย เเละรักษาสิ่งเเวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดีไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ซึ่ง ฮูซัย ทิ้งท้ายได้อย่างกินใจว่า “ถึงแม้เราจะไม่สามารถปลูกต้นไม้ในหัวใจของทุกคนได้ เเต่สามารถทำให้ทุกคนเรียนรู้กระบวนการปลูกต้นไม้ และเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อทุกชีวิตบนโลกได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image