ผู้ช่วยเลขาฯ สปสช. หวังแก้คนไร้บ้านไม่ได้สิทธิรักษาพยาบาล ชี้ควรหลุดความเชื่อเก่ายึดติดเอกสาร-ใช้ระบบใหม่ระบุตัวตน

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่พิพิธบางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมและเวทีสาธารณะ “Human of Street” ตอน “Greeting For The Homeless” ด้วยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายคนไร้บ้าน
ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ “เรื่องเล่าริมทาง” และนิทรรศการเพื่อสร้างความเข้าใจคนไร้บ้านในกทม. การแสดงดนตรีเพลงเพื่อคนไร้บ้าน รวมถึงการสกรีนเสื้อช่วยคนไร้บ้าน โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมีเสวนาหัวข้อ “เพื่อสิทธิ์ เพื่อชีวิต คนไร้บ้าน” โดยในตอนหนึ่งนายแพทย์รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องไกลตัว ประเด็นที่ในอนาคตต้องพบแน่นอนคือคนสูงอายุที่เดินหลงออกจากบ้าน ถือว่าเป็น ‘คนไร้บ้านชั่วคราว’ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าตนคือใคร จะใช้สิทธิอะไรในการรักษาพยาบาล อุปสรรคใหญ่คือการลงทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพ ต้องมีเลขประจำตัว 13 หลัก ทั้งนี้ตนมองว่าน่าจะมีระบบใหม่ที่ทำให้หลุดจากความเชื่อเก่าที่ยึดติดกับเอกสาร เช่น การตรวจดีเอ็นเอ ลายนิ้วมือ หรือสแกนม่านตา

“อนาคตข้างหน้าต้องเจอแน่คือคนสูงอายุที่เดินหลงจากบ้าน เช่น พ่อเพื่อนผมคนหนึ่ง เป็นอดีตข้าราชการผู้ใหญ่ หายตัวจากบ้าน สุดท้ายเจอในสภาพชายไม่ทราบชื่อ เป็นคนไร้บ้านชั่วคราว วันนี้ถ้าเรามีอาการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต เราจะมีสภาพเดียวกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองคือใคร ไม่รู้จะแสดงตัวตนว่าจะใช้สิทธิอะไร ตรงนี้รัฐก็พยายามดูแล แต่อาจไม่เพียงพอ สปสช.เองอาจเป็นน้องใหม่สำหรับวงการ เราทำเรื่องระบบหลักประกัน ซึ่งในมาตรา 5 บอกว่าบุคคลจะใช้สิทธิ ต้องมีการลงทะเบียนซึ่งต้องมีเลขสิบสามหลัก นี่คืออุปสรรคใหญ่ ยุคหนึ่งพยายามบอกว่า คนทุกคนในแผ่นดินใด ต้องได้รับการคุ้มครองสุขภาพเท่าเทียม ทั้งหมดครอบคลุมไปแล้วเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีที่เหลือคือกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งในซอกหลืบ” นายแพทย์รัฐพลกล่าว

นายแพทย์รัฐพลกล่าวต่อว่า กระบวนการเก็บข้อมูลตั้งแต่แต่เกิดเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตามน่าจะมีระบบใหม่ที่จะทำให้หลุดจากความเชื่อเก่าที่ยึดเฉพาะเอกสาร เช่น ตรวจดีเอ็นเอ อาจใช้ลายนิ้วมือ และสแกนม่านตา ตัวอย่างในประเทศจีนคือใช้โปรแกรมการจดจำใบหน้า ทำให้สามารถระบุตัวตนได้ นอกจากนี้ตนเชื่อว่าต้องตั้งต้นด้วยความเชื่อของสังคมว่าคนเหล่านี้มีคุณค่า และคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image