แย้มประตู ส่อง ร.ร.อุ้มผางฯ อยากได้ครูมาสอน

ข่าวคราวของ น.ส.วนาลี ทุนมาก หรือ ครูแอน และ น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี หรือครูวัลย์ ที่ไม่ได้รับการบรรจุให้เป็นครูผู้ช่วยที่ “โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม” จ.ตาก เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการไม่ถูกต้อง ทำให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตาก ไม่อนุมัติการบรรจุแต่งตั้ง จนเกิดเป็นกระแสข่าวครึกโครม ทำให้ชื่อของโรงเรียนอุ้มผางฯ กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาแทบจะในทันที

โรงเรียนอุ้มผางฯ เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) เป็นโรงเรียนประจำอำเภออุ้มผาง ห่างจากตัว จ.ตาก 233 กิโลเมตร การเดินทางจาก อ.อุ้มผางไปยังตัวจังหวัดจะใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง แต่ถ้าจาก อ.อุ้มผาง ไปยังเขตพื้นที่ฯ ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.สุโขทัย ใช้เวลาเดินทางอีก 6-7 ชั่วโมง นั่นสำหรับคนมีรถ แต่สำหรับครูที่ไม่มีรถส่วนตัว การเดินทางจะใช้เวลาเพิ่มขึ้น จาก 6-7 ชั่วโมง จะกลายเป็น 17-18 ชั่วโมงทันที เพราะจะต้องเข้าไปใน อ.แม่สอด ก่อนเพื่อต่อรถไปยัง จ.สุโขทัยซึ่งเป็นที่ตั้งของ สพม.เขต 38

โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่บนดอย แวดล้อมไปด้วยป่าเขา การเดินทางจาก อ.พบพระ จะต้องขึ้นเขา ผ่านโค้งแล้วโค้งเล่าถึง 1,219 โค้ง หน้าฝนถนนจะลื่น เกิดดินสไลด์อยู่บ่อยครั้ง ต้นไม้โค่นขวางถนนอยู่เป็นนิตย์ เป็นเหตุให้ครูที่ขึ้นไปสอนแล้ว มักไม่ค่อยอยากลงมา ถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ

นักเรียนในโรงเรียนอุ้มผางฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร มี 1,512 คน จำแนกเป็น นักเรียนไป-กลับ 1,037 คน และนักเรียนพักนอน 475 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นนักเรียนซึ่งจบจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ได้รับทุนพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 27 คน และหน่วยงานที่ดูแลนักเรียนทุนในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะขึ้นไปตรวจเยี่ยมดูแลความเป็นอยู่ของนักเรียนทุนของพระองค์ท่านไม่ต่ำกว่าปีละครั้ง

Advertisement

นอกจากนี้ โรงเรียนอุ้มผางฯ ยังจัดโครงการเรียนร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อาชีวศึกษา-มัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพร่วมกันระหว่างสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และโรงเรียนมัธยมในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยโรงเรียนอุ้มผางฯ ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิค (วท.) ตาก และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ตาก จัดทวิศึกษาตามพระราชดำริฯ มาเป็นปีที่ 3 แล้ว จัดสอนสาขาช่างยนต์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการเกษตร

ปัจจุบันโรงเรียนอุ้มผางฯ มีข้าราชการครู 68 คน ครูอัตราจ้าง 3 คน ครูพนักงานราชการที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3 คน โดยมีนายภูธนภัส พุ่มไม้ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งจะอยู่ครบ 3 ปีเต็มในเดือนธันวาคมนี้

นายภูธนภัส เล่าว่า โรงเรียนอุ้มผางฯ มีเด็กชนเผ่า และเด็กไทย 50 : 50 โดยในส่วนของเด็กชนเผ่านั้น เป็นเด็กเผ่ากะเหรี่ยงส่วนใหญ่ รองลงมา เผ่าม้ง และปกากะญอ ตามลำดับ เด็กชนเผ่าทั้งหมดมีสัญชาติไทย ได้รับสิทธิเท่ากับนักเรียนไทยทุกอย่าง รวมถึง ได้รับงบอาหารกลางวันด้วย

Advertisement

“โรงเรียนได้รับงบพักนอนจาก สพฐ.ได้รับงบอาหารกลางวันตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ ในส่วนของเสาร์ และอาทิตย์ จะต้องจัดหาอาหารกลางวันเพิ่มเติมสำหรับเด็กกินนอน 475 คน เด็กกลุ่มนี้เดินทางลำบากไป-กลับบ้านลำบาก เพราะระยะทางห่างไกล และหนทางลำบาก จึงกินนอนอยู่ที่โรงเรียน วันเสาร์ และอาทิตย์ เราจะจัดหาอาหารให้ตามอัตภาพ ถ้ามีมาก ก็ให้กินมาก ถ้ามีน้อย ก็ให้กินน้อย ซึ่งจะมีผู้บริจาคเงินสำหรับอาหารกลางวัน รวมถึง บริจาคของใช้ให้กับเด็กๆ” นายภูธนภัส กล่าว

กรณีปัญหาครูแอน และครูวัลย์ ที่มีปัญหาในการบรรจุแต่งตั้งอยู่ในขณะนี้นั้น นายภูธนภัส กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนจะไม่ทราบว่าคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จัดสรรอัตราว่างให้โรงเรียนเท่าไหร่ อย่างไร เพราะหน้าที่ของโรงเรียนแค่รายงานให้เขตพื้นที่ฯ รับทราบว่าครูลาออก หรือขอย้าย หรือขาดแคลนเท่าไร ส่วนจะได้รับจัดสรรอัตรามาให้เท่าไหร่นั้น เป็นเรื่องที่เขตพื้นที่ฯ เชื่อมโยงกับ กศจ.โดยก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2560 โรงเรียนอุ้มผางฯ ขาดแคลนวิชาสังคมศึกษา 3 อัตรา และวิชาคณิตศาสตร์ 2 อัตรา

“ปัญหาที่โรงเรียนมักเจอวนซ้ำตลอดปี คือครูสอบแข่งขันได้ไม่มารายงานตัว หรือถ้าไม่สละสิทธิ ก็จะทำเรื่องขอย้ายไปโรงเรียนอื่นหลังจากสอนครบ 4 ปีตามเกณฑ์ของ สพฐ.หรือถ้ายังไม่ถึงเกณฑ์ ก็จะทำเรื่องขอย้ายเพื่อไปบรรจุใหม่ เพราะครูเหล่านี้มักไปสอบขึ้นบัญชีใหม่ไว้ด้วย เราก็ต้องตัดโอนไป”

ผู้อำนวยการโรงเรียนอุ้มผางฯ เล่าอีกว่า อย่างเปิดภาคเรียนใหม่มา ก็มีครูขอย้ายเพื่อไปบรรจุใหม่แล้ว 4 ราย ได้แก่ วิชาภาษาไทย 1 ราย ฟิสิกส์ 1 ราย บรรณารักษ์ 1 ราย และล่าสุดศิลปะ 1 ราย ที่เพิ่งขอย้ายเพื่อไปบรรจุใหม่ก่อนเปิดเทอม นอกจากนี้ ยังมีครูวิชาสังคมศึกษาและวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ที่สอบขึ้นบัญชีไว้ รอเรียกตัวบรรจุที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำปาง สำหรับปัจจุบันโรงเรียนอุ้มผางฯ ยังขาดแคลนครูอีก 9 อัตรา จำแนกเป็น วิชาภาษาไทย 1 อัตรา คณิตศาสตร์ 3 อัตรา วิทยาศาสตร์ทั่วไป 1 อัตรา สังคมศึกษา 2 อัตรา ภาษาพม่า 1 อัตรา และการเงินการบัญชีและพัสดุ 1 อัตรา

“ในส่วนของครูแอน และครูวัลย์นั้น ดูแลเด็กเป็นอย่างดี ตั้งใจดูแลเด็ก และตั้งใจสอนหนังสือ เป็นที่รักของเพื่อนครู และนักเรียน ถามว่าอยากให้ครูแอน และครูวัลย์กลับมาสอนที่โรงเรียนเหมือนเดิมไหม เรื่องนี้ต้องตอบว่าแล้วแต่ผู้ใหญ่ สำหรับโรงเรียนอุ้มผางฯ จะเป็นใครก็ได้ ขอแค่เป็นคนดี และตั้งใจดูแลเด็กกินนอน” นายภูธนภัส กล่าว

โรงเรียนอุ้มผางฯ นอกจากบ่มเพาะเด็กๆ ให้เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ และมีวิชาชีพเพื่อพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ยังเป็นที่พักพิงของเด็กชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนั้น จึงนับเป็นความงดงามที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ที่ผสมผสานความหลากหลายระหว่างเด็กชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทย และเด็กชาวเผ่าต่างๆ ได้อย่างลงตัว

อ่านเพิ่มเติม

-31 ‘มรกต’ แจงปม กศจ.สุโขทัยเรียกลำดับ 18 ข้าม ‘ครูแอน-ครูวัลย์’ ยันออกบัตรขรก.เป็นเรื่องอำนายความสะดวกให้ครู
-30 ขอข้อมูล’สพม.38-สพป.สุโขทัย2-กศจ.สุโขทัย-ตาก’ ชงก.ค.ศ.หาทางออกปม’ครูแอน-ครูวัลย์’ปลายพ.ย.นี้
-29 พบเงื่อนงำ ‘กศจ.สุโขทัย’ เรียกบรรจุลำดับ 18 ข้าม’ครูแอน-ครูวัลย์’ แม่ลั่นไม่เคย’วิ่งเต้น-จ่ายเงิน’ให้’ครูแอน’บรรจุ
-28 อดีตผอ.สพม.38 พร้อมแจงกก.สืบสวนฯ ลั่นไม่เคย ‘เรียก-รับเงิน’ ครูแอน-ครูวัลย์ ท้าคนปล่อยข่าว แสดงตัว
-27 ‘ครูแอน-ครูวัลย์’ ฟ้องศาลปกครองแล้ว ก.ค.ศ.ชี้เป็นสิทธิ
-26 กก.สืบสวนฯ สรุป ‘บรรจุไม่ถูกต้อง เหตุข้ามขั้นตอน’ สพฐ.ชี้เขตออกบัตรขรก.’ครูแอน-ครูวัลย์’ก่อนอนุมัติ เป็นเรื่องปกติ
-25 เปิดไทม์ไลน์… ‘ครูแอน-ครูวัลย์’ จากวันที่บรรจุ…สู่ฝันสลาย??

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image