บาทแข็งโป๊ก! ป่วนส่งออก ลุ้นโค้งสุดท้าย…หวั่นบดบังฟ้าใสปี 61

ปีนี้เครื่องยนต์การส่งออกมาแรง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และยังขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการขยายตัวรายเดือนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเติบโตดี บางเดือนเติบโตสูงเป็นเลขสองหลัก เป็นผลให้สำนักเศรษฐกิจต่างๆ พาเหรดปรับตัวเลขการส่งออกขึ้น โดยทัพหลักอย่างกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าการส่งออกจะเติบโตถึง 8.5% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง คาดเติบโต 8.5% เช่นกัน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินที่ 8.0% ส่วนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าจะเติบโต 7.5% และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่าส่งออกจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 8.0%

ขณะที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังต้องรอประกาศในวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนแรก 2560 จะเป็นอย่างไร และคาดว่าจะปรับประมาณการตัวเลขใหม่จากเดิมที่คาดส่งออกขยายตัว 5.7%

ไตรมาสสุดท้ายส่งออกชะลอ

เบื้องต้น ธปท.ได้รายงานข้อมูลว่า การส่งออกขยายตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ ช่วง 9 เดือนแรก 2560 มูลค่าการส่งออกเติบโตถึง 9.1% แล้ว แต่อัตราการเติบโตการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้น่าจะชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ที่เติบโต 6.8% 7.9% และ 12.5% ตามลำดับ

Advertisement

ขณะที่ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า แม้ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกจะเติบโตกว่า 9% แต่เชื่อว่าทั้งปีการส่งออกจะเติบโตไม่ถึง 10% เนื่องจากช่วงที่เหลืออีก 3 เดือน การส่งออกจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง

ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกที่ผ่านมาเป็นโชคช่วย เพราะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งเราเก่ง เพราะเป็นห่วงโซ่อุปทาน การผลิตรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตลาดยังเติบโต แต่จะชะล่าใจไม่ได้ เพราะการส่งออกไทยเติบโตต่ำสุดในอาเซียน

ด้าน นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหาภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรืออีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ไตรมาส 4 การส่งออกยังขยายตัวได้ดี แต่การเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอาจจะชะลอลง ตัวเลขไม่สูงเหมือนไตรมาส 3 เพราะไตรมาส 4 ปี 2559 การส่งออกได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันปรับขึ้นไปสูง ทำให้มูลค่าการส่งออกจะไม่หวือหวามากนัก ขณะที่ปีหน้า ประมาณการส่งออกเติบโต 3-5% ชะลอลงจากปีนี้ เพราะปีนี้เฉลี่ยราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์สูงกว่าปี 2559 ประมาณ 20% แต่ปีหน้าคาดว่าราคาน้ำมันจะใกล้เคียงกันกับปีนี้ ตัวช่วยจากเรื่องราคาหมดลงในปีหน้า และปัจจัยพิเศษ คือปีนี้โรงงานจีนที่มาลงทุนในไทยเริ่มส่งออกไปยังจีน ทำให้การส่งออกไปจีนเติบโตมาก

ปลายปีบาทแข็งโป๊กสวนทฤษฎี

นายพชรพจน์ระบุอีกว่า ค่าเงินบาทช่วงต้นไตรมาสที่ 4 เริ่มกลับมาแข็งอีก ซึ่งผู้ประกอบการที่ส่งออกได้ดอลลาร์สหรัฐมา แต่ยังไม่ได้นำไปลงทุนเพิ่มทำให้ยังมีเงินดอลลาร์สหรัฐค้างอยู่ในระบบ และเมื่อไม่ได้นำไปใช้ กังวลว่าค่าเงินบาทจะแข็งกว่านี้แล้วนำมาแลกในช่วงนี้ยิ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็ง รวมทั้งปัญหาที่พบ คือผู้ส่งออกโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่ตั้งราคาขายล่วงหน้าไว้โดยไม่ได้

เผื่ออัตราแลกเปลี่ยน เมื่อนำเงินดอลลาร์สหรัฐจากการค้าขายมาแลกเป็นเงินบาท อาจจะได้กำไรน้อยลง ดังนั้นผู้ส่งออกที่จะตั้งราคาสินค้าขายในช่วง 3 หรือ 6 เดือนข้างหน้านี้ก็คงจะต้องตั้งราคาเผื่ออัตราแลกเปลี่ยนพอสมควร

“ทิศทางค่าเงินบาทตอนนี้ถ้าพูดจริงๆ เหตุผลทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถอธิบายว่าทำไมบาทแข็งค่า เพราะก่อนหน้านี้ประเมินกันว่า เมื่อสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปลายปีนี้ 1 ครั้ง และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ประเมินว่าเงินทุนที่เคยไหลเข้ามาในประเทศตลาดเกิดใหม่น่าจะไหลออกไป แต่ขณะนี้ปัจจัยอื่นทั้งจากฝั่งสหรัฐ และเอเชียที่แนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น นักลงทุนเชื่อมั่นจึงยังมีเงินไหลเข้าอยู่ และระยะสั้นๆ 1-2 เดือนข้างหน้าไม่มีปัจจัยใหม่ให้ค่าเงินบาทกลับไปอ่อนค่ามาก ทั้งนี้ ต้องติดตามมาตรการภาษีของสหรัฐว่าจะสามารถผ่านสภาได้หรือไม่ ถ้าไม่ผ่านก็จะมีผลกระทบเชิงลึกต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนสหรัฐ อาจจะเป็นปัจจัยเดียวที่อ่อนค่าได้บ้าง” นายพชรพจน์กล่าว

แบงก์ชาติแนะอย่าชะล่าใจ

สำหรับค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐกว่า 7% โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาปิดตลาดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ระดับ 32.84 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าลงมาต่ำกว่าระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น ไม่อยากให้ความสำคัญกับตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด ในส่วนของผู้ประกอบการต้องไม่ชะล่าใจว่าจะมีใครดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้ เพราะไม่สามารถควบคุมได้เป็นไปตามกลไกตลาดและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในระยะต่อไปความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนยังมีอยู่ ดังนั้นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจซื้อขายกับต่างประเทศควรป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การทำฟอร์เวิร์ดหรือออปชั่น ทั้งนี้ ควรเลือกใช้สกุลเงินในการทำการค้าให้เหมาะสม เช่น การเลือกใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขาย เพราะมีความผันผวนน้อยกว่าดอลลาร์สหรัฐ

วิเคราะห์เกินดุลดันบาทแข็ง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดี แม้การส่งออกไตรมาสที่ 4 ชะลอลง ด้านแนวโน้มปีหน้าส่งออกยังโตต่อเนื่อง แต่การเติบโตไม่สูงเท่าปีนี้ เพราะปีนี้มีปัจจัยเฉพาะปีนี้ ซึ่ง ธปท.ประเมินการส่งออกปี 2561 ขยายตัวเพียง 3.2% ด้านค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นแต่ภาพรวมการส่งออกยังไปได้จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงนี้ขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม หลังจากตลาดทยอยรับรู้โอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในทางกลับกันปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมีเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐที่ยังอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปร่วมกันในสภาคองเกรส

ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่องของไทย เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างสำคัญที่หนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ไทยเกินดุลบัญชีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมสำหรับ 9 เดือนแรกของปีนี้ มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และมีเงินต่างชาติไหลเข้าในส่วนที่มาลงทุนในหลักทรัพย์รวมกันประมาณ 4.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติประมาณ 9.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ห่วงบาทแข็งฉุดกำไรธุรกิจลด

สำหรับทิศทางของเงินบาทในปีหน้า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีโอกาสเกินดุลต่อเนื่อง ธปท.คาดว่าจะเกินดุลที่ประมาณ 3.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยังคงเป็นปัจจัยหนุนทิศทางเงินบาทให้แข็งค่า เพราะแม้เงินดอลลาร์สหรัฐจะยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปีข้างหน้า ตามสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและทยอยลดงบดุล และอาจมีแรงหนุนเพิ่มเติมหากแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐสามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวได้ แต่คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจจะมีผลให้เงินบาทขยับอ่อนค่าได้

“โอกาสที่ค่าบาทจะแข็งมาจากการเกินดุลการค้ายังมีโอกาส เพราะแนวโน้มยังเกินดุลแม้จะลดลง ทำให้มีผลกดดันกำไร เพราะเมื่อแลกดอลลาร์สหรัฐมาเป็นบาทจะได้มูลค่าน้อยลง” นายเชาว์กล่าว

นายเชาว์กล่าวว่า ความผันผวนของสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ภาคธุรกิจจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะคงต้องยอมรับว่า กระแสรายรับของผู้ประกอบการภาคการส่งออกของไทยส่วนใหญ่กว่า 77% ของการส่งออกรวม จะเป็นรายรับในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงและความผันผวนเมื่อแปลงกลับมาเป็นรายได้ในรูปเงินบาทตามจังหวะเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ขณะที่รายรับที่อยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งปลอดภัยจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมีสัดส่วนเพียง 14% ของการส่งออกรวม นอกจากนี้การเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเลือกใช้

เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ สัญญาฟอร์เวิร์ด และออปชั่น เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมิน รับรู้และบริหารจัดการรายได้จากการส่งออกที่มีความแน่นอนมากขึ้นการส่งออกเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปลายปีนี้และส่งผลต่อเนื่องปี 2561 ส่วนจะเป็นไปตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความมั่นใจว่าปีหน้าฟ้าสดใสกว่าปีนี้ จะจริงหรือไม่ ต้องรอพิสูจน์กัน!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image