ทีมนักโบราณคดีพบ “สรีรธาตุ” กว่า 2,000 ชิ้นที่จีน

(ภาพ-Chinese Cultural Relics)

ทีมขุดค้นทางโบราณคดีนำโดย หง อู๋ นักวิชาการด้านโบราณคดีจากสถาบันโบราณคดีและโบราณวัตถุแห่งมณฑลกานซู สาธารณรัฐประชาชนจีน ค้นพบกล่องเซรามิกพร้อมจารึกภาษาจีนระบุว่า เป็นกล่องบรรจุพระสรีรธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวนมากกว่า 2,000 ชิ้น ในแหล่งขุดค้นที่ชุมชนจิงฉวน เขตปกครองจิ่งโจว ของจีน พร้อมพระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่างๆ อีกกว่า 260 องค์

ในบริเวณแหล่งขุดค้นดังกล่าว ทีมนักโบราณคดีจีนยังค้นพบซากสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นส่วนที่หลงเหลือของโบสถ์ พร้อมพระพุทธรูปจำนวนมากควบคู่กับกล่องเซรามิกบรรจุสรีรธาตุดังกล่าว เมื่อถอดความจารึกที่พบควบคู่กันได้

ความว่า “ภิกษุหยุนเจียงและจื่อหมิงแห่งสำนักดอกบัว อันเป็นคณะสงฆ์แห่งวิหารมัญชุศรี ของวัดหลงซิง ในเขตปกครองจิ่งโจว ได้เก็บรวบรวมพระสรีรธาตุมากกว่า 2,000 ชิ้น ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนที่เป็นฟันและกระดูก ของพระพุทธองค์ จากนั้นกลบฝังไว้ใต้โบสถ์มัญชุศรีของวิหารแห่งนี้” ระบุวันที่ประกอบพิธีกลบฝังไว้ด้วยว่าเป็นวันที่ 22 มิถุนายน ตรงกับปี ค.ศ.1013 หรือเมื่อ 1004 ปีก่อนหน้านี้

ในรายงานการขุดค้นซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการโบราณวัตถุจีน เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุเนื้อความเพิ่มเติมของจารึกเอาไว้ว่า ภิกษุหยุนเจียงและ

Advertisement

จื่อหมิง ใช้เวลานานกว่า 20 ปีในการเก็บรวบรวมพระสรีรธาตุดังกล่าว โดยความตอนหนึ่งของจารึกระบุว่า “เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ต้องการเก็บรวบรวมพระสรีรธาตุเอาไว้ด้วยกัน เพื่อบรรลุผลดังนี้ ภิกษุทั้งสองจำเป็นต้องถือวัตรปฏิบัติตามคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดระยะเวลาของการดำรงชีวิตโดยเคร่งครัดนานกว่า 20 ปี”

นอกจากนั้นยังบรรยายไว้ด้วยว่า “บางคราวภิกษุทั้งสองได้รับบริจาคสรีรธาตุเหล่านี้จากผู้อื่น บางครั้งก็ประสบพบด้วยตนเองโดยบังเอิญ อีก

ส่วนมาจากการจัดซื้อจากสถานที่อื่น นอกจากนั้นยังมีที่มีผู้นำสรีรธาตุมาถวายเพื่อแสดงความเคารพสูงสุด”

Advertisement

ในจารึกไม่ได้เอ่ยถึงพระพุทธรูปจำนวนกว่า 260 องค์ ซึ่งพบฝังอยู่ใกล้กับกล่องบรรจุพระสรีรธาตุ ทีมขุดค้นไม่แน่ใจว่าพระพุทธรูปดังกล่าวถูกกลบฝังไว้พร้อมกับพระสรีรธาตุหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้ระบุแน่ชัดลงไปว่า พระสรีรธาตุที่ค้นพบครั้งนี้

เป็นพระสรีรธาตุของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ก่อนหน้านี้ มีทีมขุดค้นทางโบราณคดีจำนวนมากในจีน ขุดพบซากกระดูกมนุษย์พร้อมคำจารึกกำกับว่าเป็นสรีรธาตุของพระพุทธเจ้า รวมทั้งชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ ซึ่งขุดพบบรรจุไว้ในหีบทองคำที่หนานจิงอีกด้วย

พระพุทธรูปที่พบในการขุดค้นครั้งนี้ ซึ่งบางองค์มีความสูงถึง 2 เมตร เชื่อว่าสร้างขึ้นระหว่างสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ (ปี ค.ศ.386-534) กับราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น ชุมชนจื่งโจว ถือเป็นชุมทางการคมนาคมขนส่งเนื่องจากตั้งอยู่ตรงจุดที่เป็นปลายทางด้านตะวันออกเส้นทางสายไหมนั่นเอง

พระพุทธรูปเหล่านี้มีทั้งที่แสดงถึงพระพุทธเจ้า บางส่วนเป็นพระโพธิสัตว์ นอกจากนั้นยังมีพระอรหันต์ต่างๆ และยังมีที่แสดงถึงเทพต่างๆ ในสรวงสวรรค์ มีพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นภาพแกะสลักนูนบนแผ่นศิลา มีคำจารึกประกอบ หนึ่งในจำนวนนั้น ระบุวันที่กำกับไว้ว่าเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม ตรงกับปี ค.ศ.571 ลงชื่อกำกับไว้ว่า “สาวกปี้ เซิ่งฉิง” มีข้อความบรรยายว่าแกะสลักพระพุทธรูปนี้ไว้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

แหล่งขุดค้นแห่งนี้พบครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2012 โดยชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงขณะกำลังขุดขยายเส้นทางเพื่อซ่อมแซมถนนหลักของหมู่บ้านกงฉี

อีกราว 1 ปีให้หลังจึงมีการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นทางการในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image